จีนแห่ขึ้นรถไฟผ่านลาว ชมบั้งไฟพญานาค หนองคายพลิกเมืองผ่านสู่เมืองพัก

บัญชา อาศรัยราช
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“หนองคาย” หนึ่งในเมืองหน้าด่านของไทยที่มีชายแดนติดกับแขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซ ของ สปป.ลาว แต่ตลอดเวลาที่ผ่าน หนองคายถูกมองเป็นเพียงจังหวัด “ทางผ่าน” ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนจึงพยายามผลักดันเพื่อดึงให้คนไทย และต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “บัญชา อาศรัยราช” เจ้าของบริษัท ออนซอนทัวร์ จำกัด ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย

6 เดือนนักท่องเที่ยวจีนพุ่ง

ที่ผ่านมาหนองคายถูกมองเป็นแค่เมืองผ่านนักท่องเที่ยวฝั่งไทย ลงเครื่องบินที่ จ.อุดรธานี แล้ววิ่งรถผ่าน จ.หนองคาย ข้ามไปเที่ยว สปป.ลาว ส่วนนักท่องเที่ยวชาว สปป.ลาว ก็ผ่านหนองคายไปเที่ยวที่ จ.อุดรธานี แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวดีขึ้น

เมื่อบริษัทรถไฟลาว-จีน ได้เริ่มเปิดขายตั๋วขบวนรถไฟข้ามประเทศ วิ่งจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านจ.หนองคาย เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากเดิมจังหวัดหนองคายไม่เคยมีนักท่องเที่ยวจีน เพราะนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่มาเที่ยวเมืองไทยจะขึ้นเครื่องบินไปลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว มาลงที่นครหลวงเวียงจันทน์ และข้ามมายังจังหวัดหนองคาย

หลังการเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว และมีการเปิดด่านช่วง 6 เดือนของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) มีสถิตินักท่องเที่ยวจีนผ่านเข้ามาในจังหวัดหนองคาย ประมาณ 1,500 คนต่อเดือน และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500 คนต่อเดือน ณ ปัจจุบันเดือนกันยายนมีประมาณ 4,500 คน และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุก ๆ เดือน

ADVERTISMENT

ตอนนี้ทางภาครัฐจีนก็รณรงค์ให้คนจีน เดินทางท่องเที่ยวโดยใช้บริการรถไฟ โดยเฉพาะมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเสฉวน รวม 3 มณฑลมีประชากรประมาณ 200 ล้านคน ซึ่งหวังว่าหากมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทย และแวะพักที่จังหวัดหนองคาย สัก 1% ก็มากพอแล้ว ซึ่งรถไฟ 1 ขบวนใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง เดินทางออกจากคุนหมิง 08.00 น. ถึงเวียงจันทน์ 17.00 น.

เปลี่ยนเมืองผ่านเป็นเมืองพัก

หลังจากหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทางภาคเอกชนได้หารือกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้มีการวางแผนต่อไปในอนาคตทำอย่างไรให้หนองคายเป็น “เมืองพัก ไม่ใช่เมืองผ่าน” แต่เป็นเมืองที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนได้ตลอดปี

ADVERTISMENT

ปัจจุบันรถไฟจีน-ลาว คุนหมิง-เวียงจันทน์ ให้บริการวันละ 2 ขบวน คาดว่าหากมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจะเพิ่มเป็น 5 ขบวนต่อวัน โดยเป้าหมายของรัฐบาลจีน ต้องการให้ประชาชนชาวจีนมาใช้บริการเส้นทางนี้ วันละ 3,000 คน ทางจังหวัดหนองคายได้หารือกับทัวร์ที่พานักท่องเที่ยวเข้ามา

ต้องดึงให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวหนองคายสัก 1 วัน นอนหนองคายสัก 1 คืน กินอาหารหนองคาย 1 มื้อ ก่อนไปเที่ยวต่อยังเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ

จังหวัดหนองคายถือเป็นเกตเวย์เชื่อมกับประเทศจีน และเป็นเมืองอีสานโบราณ มีประเพณีแทบทุกเดือน ฮีต 12 คลอง 14 จึงเป็นจังหวัดที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่มีโลว์ซีซั่น หลังหมดงานบุญบั้งไฟพญานาคในเทศกาลออกพรรษาเดือนตุลาคม ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นงานลอยกระทง ซึ่งจะตรงกับบุญธาตุหลวง งานใหญ่ประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของฝั่ง สปป.ลาว จัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งคนลาวส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจกับประเพณีงานลอยกระทงก็ข้ามฝั่งมาเที่ยวที่หนองคาย

สถิติการท่องเที่ยวภาพรวมปี 2566 หากเทียบปี 2565 คาดว่าดีมากกว่าเท่าตัว เห็นได้จากข้อมูลสถิติด้านการท่องเที่ยว ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดหนองคาย ปี 2566 พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวม 2,325,640 คน แบ่งออกเป็น นักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 1,682,970 คน ชาวต่างชาติ จำนวน 642,670 คน

ส่งผลให้มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด 2,514 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 2,308 ล้านบาท ชาวต่างชาติ 206 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าพัก 764,447 คน

หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) พบว่า จังหวัดหนองคาย มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวม 1,479,937 คน แบ่งออกเป็น นักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 1,298,636 คน ชาวต่างชาติ จำนวน 181,301 คน

ส่งผลให้มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด 2,940.9 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,851.21 ล้านบาท ชาวต่างชาติ 410.52 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าพัก 555,583 คน

คน 2 แสนชมบั้งไฟพญานาค

ช่วงเทศกาลออกพรรษา จังหวัดหนองคายจะจัดงาน “ประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือว่าเป็นไฮซีซั่นของจังหวัดหนองคาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาชมปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ในคืนวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 โดยปีนี้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ กระจายไปยัง 6 อำเภอที่ติดกับแม่น้ำโขง ประกอบด้วย อ.สังคม, อ.ศรีเชียงใหม่, อ.ท่าบ่อ, อ.เมือง, อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี ซึ่งมีการจัดกิจกรรมหลากหลาย แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่ 4-6 ตุลาคม 2566 และวันที่ 26 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2566

โดยทางจังหวัดยังได้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับทั้ง 6 อำเภอ ในการจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านทุกพื้นที่ โดยการจัดงานในครั้งนี้ใช้งบประมาณรวม 10 ล้านบาท เดิมการจัดงานประเพณีออกพรรษาปีที่ผ่านมา ๆ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่เฉพาะช่วงงานบั้งไฟพญานาค การขยายการจัดงานออกไปทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 วิ่งตามรอยปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ที่ อ.รัตนวาปี, วันที่ 22 ตุลาคม วิ่งเปิดเมืองพญานาค ที่ อ.โพนพิสัย, วันที่ 26 ตุลาคม 2566 บวงสรวงและรำบูชาพญานาค อ.เมือง,

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 บวงสรวงและรำบูชาพญาศรีสุวรรณหงส์สัตตนาคราช อ.ศรีเชียงใหม่, รำบวงสรวงบูชาพญานาค ประจำปี 2566 อ.ท่าบ่อ, การแสดงแสง สี เสียง ตำนานบั้งไฟพญานาค อ.เมือง, วันที่ 28 ตุลาคม 2566 บวงสรวงบูชาพญานาค อ.รัตนวาปี และวันที่ 29 ตุลาคม 2566 มีการบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง บวงสรวงพระธาตุกลางน้ำ, การแข่งขันเรือยาวขนาดใหญ่, ลอยกะโป๋ไฟ กลางแม่น้ำโขง อ.เมือง, บวงสรวงบูชาพญานาคแบบดั้งเดิม, บวงสรวงวันเปิดโลก บูชาพระพุทธเจ้าและบูชาพญานาค รำบวงสรวงพญาพิสัยสัตนาคราช

มี ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก มาร่วมรำด้วย อ.โพนพิสัย, 30 ตุลาคม ทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ อ.เมือง อ.สังคม อ.โพนพิสัย, วันที่ 4-6 ตุลาคม 2566 การแข่งขันเรือยาว อ.โพนพิสัย เป็นต้น

ปัจจุบันโรงแรมหนองคายมีทั้งหมด 312 แห่ง มีห้องพัก จำนวน 5,800 ห้อง อยู่ในอำเภอเมือง 70% ที่เหลือกระจายในอำเภอต่าง ๆ ซึ่งยอดอัตราการจองห้องพักถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ยอดการจองห้องพักเต็ม 100% และจากสถิติยอดจองห้องพักรองลงมาคือ วันที่ 28 ตุลาคม 2566 และวันที่ 30 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ เฉพาะวันที่ 29 ตุลาคม มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจองห้องพัก เพื่อชมปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ประมาณ 4,000-5,000 คน ทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตนเอง (FIT) และแบบกรุ๊ปทัวร์

ตอนนี้ห้องพักเต็มหมดแล้ว ถ้ามีนักท่องเที่ยวติดต่อเข้ามาจะแนะนำให้ไปนอนที่ จ.อุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับอานิสงส์ช่วงนี้ ได้แก่ จ.บึงกาฬ จ.อุดรธานี จ.เลย และ จ.นครพนม อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวงาน “ประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก” ประมาณ 1.4 แสนคน ปี 2566 คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน