5 ที่สุด ไอที-สื่อสาร ปี’66 ยักษ์แพลตฟอร์มยึดเบ็ดเสร็จ

ไอที-สื่อสาร
ภาพจาก : freepik

แวดวงไอที และโทรคมนาคมไทยปี 2566 ที่เพิ่งจบไป เผชิญความท้าทายหลายด้านที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งในบริบทของการแข่งขันทางธุรกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกับเศรษฐกิจในประเทศไทย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การเข้ามาของยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติในหลายธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งหมดล้วนผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศในทุกระดับต้องปรับตัว รวมไปถึงการเผชิญหน้ากับสารพัดภัยคุกคามออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง แม้หน่วยงานภาครัฐจะไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามสนธิกำลังกันในหลายภาคส่วนเพื่อจัดการแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม 5 เรื่องที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ดังนี้

“ทรู-ดีแทค” ถึง “AIS-3BB”

หลังจากปลายปี 2565 บอร์ด กสทช.มีมติรับทราบการควบรวม “ทรู-ดีแทค” ส่งผลให้ในปี 2566 นี้ทั้งปี ทั้งสองบริษัทควบรวมกลายเป็นหนึ่ง และดำเนินธุรกิจภายใต้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (แม้แบรนด์ทรู และดีแทค จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 3 ปี ตามข้อกำหนดของ กสทช.) แต่ก็ทำให้ผู้เล่นหลักในตลาดโทรศัพท์มือถือจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย คือ “ทรู-ดีแทค” และ “เอไอเอส” และส่งท้ายปี (พ.ย. 2566) ด้วยบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ตามรอยบริการมือถือ เมื่อ “กสทช.” มีมติอนุญาตการควบรวมระหว่าง AWN ในเครือ AIS และ 3BB แม้ตลาดบรอดแบนด์จะมีผู้ให้บริการหลายรายกว่าก็ตาม

ถ้าจะชัดเจนกว่าอยู่บ้างก็น่าเป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่เจาะจงกว่า เช่น กสทช.ระบุว่า ห้ามขึ้นราคา และลดคุณภาพการให้บริการ โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย ที่มีราคาต่ำสุดที่มีก่อนรวมธุรกิจ และคงคุณภาพบริการ และราคาสำหรับรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ ต่างจากฝั่งมือถือที่กำหนดว่า ให้มีการ “ปรับลดราคา” โดยเฉลี่ยน้ำหนักลง 12% ซึ่งหลายฝ่ายโดยเฉพาะคณะอนุกรรมการเพื่อติดตาม และประเมินผลการรวมธุรกิจ ตั้งโดย กสทช.เองก็ยังมองว่า ยากต่อการตรวจสอบ

รอยร้าวที่ “กสทช.”

เข้าสู่ปีที่สองของการทำงานของ 7 กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชุดปัจจุบันแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผลงานแต่ละด้านภายใต้ความรับผิดชอบของ “กสทช.” แต่ละท่านที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ จะโดนกลืนหายไปกับกระแสความขัดแย้ง และความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน ทำให้การประชุมบอร์ด กสทช. “ล่ม” ครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผลให้มีวาระต้องพิจารณาคั่งค้างนับร้อยเรื่อง จนเข้าสู่วีกสุดท้ายของปี ต้องนัดประชุมบอร์ด 2 วันติด (วันที่ 25-26 ธ.ค. 2566)

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์คณะกรรมการ กสทช. และองค์กรเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเฉพาะการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. ทั้งกรณี “ทรู-ดีแทค” และ “เอไอเอส-3บีบี” เนื่องจากเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยตัวแทนผู้บริโภค ทั้งในนามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ต่างออกมาเคลื่อนไหว และวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กสทช.อย่างต่อเนื่อง

กรณี “ทรู-ดีแทค” แม้สำนักงาน กสทช.จะออกมาชี้แจงว่า มีการตรวจสอบ และติดตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช.กำหนดหลังควบรวม “ทรู-ดีแทค” โดยออกมาการันตีว่า บริษัททำตามเงื่อนไขเกือบทั้งหมดภายในเวลาที่กำหนด เช่น การลดค่าบริการลงร้อยละ 12 แต่โดนโต้แย้งทันควัน

โดยคณะอนุกรรมการเพื่อติดตาม และประเมินผลการรวมธุรกิจ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม กสทช.ว่าการแถลงของสำนักงาน กสทช. อาจไม่ตรงกับมติของคณะอนุกรรมการ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละโปรโมชั่นถูกต้องหรือไม่ และมีโปรโมชั่นที่ไม่เปิดเผยเป็นการทั่วไปตามประกาศ กสทช. ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จริง เป็นต้น

สำทับด้วยความเห็นของ “สุภิญญา กลางณรงค์” ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่ กสทช.ชุดปัจจุบันทำ คือพาคนไทยย้อนถอยหลังไปสู่ยุคผูกขาด เพราะอนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมเข้าด้วยกันแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง หากไม่สามารถแก้ไขในสิ่งที่ได้อนุญาตให้ควบรวมไปแล้ว

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในภาพรวมให้ดีขึ้น เช่น ส่งเสริมรายย่อย หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ให้เป็นคู่แข่งรายที่ 3 ในตลาดมือถือ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค

สุภิญญา กลางณรงค์
สุภิญญา กลางณรงค์

กรณี “เอไอเอส-3บีบี” สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อมติคณะกรรมการ กสทช. ที่อนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส และบริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด หรือ 3BB ควบรวมกิจการได้ ด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 โดยระบุว่า เป็นมติที่ไม่รักษาผลประโยชน์ผู้บริโภค

กล่าวคือ แทนที่ กสทช.จะป้องกันปัญหาการผูกขาด กลับสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น แม้ กสทช.ใช้อำนาจในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมตามที่ กม.กำหนด แต่มติดังกล่าวเพิ่มภาระผู้บริโภค เมื่อตลาดโทรคมนาคมในประเทศกำลังเดินเข้าสู่ภาวะการผูกขาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เกิดจากการที่คณะกรรมการ กสทช.ชุดนี้ เปิดทางให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระดับยักษ์ใหญ่ถึง 2 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี 1 เดือน

แพลตฟอร์มต่างชาติยึดไทย

อย่างที่รู้กันว่า คนไทย ประเทศไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก ในเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ต และสื่อโซเชียล โดยกรุงเทพฯเคย และน่าจะยังเป็นเมืองหลวงของ “เฟซบุ๊ก” (Facebook) จึงไม่น่าแปลกที่กิจกรรมหลายอย่างได้ย้ายขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เช่นกัน

แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้ง, ฟู้ดดีลิเวอรี่, ดูหนัง-ฟังเพลง เป็นต้น และอาจกล่าวได้ว่าผู้เล่นหลักในสมรภูมิแพลตฟอร์มดิจิทัลล้วนอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติทั้งสิ้น

ดังเช่นที่ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้ก่อตั้ง TARAD.com และผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นว่า การค้าขายออนไลน์ในประเทศไทยแบ่งเป็นหลายช่องทาง แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือการซื้อขายผ่าน e-Marketplace รองลงมาคือโซเชียลคอมเมิร์ซ ขณะที่ On-Demand Commerce เป็นช่องทางใหม่ที่คนไทยนิยมซื้อสินค้า แต่ทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการต่างประเทศทั้งสิ้น

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ผู้ให้บริการ e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ไม่ได้มาแค่ตลาดนัดซื้อขาย แต่มาครบทั้งระบบนิเวศ

ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่าน Marketplace แต่ยังมีการจ่ายผ่านบริการชำระเงินของตัวเอง เช่น Shopee Pay, LazPay, ส่งผ่านบริษัทขนส่งของตนเอง (Shopee Express, Lazada Express) ทำให้ควบคุมตลาดได้เบ็ดเสร็จ เริ่มเข้าสู่การขึ้นราคาค่าบริการต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่ามีการขึ้นราคาค่าบริการการขายของใน e-Marketplace ถึง 150% ภายใน 7 เดือน แม้จะมีคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง TikTok ทำให้การแข่งขันของการค้าออนไลน์รุนแรงมากขึ้น

“ภาวุธ” แนะรัฐบาลควรมีมาตรการในการควบคุม และทำงานร่วมกับบริษัทจากต่างประเทศ ให้เกิดความสมดุลและเหมาะสม เพราะการค้าออนไลน์จะยิ่งเติบโตขึ้น หากไร้การควบคุม ต่อไปพ่อค้าแม่ค้าและคนทำธุรกิจค้าขายในประเทศจะอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทต่างชาติแบบหมดจด

โลจิสติกส์เดือด “ปณท” เสือลำบาก

จากอีคอมเมิร์ซขยับมาสู่ “โลจิสติกส์” กระทบโดยตรงกับ “ไปรษณีย์ไทย” หรือ ปณท ไม่ใช่แค่กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ขยับมาทำบริการขนส่งเอง แต่ยังมีผู้เล่นข้ามชาติที่ยกทัพบุกไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะพยายามปรับกระบวนรบในทุกมิติแล้วก็ไม่ง่าย และในฐานะรัฐวิสาหกิจ ปณท ยังมีภารกิจที่ต้องบริการประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ จึงไม่สามารถเลือกเส้นทางการจัดส่งได้ หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลแค่ไหนก็ต้องไป ต่างจากบริการโลจิสติกส์ของบริษัทเอกชนที่จะเน้นให้บริการในเขตเมืองเป็นหลัก

แหล่งข่าวจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย กล่าวว่า การแข่งขันกับคู่แข่งรายใหม่จะยากขึ้น เพราะรายใหม่ไม่ต้องวิ่งในเส้นทางที่ความต้องการไม่มาก จึงไม่ต้องส่งข้ามเกาะ หรือไปเส้นทางยาก ๆไม่ต้องรับผิดชอบบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ต่างจาก ปณท จึงมองว่าควรมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลในบริการโลจิสติกส์ ดังเช่นในธุรกิจพลังงาน มีคณะกรรมการพลังงาน หรือในโทรคมนาคม มี กสทช. เพื่อดูแลการแข่งขัน และสร้างกลไกสนับสนุนการบริการทั่วถึงเท่าเทียม

ขณะที่การกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างชาติ โดยหน่วยงานภาครัฐปัจจุบันทำได้เพียงการให้มาขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย DPS หรือ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA

ปีแห่งภัยคุกคามออนไลน์

สิ่งที่ตามมาเมื่อออนไลน์กลายเป็นโลกคู่ขนานของคนไทย คือภัยคุกคามที่แฝงมากับการใช้งาน ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกลวงออนไลน์หนักข้อขึ้นมาก และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม้หน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนจะพยายามกันอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่าจะจับไม่ได้ไล่ไม่ค่อยจะทัน ทั้งการหลอกลงทุนบนเฟซซุ๊ก, แก๊งคอลเซ็นเตอร์, หลอกขายสินค้าไม่ตรงปก และอีกสารพัด

ตัวแทน Meta ประเทศไทย และกระทรวงดีอี พบปะหารือกันหลายครั้ง แต่สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงการให้ผู้ใช้ “ช่วยรายงาน” เพจปลอมซ้ำ ๆ จนกว่าระบบจะช่วยคัดกรองออกไป ขณะที่ฝั่งรัฐบาล นำโดยกระทรวงดีอีเอส พยายามบังคับใช้กฎหมายใหม่ ๆ อย่าง พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ 2565 และตั้งศูนย์ประสานงานโดยตรงอย่างศูนย์ AOC 1441

แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเพียงปลายทางการให้ความช่วยเหลือกรณีขายของไม่ตรงปกอาจติดตามตัวได้ แต่มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินยากที่จะตามตัวได้ จึงมุ่งจัดการปัญหาเชิงรุก โดยการตัดตอน “ซิมม้า” เป็นต้นทางอาชญากรรม เป็นต้น

ยังไม่นับภัยคุกคามไซเบอร์อื่น ๆ โดย “ฟอร์ติเน็ต” ที่ปรึกษา และผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระบุว่า ฟิชชิ่ง และการขโมยข้อมูลส่วนตัวคือภัยคุกคามไซเบอร์ที่ส่งผลกับองค์กรมากที่สุด ทั้งการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ที่ล็อกการเข้าถึงไฟล์ต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์ จนกว่าผู้ใช้จะจ่ายเงินให้ผู้โจมตี สำหรับในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในปี 2566 เทียบกับปีที่ผ่านมา