ค้าปลีก เชียงใหม่เดือด กลุ่มทุนแห่เปิด “คอมมิวนิตี้มอลล์”

กรีนปาร์ก

หากประเมินสถานการณ์ค้าปลีกของเชียงใหม่ในห้วงเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงในปี 2565 หลังจากมีการปิดตัวของ “ศูนย์การค้าเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว” และ “พรอมเมนาดา” ที่สั่นสะเทือนวงการในรอบ 3 ทศวรรษ ส่งผลให้รอยต่อปี 2566 กลายเป็นการ reset ตลาดค้าปลีกเชียงใหม่ครั้งใหญ่

สมรภูมิเชียงใหม่กลายเป็นพื้นที่กรณีศึกษาของตลาด ในด้านการปรับฐานลูกค้าใหม่ มีการแบ่ง segment ที่ชัดขึ้น กล่าวคือเหลือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งหลัก คือ CPN ส่วนธุรกิจค้าส่งจะเป็นภาพของการครองตลาดเบ็ดเสร็จเช่นกัน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.กรุ๊ป) ที่วางแม็คโคร โลตัส โลตัสเอ็กซ์เพรส เซเว่นอีเลฟเว่น ยึดตลาดนี้แบบไร้คู่แข่ง

ภูมิทัศน์ค้าปลีกเชียงใหม่ในปี 2566 ชัดเจนว่า ศูนย์การค้าขนาดเล็กอย่างคอมมิวนิตี้มอลล์ที่มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่ใกล้แหล่งชุมชน มีกำลังซื้อระดับกลาง-บน มีสิ่งอำนวยความสะดวกและตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ทั้งคอมมิวนิตี้มอลล์ในปั๊มน้ำมัน และปักหมุดในทำเลที่ใกล้หมู่บ้านจัดสรร

กรีนปาร์กรุก อีก 2 พัน ตร.ม.

กลุ่มกรีนบัส (Green Bus) ผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ ได้ก้าวรุกเข้าสู่ธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์อย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นการปรับทิศทางธุรกิจใหม่ครั้งใหญ่ หลังจากได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักมากจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563

โดยรายได้ในปี 2563 อยู่ที่ 80 ล้านบาท ขาดทุน 50 ล้านบาท และปี 2564 รายได้อยู่ที่ราว 80 ล้านบาท ขาดทุน 50 ล้านบาท คิดเป็นรายได้เพียง 20% ของปี 2562 ที่มีรายได้ราว 400 ล้านบาท กล่าวคือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทขาดทุนรวม 100 ล้านบาท

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ (กรีนบัส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทต้องเร่งหารายได้ให้มากขึ้น และปรับตัวลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกด้าน รวมถึงเดินหน้าแผนการลงทุนที่มีความเป็นไปได้และมีความเสี่ยงน้อย ส่วนแผนการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากต้องชะลอการลงทุนออกไปก่อน

โดยในปี 2565 บริษัทได้แตกไลน์ทำธุรกิจใหม่ คือ โครงการ “Green Park” เป็นคอมมิวนิตี้มอลล์บนที่ดิน 5 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของบริษัทเอง บนถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด-เชียงราย ฝั่งตรงข้ามกับที่ตั้งสำนักงานและอู่รถของกรีนบัส วางรูปแบบให้เป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ที่มีความทันสมัย เข้าถึงง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการครบในที่เดียว

โดยเปิดบริการในเฟสที่ 1 ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีร้านค้าเต็มพื้นที่ทั้งอินเตอร์แบรนด์และโลคอลแบรนด์ ซึ่ง traffic การเข้ามาใช้บริการค่อนข้างดีมาก

“เรามองเห็นโอกาสทางการตลาดว่าธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์มีความเป็นไปได้สูง และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่คาดว่าจะมีการเติบโตไปในทิศทางที่ดี ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของ Green Park มีทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ และยังกลายเป็นจุดแวะพักของนักท่องเที่ยวคนไทยที่จะเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงรายและพะเยา ที่มาแวะรับประทานอาหารและซื้อของ โดยในปี 2566 โครงการ Green Park จะมีร้านค้าเพิ่มมากขึ้นจากการลงทุนในเฟสที่ 2 ซึ่งจะให้บริการอย่างเต็มระบบ สามารถตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์”

กรีนปาร์ก

นายกานต์ เวโรจน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คำพรพัฒนา จำกัด บริษัทในเครือของกลุ่มกรีนบัส (Green Bus) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ Green Park มีมูลค่าการลงทุนราว 100 ล้านบาท เปิดบริการเฟสที่ 1 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 บนพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร

โดยมีร้านค้าเต็มพื้นที่ แบ่งเป็นร้านอินเตอร์แบรนด์ อาทิ KFC เซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon) Mr.DIY เป็นต้น และโลคอลแบรนด์ ซึ่งเน้นร้านอาหารดังในเชียงใหม่ อาทิ ร้านบัวลอยช้างเผือก ร้านดังเจริญ เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้โครงการ Green Park จะอยู่ใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้า แต่จุดขายแตกต่างกัน และเน้นกลุ่มลูกค้าคนละ target โดยลูกค้ากลุ่มหลักของ Green Park เป็นคนท้องถิ่นในเชียงใหม่ที่อาศัยอยู่ย่านถนนวงแหวนรอบ 1-2

ซึ่งถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด มีชุมชนบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมค่อนข้างหนาแน่น ทำให้ traffic ของลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาใช้บริการภายในโครงการมีสัดส่วนมากถึง 80% มีพื้นที่จอดรถรองรับได้ 80 คัน และขณะนี้กำลังขยายพื้นที่จอดรถเพิ่มอีก 50 คัน เพื่อรองรับเฟสที่ 2 ซึ่งจะมีความจุของพื้นที่จอดรถได้ถึง 130 คัน

โดยในส่วนของเฟส 2 การก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 95% พื้นที่ขาย 2,000 ตารางเมตร จุดเน้นของเฟสนี้จะเพิ่มร้านค้าสำหรับรองรับกลุ่มครอบครัวมากขึ้น จำนวน 15 ร้านค้า โดยดึงร้านค้าโลคอลแบรนด์ชื่อดังในเชียงใหม่เข้ามาใกล้ผู้บริโภค อาทิ ร้านสุกี้ช้างเผือก ร้านชาบูกู (SHABUGU) ร้านมาดังอาหารเกาหลี ร้านโอมากาเสะ เชียงใหม่ เป็นต้น

รวมถึงร้าน service ทั่วไป อาทิ ร้านแว่นตา ร้านต่อขนตา ร้านเสริมสวย คลินิกเสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งในเดือนมกราคม 2566 จะมีร้านค้าเริ่มทยอยเปิดให้บริการ และคาดว่าจะเปิดบริการเต็มระบบในไตรมาส 1 ปี 2566

นายกานต์กล่าวต่อว่า ธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์ยังมีทิศทางที่ดีมาก โดยในปี 2566 จะมีอีกหลายโครงการของหลายกลุ่มทุนที่จะเปิดตัวในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวได้ว่าตลาดมีศักยภาพสูงมาก และเป็นเทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทั้งนี้ ด้วยผลกระทบจากโควิด ทำให้คนไม่อยากเดินห้าง คอมมิวนิตี้มอลล์จึงตอบโจทย์การใช้บริการที่สะดวก เข้าถึงง่าย ไม่แออัด ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันที่ต้องการสินค้าในกลุ่มบริการ

โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และร้าน service ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด-เชียงราย เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นย่านธุรกิจ มีอาคารสำนักงาน มีการจ้างงาน ทั้งนี้ เมื่อโครงการ Green Park เปิดบริการเฟส 2 อย่างเต็มระบบ คาดว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้น 50%

เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม เปิด ก.ย.นี้

“กาดฝรั่ง” กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นเชียงใหม่ ทุ่มทุนกว่า 520 ล้านบาท ขยายการลงทุนครั้งใหญ่ เนรมิต “เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม” ซึ่งถือเป็นโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ สาขาที่ 2 หลังบุกเบิก “กาดฝรั่ง วิลเลจ หางดง” โครงการแรกจนประสบความสำเร็จ ติดลมบน

“เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม” มี magnet ร้านค้าแบรนด์ดังทั้งอินเตอร์แบรนด์และโลคอลแบรนด์ ที่จะให้บริการเต็มพื้นที่ขายทั้งหมด 9,000 ตารางเมตร บนที่ดินบริเวณด้านหน้าโครงการ “ศุภาลัย ทัสคานี วัลเลย์” อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจาะกลุ่มฐานลูกค้าเป้าหมายในโครงการศุภาลัย ทัสคานี วัลเลย์ ที่มีมากกว่า 2,000 หลังคาเรือน

นางสาวสาริศา เมฆอุไร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านสุขภิรมย์ จำกัด ผู้บริหารโครงการ เดอะกาดฝรั่ง แม่ริม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม” (The Kad Farang Mae Rim) ตั้งอยู่บนที่ดินราว 18 ไร่ มูลค่าการลงทุนราว 520 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว มีความคืบหน้าแล้วราว 20% คาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้บริการได้ราวเดือนกันยายน 2566

โดยในส่วนของการตลาดได้เริ่มเปิดการขายพื้นที่โครงการ “เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม” ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ล่าสุด occupancy ของยอดขายพื้นที่ร้านค้าอยู่ที่ราว 70% โดยมีร้านค้าที่ตอบรับเข้าร่วมลงทุนเช่าพื้นที่ทั้งร้านค้าอินเตอร์แบรนด์และโลคอลแบรนด์ คาดว่าอีก 30% จะปิดการขายได้ทั้งหมดราวเดือนมีนาคม-เมษายน 2566

กรีนปาร์ก

โดยสัดส่วนของร้านค้าอินเตอร์แบรนด์อยู่ที่ 50% อาทิ สตาร์บัคส์ (Starbucks) KFC Pizza Hut Banana IT Mr.DIY และอีกหลายแบรนด์ ขณะที่ร้านค้าโลคอลแบรนด์มีสัดส่วน 50% เท่ากัน อาทิ ริมปิง ซุปเปอร์มาร์เก็ต SHABUGU ชาบูนางใน และยังมีร้านอาหารแบรนด์ดังในเชียงใหม่อีกหลายร้าน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มโซน “กาดวันค่ำ” มีพื้นที่ขาย 800 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นโซนฟู้ดเซ็นเตอร์

นางสาวสาริศากล่าวต่อไปว่า ฐานลูกค้าหลักของโครงการ “เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ย่านอำเภอแม่ริม กลุ่มนักท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าในโครงการศุภาลัย ทัสคานี วัลเลย์ ทั้งนี้ ทิศทางของธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์ยังมีแนวโน้มที่ดีมาก การลงทุนคอมมิวนิตี้มอลล์ที่เกิดขึ้นหลายแห่งในเชียงใหม่ ไม่ได้มองว่าเป็นการแข่งขัน

แต่มองว่าเป็นโอกาสทางการตลาด ที่สะท้อนว่าเชียงใหม่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจากวิกฤตโควิดในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คอมมิวนิตี้มอลล์กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ต้องการความสะดวก ใกล้บ้าน เข้าถึงง่าย และปลอดภัย

ดังนั้น คอมมิวนิตี้มอลล์จึงตอบโจทย์ หากมีสินค้าและบริการที่ครบ ซึ่งแต่ละโครงการก็มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน สำหรับโครงการ “เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม” วางคอนเซ็ปต์เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ มีความหลากหลายของร้านค้าและสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกไลฟ์สไตล์

โดยแบ่งโซนร้านค้าไว้ทั้งหมด 8 โซน ได้แก่ 1.โซน drive thru 2.โซน flagship store 3.โซน food & restaurant (interbrand) 4.โซน supermarket 5.โซน service 6.โซน food & restaurant (localbrand) 7.โซน market place ที่มี drive thru มากถึง 3 ร้าน 8.โซนกาดวันค่ำ (ฟู้ดเซ็นเตอร์)

นอกจากนี้ยังมีโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ที่กำลังก่อสร้างอีกหลายแห่งในเชียงใหม่ ได้แก่ โครงการ W Mall (lifestyle community mall) ตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมันบางจาก บนถนนวงแหวนรอบกลาง ก่อนถึงสำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในเครือชาระมิงค์ ที่แตกไลน์จากธุรกิจชาระมิงค์ มายึดหัวหาดทำธุรกิจปั๊มน้ำมันและคอมมิวนิตี้มอลล์

ขณะที่บนถนนสายมหิดล (ถนนอ้อมเมือง) ติดกับโรงเรียนวารี โครงการ Wasabi Park ของ “บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด” ผู้ผลิต “วาซาบิ” เป็นผู้นำด้านวาซาบิแบบครบวงจรอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งได้แตกไลน์สู่ธุรกิจค้าปลีก ปั้นโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์บนพื้นที่ 5 ไร่ มูลค่าการลงทุนราว 100 ล้านบาท

นายนรา โกวิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า “วาซาบิ พาร์ค” (Wasabi Park) เป็นธุรกิจใหม่ที่แตกไลน์จากธุรกิจอาหารไปสู่ segment ค้าปลีก เป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ สไตล์มินิมอล-มูจิ

โดยจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นและคาเฟ่ เพื่อรองรับสินค้ากลุ่มวาซาบิ มี office building ของบริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด และเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าเช่าราว 20 ยูนิต รองรับกลุ่มลูกค้าโรงเรียนวารี และมงฟอร์ต รวมถึงรองรับลูกค้าทั่วไปที่อาศัยอยู่บนถนนสายนี้ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่น

ภูมิทัศน์ค้าปลีกเชียงใหม่ในปี 2566 จะเป็นยุครุ่งเรืองของ Community Mall ที่มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจน หลังสถานการณ์โควิด