เจาะอินไซต์ตู้ “เต่าบิน” ความสำเร็จที่มาจาก “นวัตกรรม”

เต่าบิน พงษ์ชัย อมตานนท์
พงษ์ชัย อมตานนท์

ในเวทีสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ “พงษ์ชัย อมตานนท์” ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เจ้าของตู้ “เต่าบิน” เป็นหนึ่งในวิทยากรที่มาขึ้นเวทีบอกเล่าเรื่องราว

เบื้องหลัง ที่มาที่ไป ในการคิดค้นพัฒนา “เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติที่สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาไปทั่วเมือง จนถึงกับมีคนแซวบ่อยครั้งว่า “มีคนชงซ่อนอยู่ในตู้รึเปล่า” รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” บริษัทเทคโนโลยีอายุกว่า 30 ปี ที่มีทีมวิจัย และพัฒนา (R&D) รวมถึงโรงงานเป็นของตนเอง โดยมี คุณถิระนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ (MONIX) จำกัด ในเครือเอสซีบี ชวนพูดคุย

กว่าจะเป็น “เต่าบิน”

“พงษ์ชัย” เล่าว่า คร่ำหวอดอยู่ในวงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มานานกว่า 30 ปี มีทีม R&D และโรงงานของตนเอง ทั้งเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ที่มีตั้งแต่ตู้ชุมสายโทรศัพท์ (PABX), ระบบควบคุมไฟจราจร, ไฟ LED, อุปกรณ์ติดตามตัว และอื่น ๆ ขยายกำลังการผลิต เพิ่มทีมงาน และเปิดโรงงานย่อย ๆ เพิ่มเติมอีกหลายแห่ง

ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิสก์ให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีแบรนด์ดัง ๆ ของโลกมากมาย อาทิ โซนี่, ไพโอเนียร์, ฮิตาชิ, ไดกิ้น รวมไปถึงผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้บริษัทรถยนต์ชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ล่าสุดขยายไปในธุรกิจการบิน สร้างศูนย์บำรุงรักษาเครื่องบินด้วย

“สมัยก่อนเราเคยผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เดือนละ 3 ล้านชิ้น ส่งไปที่นิคมอุตสาหกรรม นำไปประกอบเป็นฮาร์ดดิสก์เพื่อส่งออก ต้องบอกว่าเมืองไทยในอดีตเป็นประเทศที่ส่งออกฮาร์ดดิสก์เบอร์หนึ่งของโลก”

เบื้องหลัง ตู้ “เต่าบิน” จึงมาจากการคิดค้น วิจัยพัฒนา และผลิตขึ้นเองโดยคนไทย บริษัทไทย

“เราเปิดบริษัทมา 30 ปีแล้ว มีโรงงานของตัวเอง ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ ถูกหวยแล้วมาทำ ก่อนนี้อาจมีคนพูดเยอะว่าไม่เชื่อว่าทำเอง ต้องไปซื้อเขามาแน่ ๆ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย โรงงานของเราผลิตได้เองทุกอย่าง เรื่องวงจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นอาชีพดั้งเดิมของเราอยู่แล้ว”

ไทยทำ 100% “วิกฤต=โอกาส”

ในตู้ “เต่าบิน” แม้ใช้พื้นที่ไม่เกิน 1 ตารางเมตร แต่ข้างในมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรหลายพันชิ้น

“ทุกอย่างเราออกแบบเอง ถือว่าซับซ้อนมาก โดยภายในตู้เต่าบินมีสิทธิบัตรอยู่ประมาณ 35 ใบ เป็นของผมเองประมาณ 10 สิทธิบัตร และทุกอย่างต้องเอามารวมกัน ไม่ใช่คุณทำแผงวงจรเสร็จก็จบ ต้องมีการเขียนโปรแกรม ควบคุมแผงวงจร

ต้องออกแบบเซิร์ฟเวอร์กลางในการคุมตู้ทั้งหมด ต้องเอาทุกอย่างมารวมกันแล้ว กว่าจะออกมาเป็นตู้เต่าบินได้จึงไม่ง่าย และใช้เงินไม่ใช่น้อย ๆ เราใช้ไปประมาณ 80ล้าน นี่แบบประหยัด ๆ ด้วยนะครับ”

ไม่ใช่เท่านั้น “พงษ์ชัย” เล่าต่อด้วยว่า เคยคุยกับบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นมืออาชีพในเรื่องการทำตู้เวนดิ้ง เขาบอกเองว่า ถ้าให้เขาทำ เร็วที่สุดต้องใช้เวลา 3 ปีขึ้น แต่ถ้าตู้แบบที่เต่าบินทำได้ ถ้าเป็นญี่ปุ่นผลิตจะใช้เวลาสัก 5 ปี

แต่ “เต่าบิน” ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19

“จริง ๆ ผมอยากพูดตรงนี้เลยว่า ในวิกฤต ถ้ารู้จักบริหารจัดการ คือโอกาส ช่วงโควิดมีการ work form home แต่บริษัทผมไม่เคยปิด R&D ตลอด ยิ่งใกล้ ๆ วันที่ตู้จะวาง เสาร์อาทิตย์ก็ไม่มีหยุด กลางคืนก็ยังทำงาน ผมอยู่คุมเอง ภรรยาของลูกน้องถึงกับมานั่งรอรับสามีกลับบ้าน ภรรยาเขาน่าจะไม่ชอบผมเท่าไร เพราะไม่ได้หยุดเลย แต่พอโบนัสออกก็หายละ”

ทรานส์ฟอร์มธุรกิจฝ่าดิสรัปต์

“พงษ์ชัย” บอกว่า การอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดนดิสรัปต์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมาโดยตลอด จากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำตู้ PABX เพราะสมัยก่อนโทรศัพท์ขาดแคลนจึงมาทำตู้โทรศัพท์ พอในระยะหลังเริ่มมีบริการโทรศัพท์มือถือก็คิดต่อว่าจะหารายได้ต่ออย่างไร จึงขยับไปยังการขายแอร์ไทม์ โดยการพัฒนาตู้เติมเงินมือถือ “บุญเติม” เพราะคนจะใช้มือถือก็ต้องมาจ่ายที่บุญเติม

ช่วงที่บริการโทรศัพท์มือถือมีการใช้งานมาก ๆ ยอดเติมเงินผ่านตู้บุญเติมสูงถึงปีละ 4 หมื่นกว่าล้านบาท

“ผมเก็บเหรียญวัน ๆ หนึ่ง ประมาณ 40 ตัน ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีมาก ถึงตอนนี้ก็ลดลงมาไม่เยอะ ปีหนึ่งทั้งเติมเงินและโอนเงินผ่านตู้บุญเติม รวมแล้ว 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่กระนั้นก็จะโดนดิสรัปต์อีกแล้ว

แต่คำว่า ดิสรัปต์ตู้บุญเติม พูดมา 5 ปีแล้ว ยังอยู่ได้ เพราะยังมีคนที่ยังไม่มีบัญชีธนาคารอีกเยอะมาก จึงยังต้องใช้เงินสด”

การอยู่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทำให้ต้องดิสรัปต์ตนเองตลอดเวลา

“เราทำเทคโนโลยี ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แข่งกับบริษัทอย่างหัวเว่ย ก็คิดว่าถ้าอยู่อย่างนี้ตายแน่ ถ้าต้องแข่งกับจีน ก็มาคิดว่าจะทรานส์ฟอร์มตัวเองไปธุรกิจไหน ที่เลือกธุรกิจค้าปลีกอาหาร และเครื่องดื่ม เพราะเรามองไปถึงเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน จะ 5G หรือ 10G ก็ตาม คนก็ยังต้องกินและดื่ม”

เขาบอกว่า ตู้เต่าบินเกิดจากความตั้งใจที่จะเข้าสู่ธุรกิจการผลิตเครื่องดื่มเป็นของตนเอง ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ชื่อ เต่าทรงพลัง (ลูกสาวเป็นคนตั้งชื่อ) และมีน้ำกัญชาผลิตโดยโรงงานที่เป็นซับเอเย่นต์

เป็นการทรานส์ฟอร์มโดยใช้จุดแข็งจากการมีเทคโนโลยีของตนเอง

“เราใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง ทุกส่วนผสม ชั่งน้ำหนักหมด ความละเอียดของตราชั่ง 0.5 กรัม น้ำแข็ง โซดา นมลงมา ส่วนผสมถ้าแต่ละแก้วออกมาไม่ได้ตามนั้นทิ้งเลย ให้ลูกค้าหยิบออกแล้วให้ฟรี 1 แก้ว คืนเงินให้ เลยทำให้ตู้เป็นที่นิยม เพราะรสชาติสม่ำเสมอ ทั้งยังมีหลากหลายถึงกว่า 170 เมนู”

ซึ่งจะไม่หยุดอยู่แค่เครื่องดื่ม แต่ในอนาคตจะมีอาหารด้วย

จุดแข็ง และ Next Chapter

“กว่าจะมาเป็น เต่าบิน ผมทดลองทำหลายอย่าง และขาดทุน และเจ๊งไปก็เป็นร้อยล้านเหมือนกันกว่าจะคลำทางเจอ”

นอกจาก “เทคโนโลยี” แล้ว “พงษ์ชัย” บอกว่า ทีเด็ดที่แท้ของ “เต่าบิน” คือ “ราคา” และ “คุณภาพ”

“จุดแข็งของเต่าบินชัดเจนมาก คือ ราคาไม่แพง แต่มีคุณภาพ ซึ่งรวมถึงความอร่อย ทำให้จุดที่ผมอยู่ไม่มีใครอยู่ ยังนั่งตากลมสบาย ๆ ผมใช้พื้นที่ 1 ตร.ม. คนไปดูแลตู้ 1 ครั้ง ใช้เงิน 200 กว่าบาท เดิมขายได้ 100 กว่าแก้ว เป็นเงิน 5-6 พันบาท ไปเติมที เสียค่าโอเปอเรชั่นคอสต์ 200 กว่าบาท

ไม่ต้องจ้างคน ไม่ต้องเช่าที่ร้าน บางตู้ขายได้วันละ 300 แก้ว ไปเติม 2 ครั้ง เป็นเงินห้าร้อยบาท ค่าเช่าไม่เกิน 2 พันบาท ค่าไฟอีกพันกว่าบาท รวมแล้วไม่เกิน 8 พันบาท ถ้าขายดีไปเติมบ่อย ๆ รวมแล้วฟิกซ์คอสต์ไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อตู้ ในการขายประมาณ 6 หมื่นบาท”

เมื่อควบคุมต้นทุนได้ต่ำก็สามารถตั้งราคาขายที่ไม่แพงได้ และเลือกวัตถุดิบ เช่น เมล็ดกาแฟคุณภาพ เทียบเท่าแบรนด์ใหญ่ได้

ปัจจุบันตู้เต่าบินติดตั้งไปแล้วกว่า 1,000 ตู้ทั่วประเทศ โดยกำลังการผลิตภายในสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5,000-6,000 ตู้ ซึ่งความตั้งใจของเขาอยากติดตั้งให้ได้ถึง 20,000 ตู้ คาดว่าจะทำได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า

“เรามีคิวรออีกเยอะมาก แบ็กล็อกน่าจะ 2 พันตู้ จริง ๆ มากกว่านี้ แต่เราไม่รับเพิ่มเพราะกลัวผลิตไม่ทัน”

ชัดเจนว่าความสำเร็จของ “เต่าบิน” คือการลงมือทำโดยไม่หยุด มี “อาร์แอนด์ดี” ของตนเอง โดย “ซีอีโอ” ลงมือทำเองทุกขั้นตอน ทำให้ปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว

รัฐปรับไมนด์เซตขับเคลื่อน ศก.

ต้นตำรับ “เต่าบิน” ย้ำว่า บริษัทจะอยู่รอดและเติบโตได้ R&D สำคัญมาก ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน หากต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปต่อ และแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้

“ภาครัฐต้องเป็นคนขับเคลื่อนกลไก เหมือนสิงคโปร์ที่บอกว่าจะส่งเสริมเรื่องอาร์แอนด์ดี เขามีวันสต็อปเซอร์วิสอนุมัติทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังออกเงินเดือนพนักงานที่เป็นอาร์แอนด์ดีให้ครึ่งหนึ่งด้วย ถามว่าเมืองไทยจะเป็นแบบนี้ได้ไหม


ภาครัฐต้องคิดว่าตัวเองเป็นบริษัท ปรับปรุงการทำงานให้เร็วขึ้น และปรับไมนด์เซตใหม่ว่าต้องส่งเสริมเอกชนให้ไปแข่งขัน เช่น ถ้าจะส่งเสริมการลงทุนก็ต้องตั้งเป้าหมาย และมีเกณฑ์วัดที่ถูกต้อง มีนักปฏิบัติมาขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ และนักขับเคลื่อน เพราะภาคเอกชนเราเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว”