เอกชนชู “ภูเก็ต” เขต ศก.พิเศษ วอนรัฐแก้ปัญหา 5 โครงการเร่งด่วน

“ภูเก็ต” ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่ประสบปัญหาหลากหลายด้าน โดยล่าสุดภาคเอกชนภูเก็ตได้นำเสนอปัญหาต่าง ๆ แก่คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเร่งขับเคลื่อนปัญหาต่าง ๆ

บาทแข็งต่างชาติงดเที่ยว

ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 62) ว่า มีนักท่องเที่ยวจำนวน 9,848,246 ล้านคน แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวชาวไทยร้อยละ 20 และเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร้อยละ 80 เป็นนักท่องเที่ยวจีนสูงสุดกว่า 3 ล้านคน รัสเซีย รองลงมาประมาณกว่า 900,000 คน และเยอรมัน ประมาณกว่า 600,000 คน การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวยังเป็นบวก มีรายได้เฉลี่ย 5.8-6% หรือประมาณ 313,186.49 ล้านบาท อัตราการเข้าพักลดลง จำนวนเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 78.08 เนื่องจากกลุ่มโรงแรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ปีนี้มีจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 3,000ห้อง ในโรงแรมใหญ่ ๆ มีการเปิดห้องพักราคาประหยัดที่นอกจากลงทะเบียนในระบบ ทำให้มีการกระจายตัวนักท่องเที่ยวไปยังที่พักกลุ่มประเภทต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 3เดือนสุดท้ายของปี จะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟกรุ๊ป) ที่เป็นชาเตอร์ไฟลต์จากจีนเข้ามาจากเมืองต่าง ๆ และประชาสัมพันธ์ไปยังตลาดอินเดีย และตลาดสิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์ ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาลดลง เพราะค่าเงินบาทแข็ง ประกอบกับปัจจัยอีกหลายอย่าง

ยก “ภูเก็ต” เป็นเขต ศก.พิเศษ

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตขอเป็นจังหวัดที่มีระบบบริหารจัดการแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวและอัจฉริยะ ถ้าสามารถยกระดับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการได้ เชื่อว่าแผนพัฒนาในช่วง 10-20ปี จะสามารถแข่งขันกับนานาชาติที่มีศักยภาพสูงทั่วโลก และสร้างรายได้มากกว่านี้ นอกจากนี้ ต้องการให้ภูเก็ตมีท่าจอดเรือสำราญจะทำให้มีเรือจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น รวมถึงอยากให้มีหอประชุมนานาชาติที่มีมาตรฐาน เพื่อกระตุ้นตลาดไมซ์ ส่งเสริมสปอร์ตทัวริสซึ่ม จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามามากขึ้น และปัญหาขาดแคลนน้ำที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

ชงแก้ 5 ปัญหาหนักอก

โดยนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาหลักของภูเก็ตมี 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การจราจรทางบกรถติดหนักมากมาย เพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมาพยายามเสนอกันหลายโครงการ เช่น อุโมงค์ รถไฟฟ้ารางเบา ขยายถนนและตัดถนนเส้นใหม่ ใช้เวลานานในการแก้ปัญหาและขาดงบประมาณในการสนับสนุนจังหวัด ทั้งที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้แก่ประเทศกว่า 4 แสนล้านบาท แต่งบประมาณอนุมัติมาให้ไม่เต็มที่ 2.ความปลอดภัยการจราจรทางทะเล หลังจากปัญหาเรือล่มเมื่อปีที่แล้ว ได้ยกระดับความปลอดภัยทางทะเลไปมากแล้ว แต่ยังมีปัญหาติดค้างเรื่องระบบ VTMS ที่ยังใช้งานไม่ได้ คือ ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางทะเลในอันดามันทั้งหมด ตั้งแต่จังหวัดระนองถึงตรัง ในระบบนี้มีจำนวน 23 จุด ใช้ได้เพียง 1 จุดเท่านั้น จึงขอให้ช่วยแก้ปัญหานี้เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยทางทะเลมากขึ้น 3.การบริหารจัดการเวลาการบินเข้าหรือออกจากท่าอากาศยานล่วงหน้า (การบริหารจัดการ slot การบิน) 4.เมืองศูนย์ประชุม (MICE city) และ 5.การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (sport tourism) ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดขอให้คณะกรรมาธิการเร่งรัดขั้นตอนในด้านต่าง ๆ ให้ภูเก็ตด้วย เพื่อให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดต้นแบบในการทำถนนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยเฉพาะการนำเสนอ 4 โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาจราจร ได้แก่ (1) โครงการถนนเส้นสาคูเกาะแก้วเชื่อมต่อเส้นบายพาสของภูเก็ต ระยะทาง 22 กม. ใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท เสนอโครงการมาตั้งแต่ปี 2555 แต่ติดขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากติดป่าบางขนุน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้สงวน ยังไม่อนุมัติ (2) โครงการถนนเส้นหลวงปู่สุภาป่าตอง ใช้เวลาพิจารณามานานกว่า 20-30 ปีแล้ว เหลือระยะทางอีกเพียง 2.9 กิโลเมตรที่มีปัญหา อยู่ระหว่างทำ EIA ยังติดปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ล่าสุดได้สำรวจพบว่า ลุ่มน้ำนี้เป็นป่ายางหมดแล้ว ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้พิจารณาปัญหาถนนเส้นนี้มา 2 ครั้งแล้ว และกำลังจะเข้าครั้งที่ 3 หาก สผ.อนุญาตสามารถดำเนินการได้เลย

(3) โครงการจุดตัดถนนเส้นป่าคลอกบางโรง กับถนนเส้น 4027 ถนนเทพกษัตรี มุ่งหน้าไปสนามบินภูเก็ต โดยถนนเส้นนี้มีถนนอยู่แล้ว แต่มาตัดกับเส้น 4027 ไม่ได้ เพราะไปผ่านพื้นที่ป่าโกงกาง มีข้อกำหนดทางกฎหมายต้องไปขอทำอีไอเออีก เหลือระยะทางเพียง 5 กิโลเมตร งบประมาณ 700 ล้านบาท จะระบายรถจากป่าคลอกไปสนามบินสามารถลดการจราจรของเส้นเทพกษัตรี อยากให้มีการเร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน (4) โครงการถนนเส้นกะทู้ไปทะลุเกาะแก้วและสามารถเชื่อมต่อไปยังโครงการที่ 1.คือเส้นสาคูเกาะแก้ว ที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งในโครงการที่ 4 มีระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท การที่มีงบฯน้อยเพราะไปตัดผ่านที่ดินเอกชน 1-2 ราย ซึ่งได้บริจาคที่ดินในการทำถนน

ชูยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวชุมชน

ด้านนายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า ขอให้ช่วยผลักดันท่องเที่ยวชุมชนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวกับชุมชน ถ้าส่งเสริมมากขึ้นจะสามารถเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวมากขึ้น กระจายเม็ดเงินสู่ชุมชนอย่างแท้จริง


อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมาธิการฯ จะติดตามเร่งรัดแก้ปัญหาให้ต่อไป