SMEs “พัทยา” ตายเกลื่อน ร้านนวด-อาหารปิดป้ายขาย-เซ้ง

“พัทยา” หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย ที่ขึ้นชื่อในเรื่องแสงสียามราตรีที่ไม่เคยหลับใหล เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างหลั่งไหลเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยกันจนเงินสะพัดถึงเกือบ 3 แสนล้านบาทต่อปี แต่หลังเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ถึงปัจจุบันที่การเดินทางท่องเที่ยวของต่างชาติหยุดชะงัก ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก

จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ในช่วงวันธรรมดา พบว่าสองข้างทางของถนนหลายสายที่มุ่งสู่ตัวเมืองพัทยา ทั้งพัทยากลาง พัทยาใต้ พัทยาเหนือค่อนข้างเงียบเหงา วังเวง ทั้งกลางวันและกลางคืน มีการปิดป้ายขายและเซ้งกิจการจำนวนมากแบบตึกเว้นตึก โดยเฉพาะกิจการร้านนวด ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ฯลฯ

นายชัยรัตน์ รัตโนภาส นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจสปาและร้านนวดถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากเดิมธุรกิจร้านวดทั่วพัทยาเปิดให้บริการประมาณ 400-500 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่โซนถนนเลียบชายหาดพัทยา, ถนนพัทยาสาย 2 และตามซอยต่าง ๆ ตั้งแต่พัทยาเหนือจนถึงพัทยาใต้ ตอนนี้ปิดบริการ 90% และเปิด 10%

ส่วนธุรกิจสปาส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในโรงแรมมีประมาณ 70-80 แห่ง ซึ่งการเปิดหรือปิดกิจการขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงแรม ทั้งนี้ โรงแรมหลายแห่งที่เปิดกิจการแต่ยังไม่เปิดให้บริการสปา เพราะว่าโรงแรมเน้นจะขายห้องพักกับอาหารก่อน

“ในพัทยามีผู้ประกอบการธุรกิจร้านนวดประมาณ 10 แห่ง ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์โดยเฉพาะ มีอัตราการจ้างงาน 200-300 คนต่อแห่ง เท่ากับมีการจ้างงานประมาณ 2,000-3,000 คน ตอนนี้ตลาดกลุ่มนี้ปิดกิจการไปหมด ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งยังไม่เปิดดำเนินการ

สำหรับธุรกิจสปาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโรงแรม ซึ่งบางโรงแรมเปิดบริการแล้ว แต่ยังมีบางฟังก์ชั่นที่ยังไม่เปิดบริการ เช่น สปา ทำให้ธุรกิจนี้กลับมาเปิดดำเนินการได้น้อยมาก ๆ ที่เปิดอยู่ตอนนี้ก็เพื่อประคับประคองพนักงานให้มีรายได้เข้ามา สำหรับผู้ประกอบการสปารายใหญ่ เช่น Let’s Relax Spa สาขาเลียบชายหาดพัทยา ของบริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตอนนี้ยังปิดอยู่”

สำหรับธุรกิจร้านนวดเน้นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวเป็นหลักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการ ถึงแม้จะมีการเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวชาวไทย แต่ไม่ถึงจุดคุ้มทุน สถานประกอบการหลายแห่งได้มีการพูดคุยกับพนักงานเรื่องค่าจ้าง จากเดิมจ่ายเป็นเดือนก็ปรับจ่ายเป็นรายชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือกันทั้ง 2 ฝ่าย

หลายแห่งมีการลดจำนวนพนักงาน และพนักงานขอลาออกจากงานเพื่อกลับไปยังภูมิลำเนา เพราะค่าครองชีพถูกกว่า ส่วนสถานประกอบการร้านนวดขนาดใหญ่ที่เคยจ้างพนักงาน 200-300 คนต่อแห่ง ตอนนี้ก็เหลือประมาณ 30-40 คน ส่วนร้านสปาที่เคยมีอยู่ 20-30 คน ก็เหลือ 4-5 คน

“เมื่อเกิดวิกฤตกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มที่ทำรายได้ให้กับธุรกิจ แต่ตอนนี้ไม่มีต่างชาติเข้ามา ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ถึงแม้จะมีการเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าไปใช้บริการ แต่มีสัดส่วนน้อยกว่า พนักงานทั้งหมดกว่า 10,000 คน ตอนนี้เหลือทำงานอยู่ประมาณ 300-400 คน”

ด้านมูลค่าความเสียหายไม่สามารถประเมินค่าได้ เนื่องจากมีทั้งด้านการลงทุน ด้านการจ้างงาน และรายได้ที่เกิดจากการบริการ เพราะว่าตอนนี้ส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ ด้านวัตถุดิบสมุนไพรทำลูกประคบและเครื่องดื่ม โรงเรียนสอนนวด ศูนย์อบรมของภาครัฐ ต้นทุนที่รัฐบาลลงทุนในการสร้างบุคลากรที่มีการส่งเสริมด้านการฝึกอบรม หรือแม้แต่บุคลากรที่ลงทุนเรียนเอง ซึ่งไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ ยังไม่รวมธุรกิจข้างเคียง มันกระทบทั้งซัพพลายเชน

ในอนาคตอาจจะมีการเปิดให้บริการนวดอย่างอิสระ ซึ่งตัวธุรกิจจะหายไป มองเป็นทั้งโอกาสและเป็นปัญหาต่อไปได้ ถ้าเป็นโอกาสคือการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นปัญหาในเรื่องการดูแลควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัยและสุขอนามัย เพราะว่าการให้บริการที่เป็นอาชีพอิสระในการเข้าไปกำกับดูแลของทางภาครัฐอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง