ครม.ไฟเขียว 2.97 หมื่นล้าน สร้างรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย ใช้เวลา 5 ปี
วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม มีมติอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่)
ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งทางราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์และแผนการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการระบบขนส่งทางราง เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว
โดยเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาดทาง 1.00 เมตร เพิ่มขึ้นจำนวน 1 ทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 14 สถานี (ก่อสร้างสถานีใหม่ 6 สถานี ปรับปรุงสถานีเดิม 8 สถานี) โดยได้มีการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ จำนวน 31 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 53 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ
โครงการมีแผนงานจะเปิดให้บริการประชาชนในปี พ.ศ. 2570 จึงต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2566 และเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2567 โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารมีจำนวนประมาณ 3,500 คนต่อวัน ในปี พ.ศ. 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 คนต่อวัน ในปี พ.ศ. 2599 และมีปริมาณการขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางรถไฟช่วงนี้จำนวนประมาณ 3.50 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2599