ล้งวิพากษ์จีน ! ซื้อทุเรียน 8 หมื่นลูก ชี้ออร์เดอร์ปกติก่อนเซ็น MOU “อาลีบาบา”

วงการล้งวิพากษ์ข่าวขายทุเรียน 80,000 ลูก เหตุไม่ใช่ “คำสั่งซื้อ” ใหม่ ส่งออกไปจีนปกติ ก่อน MOU อาลีบาบาแล้ว ไม่มีออร์เดอร์ใหม่เข้ามา พร้อมชี้เหตุราคาขึ้น เพราะรถขนส่งติดปัญหาด่านผิงเสียง ชายแดนจีน-เวียดนาม ส่งผลช่วงนี้ทุเรียนในจีนขาดตลาด

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากนายแจ็ก หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบาได้มาลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Trans-formation Strategic Partnership เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 และสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานผ่านเว็บไซต์ ว่า บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป สามารถจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ได้ถึง 80,000 ลูก ผ่านทางเว็บไซต์ Tmall.com ภายในเวลาเพียง 1 นาทีนั้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ทำการสำรวจ “วงการล้งทุเรียนรายใหญ่หลายแห่งในจังหวัดจันทบุรี และตราด”  ได้รับข้อมูลตรงกันว่า ข้อเท็จจริงราคาทุเรียนที่ปรับขึ้นไม่ได้เป็นผลจากการลงนามใน MOU ของกลุ่มอาลีบาบา แต่เป็นเพราะรถขนส่งทุเรียนไปประเทศจีน ติดปัญหาอยู่ที่ด่านเมืองผิงเสียง ชายแดนจีน-เวียดนาม ทำให้สินค้าขาดตลาด ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น แต่หลังจากการปล่อยข่าวออกมาอาจส่งผลให้ราคาปรับขึ้นเล็กน้อย

นอกจากนี้ ปริมาณทุเรียน 80,000 ลูกที่สั่งซื้อผ่านเว็บทีมอลล์ เป็นปริมาณทุเรียนที่ถูกส่งออกไปจากประเทศไทยตลอดเดือนเมษายน 2561 ไปถึงประเทศจีนแล้วบางส่วน ก่อนการลงนาม MOU และเป็นปริมาณการสั่งซื้อปกติ เพราะหลังจากที่ลงนาม MOU ไปไม่ได้มีปริมาณการสั่งซื้อทุเรียนเพิ่มขึ้นมาอย่างผิดปกติ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในวงการล้งรายใหญ่ ว่า เป็นการสร้างข่าวของนักธุรกิจต่างชาติหรือไม่

ฤดูขายทุเรียน – ปกติในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวทุเรียน ส่งผลให้ล้งทั้งชาวไทย และล้งต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ได้มาสั่งซื้อทุเรียนเหมายกสวนตั้งแต่ก่อนผลไม้จะถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้ว และได้ทยอยขนส่งออกไปตลาดจีนตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาอย่างผิดปกติ


แหล่งข่าวจากล้งเจ๊แป๋ว ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ผู้รับซื้อทุเรียนหมอนทองเหมาสวนใน ต.ตะปอนใหญ่ และส่งล้งจีนจำหน่ายผ่านเว็บไซต์อาลีบาบา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมาได้เหมาสวนทุเรียนในราคากิโลกรัมละ 110 บาท และรวบรวมส่งให้ล้งจีนตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2561 ซึ่งโดยปกติแล้วมีการเหมาทุเรียนจากหลายสวน และส่งออกไปตลาดจีนวันละประมาณ 3-5 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ไม่ทราบว่ามีการนำไปจำหน่ายในเว็บไซต์อาลีบาบา จนกระทั่งมีข่าวเผยแพร่ออกมา ทำให้บริษัทของจีนพาทีมงานมาถ่ายทำโกดังที่ทำบรรจุภัณฑ์ และสวนที่ผลิตทุเรียน เพื่อเผยแพร่ทุเรียนคุณภาพ ส่งผลให้ยอดออร์เดอร์ของล้งจีนที่สั่งทุเรียนหมอนทองเพิ่มมากขึ้น และเปิดตลาดรับทุเรียนพันธุ์อื่น ๆ ของไทยด้วย เช่น ก้านยาว พวงมณี และนกหยิบ ขณะเดียวกัน ราคาทุเรียนได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก

โดยวันนี้ราคาพันธุ์หมอนทอง อยู่ที่ 75-78 บาท/กก. จากปี 2560 ราคาไม่ถึง 60 บาท/กก. และคาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีน่าจะสูงกว่า โดยราคาทุเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นผลดีทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร แต่ต้องเน้นย้ำเรื่องคุณภาพให้เป็นทุเรียนแก่

นายมณฑล ปริวัฒน์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด และเจ้าของล้งอรษา อ.เมือง จ.จันทบุรี กล่าวว่า สำหรับตัวเลขจำหน่ายทุเรียนในเว็บไซต์อาลีบาบานาทีละ 80,000 ลูกนั้น ไม่น่าตื่นเต้น เพราะจากข้อมูลมีการส่งออกทุเรียนกว่า 100 ตู้/วัน ปริมาณตู้ละ 20 ตัน รวมทั้งหมด 2,000 ตัน/วัน โดยทุเรียนมีน้ำหนักเฉลี่ยลูกละ 3 กิโลกรัม ซึ่งจำนวนที่จำหน่ายในเว็บไซต์อาลีบาบา 80,000 ลูก จะมีน้ำหนักเพียง 240 ตัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนราคาทุเรียนในช่วงนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามปกติ โดยเป็นราคาของพ่อค้ารายใหญ่ตามกลไกของตลาดมากกว่า ไม่มีผลอะไร เนื่องเป็นช่วงวันหยุดยาว วันแรงงาน ราคาจะสูงขึ้นอยู่แล้ว หรืออาจจะมีกระแสเว็บไซต์อาลีบาบาเข้ามามีส่วนด้วยเล็กน้อย

“เว็บไซต์อาลีบาบามีชื่อเสียง ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตลาดจีนและตลาดโลกหันมาบริโภคทุเรียนกันมากขึ้น และมีทางเลือกบริโภคที่หลากหลายสายพันธุ์ นอกจากพันธุ์หมอนทอง ซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์กับชาวสวนที่ปลูกทุเรียนคุณภาพ สามารถจำหน่ายได้ราคาดีขึ้น ถือเป็นการทำตลาดให้ชาวสวนทางอ้อม ส่วนการที่ผู้ประกอบการคนไทยจะทำตลาดส่งออกตรงไปยังประเทศจีนยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะติดกฎระเบียบที่ควบคุมอยู่ ยกเว้นรัฐบาลเข้าไปช่วยปลดล็อกหรือมีกฎระเบียบที่ชัดเจน ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคงเป็นการร่วมลงทุน หรือรวบรวมส่งให้คนจีนนำเข้า” นายมณฑลกล่าว

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและการส่งออกจังหวัดตราด จำกัด กล่าวว่า ปรากฏการณ์เว็บไซต์อาลีบาบาจำหน่ายทุเรียนนาทีละ 80,000 ลูกนั้น ภาครัฐน่าจะใช้โอกาสนี้วิเคราะห์สถานการณ์การทำตลาดของเกษตรกร หรือผู้ประกอบการคนไทยกับตลาดจีนโดยตรง เพราะในอนาคตการซื้อ-ขาย จะเหลือเพียงผู้ผลิตและผู้บริโภคเท่านั้น ซึ่งในระบบการผลิตต้องมีการปรับเปลี่ยน เกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นผู้ผลิตแปลงใหญ่ สร้างมาตรฐานของสินค้า มีแบรนด์ที่เป็นมาตรฐานและพัฒนาให้เป็นแบรนด์ของผลไม้ไทยที่มีคุณภาพ เป็นที่น่าเชื่อถือ ทำอย่างจริงจัง และเป็นกระบวนการ เชื่อว่าระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็งเป็นแนวทางที่จะต่อสู้กับล้งจีนได้

“ทั้งนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ โดยการทุ่มทุนเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ แทนที่จะใช้งบประมาณไปช่วยประชาชนตามนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นเบี้ยหัวแตก หรือจัดงานอีเวนต์แล้วหายไป ถ้าสามารถพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็งได้ ช่วงแรกอาจจะทำการค้าไปตลาดจีน ผ่านพ่อค้าคนจีนไปก่อน แต่ต่อไปสหกรณ์อาจจะทำการค้ากับอาลีบาบาโดยตรง ในเมื่อทุกวันนี้อาลีบาบาใช้พ่อค้าจีนรวบรวมรับซื้อมาจากล้งจีนที่ตั้งในไทย”

นางวรรณี บุญสวัสดิ์ เจ้าของสวนทุเรียน พื้นที่ 20 ไร่ ในจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีล้งผลไม้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 40-50 แห่งในจังหวัดจันทบุรี โดยมากเป็นล้งผลไม้ของชาวจีน และมีราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ 75-80 บาท/กก.

ทั้งนี้มีความต้องการสูงมากและไม่เหลือเก็บในแต่ละครั้งของการเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้นแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในกรณีของอาลีบาบานั้นไม่ได้ส่งผลให้ราคาจำหน่ายทุเรียนสูงขึ้น