รู้จัก National Single Window ประตูสู่รัฐบาลดิจิทัล

SMEs ยุคดิจิทัล

ทำความรู้จักระบบ National Single Window ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลองค์กรรัฐ-เอกชน ติดต่อเรื่องการส่งออกได้ในช่องทางเดียว มีโอกาสขยายผลสู่การบริการประชาชนในด้านอื่น ๆ ในช่องทางเดียวด้วยระบบดิจิทัลได้

ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งใบอนุญาต การทำธุรกิจหรือใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดหลีกเลี่ยงไม่ได้ติดต่อราชการ ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีความซับซ้อน และมีหน่วยงานราชการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ใบอนุญาตก็แตกแขนงไปหลายรูปแบบหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องใช้เวลาในการติดตามและติดต่อ ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบกิจการสูงขึ้น

ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการด้านเอกสารมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า ที่มีพิธีการข้ามแดนที่ซับซ้อนอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดที่จะรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องและจำเป็นมาไว้ที่เดียว และติดต่อง่ายที่สุด เพื่อให้มีความสะดวกและลดต้นทุนเวลาในการทำธุรกิจ และช่วยให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลพิธีการข้ามแดนได้ดีขึ้น โดยการเปิดหลังบ้านเชื่อมโยงข้อมูลกันและกัน ในระบบที่มีชื่อว่า “หน้าต่างเดียว” National Single Window (NSW)

National Single Window คืออะไร

ตามข้อมูลของ กรมศุลกากร ระบุว่า National Single Window (NSW) คือระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (G2G, G2B และ B2B) สำหรับการเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ

กรมศุลกากรได้เริ่มนำแนวคิดของ Single Window มาประยุกต์ใช้สำหรับการนำเข้าการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2541 โดยพัฒนาบริการศุลกากรจากระบบเอกสารกระดาษเป็นระบบการแลกเปลี่ยนเอกสารในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Data Interchange : EDI และสามารถให้บริการระบบ EDI ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2543

ระบบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศไทยที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมศุลกากรและผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนออกของ ตัวแทนผู้รับขนส่งสินค้า บริษัทเรือ สายการบิน และธนาคารต่าง ๆ และต่อมาพัฒนาเป็นระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ไร้เอกสาร (e-Customs) ให้บริการทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบ NSW ของประเทศ

ADVERTISMENT

ระบบ NSW ของประเทศเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ ผู้ให้บริการระบบ Electronic Windows ที่มีอยู่แล้วในขณะนั้น รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบศุลกากร ไร้เอกสาร เพื่อให้บริการผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออกทั่วประเทศแบบไร้เอกสารได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการค้าที่ใช้ระบบศุลกากรไร้เอกสารอยู่แล้ว

รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับกรมศุลกากรอยู่ก่อนแล้ว ปัจจุบันระบบ NSW ให้บริการ เชื่อมโยงข้อมูลซึ่งประกอบด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (G2G), การเชื่อมโยงข้อมูล ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (G2B) และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคธุรกิจและภาคธุรกิจ (B2B) บางส่วน โดยมีความก้าวหน้าการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ กับระบบ NSW

ADVERTISMENT

กรมศุลกากรเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้ออกใบอนุญาต/ใบรับรอง และผู้ประกอบการ เช่น ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนออกของ ตัวแทนผู้รับขนส่งสินค้า บริษัทเรือ สายการบิน และธนาคารต่าง ๆ เชื่อมโยงข้อมูลใบขนสินค้า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554

ข้อมูลในปี 2564 ระบุว่าทันทีที่ใช้งานระบบนี้ ผู้ประกอบการ 1.1 แสนรายติดต่อหน่วยงานกว่า 37 หน่วยงานในคราวเดียว ลดเอกสารและข้อมูลซ้ำ 70% ต่อหนึ่งครั้ง ลดเวลากการเตรียมส่งออก 1 วัน คิดเป็นการลดต้นทุน 116เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 ตู้สินค้า

ประตูสู่ รัฐบาลดิจิทัล

จะเห็นว่าแนวคิดการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐด้วยระบบดิจิทัล ทั้งในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ลายเซ็นหรือการประทับตราแบบอิเล็กทรอนิกส์ และที่ก้าวหน้ามากคือการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการด้วยสมการคณิตศาสตร์แบบ Public Key-Private Key ไม่ได้มีศักยภาพให้บริการผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการนำเข้าส่งออกเท่านั้น ยังทำให้เห็นว่าหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต สั่งการ ตามกฎหมายของตนสามารถ “Exercise” อำนาจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ดังเดิม

หากมีการขยายการเชื่อมโยงข้อมูลทั้ง สาธารณสุข ทะเบียนราษฎร์ การเงิน และอื่น ๆ ย่อมสามารถทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐด้วย “หน้าต่างเดียว” ได้

เทคโนโลยีที่ระบบ NSW ใช้ก็พัฒนาขึ้นมาเกือบ 20 ปีแล้ว และอยู่ในระดับที่รอการ Scale Up เพื่อทดสอบใช้ในวงกว้าง และการแก้ไขข้อกฎหมาย และให้ผู้มีอำนาจเร่งหน่วยงานรัฐบาลจำแนกข้อมูลให้คอมพิวเตอร์อ่านเข้าใจ และเชื่อมกับระบบกลางไว้ เพราะปัญหาที่สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) พบเจอหลังจากพัฒนาแพลตฟอร์มบริการภาครัฐอย่าง “ทางรัฐ” หรือ “ThaID” ส่วนใหญ่แล้วคือการประสานและขอให้หน่วยงานราชการยอมเชื่อมข้อมูล

ภาครัฐได้พยายามผลักดันให้ NSW เป็นแกนในการสร้างรัฐบาลดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง เช่นในสมัยของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้พยายามผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ดิจิทัล โดยปรับรูปแบบการให้บริการในลักษณะของ National Single Window เป็นระบบกลางเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การแชร์ข้อมูลหลังบ้านระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลด้วยกัน ลดการขอเอกสารซ้ำซ้อน และยุ่งยาก

และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแบบฟอร์มในการยื่นทำธุรกรรมภาครัฐแล้วนับร้อยแบบฟอร์ม และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับกรมศุลกากร ให้สิทธิบริการระบบกลางเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (NSW) รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภาครัฐ เอกชนและระหว่างประเทศ

และมีการพัฒนาต่อเนื่องจน DGA สามารถนำไปพัฒนาจากแพลตฟอร์ม Web Base ไปเป็นรูปแบบแอปพลิเคชั่น และภาครัฐหลายหน่วยงานต่างก็มีแอปพลิเคชั่นของตน ดังนั้นปัญหายังอยู่ที่การเชื่อมโยงข้อมูล และให้อำนาจในการกำกับประทับตราทางกฎหมาย ซึ่งเทคโนโลยีพร้อมแล้วและใช้มา 10-20 ปีแล้ว และรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์-เอไอ ที่ต้องอัปเกรดใหม่ เพื่อให้รองรับการขยายบริการจากผู้ใช้แสนกว่ารายใน National Single Window ไปสู่ 70-100 ล้านรายในระบบของ “รัฐบาลดิจิทัล”