ส่งออกทุเรียนแสนล้านวิกฤต ปัญหาหนัก ขั้นตอนขนส่ง ขึ้นรถไฟจีน-ลาวไม่ได้

ส่งออกทุเรียนแสนล้านวิกฤต ปัญหาหนัก ขั้นตอนขนส่ง ขึ้นรถไฟจีน-ลาวไม่ได้

ส่งออก “ทุเรียน” แสนล้านส่อวิกฤต โลจิสติกส์หนักอีก 2 เดือน 11 องค์กรยื่นจดหมายนายกฯแก้ด่วน 4 มกราคม นี้

วันที่ 3 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหารุมเร้าส่งออกทุเรียน ภาคตะวันออก ผู้ส่งออกนั่งไม่ติดนับถอยหลัง 2 เดือน สวพ.6 เร่งประสานสิบทิศ ทางรถไฟจีน-ลาว “แห้ว” ต้องรอหลังกลางปี 2565 ทางเรือยังติดปัญหาระบบหมุนเวียนตู้คอนเนอร์ยาวถึงหลังปี 2565 ในขณะที่ทางอากาศเจอค่าเช่าเหมาลำยังแพงหูดับ 1.2 ล้านบาท/ตู้ แถมข้อจำกัดเหมาะกับทุเรียนพรีเมี่ยม บทสรุปต้องเร่งแก้ปัญหาทางบก สวพ.6 ร่วม 11 องค์กร

องค์กรภาคเอกชนวงการผลไม้และระบบโลจิสติกส์ เตรียมรับสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออก ทุเรียน มังคุด ปี 2565 ผลผลิต 1,000,000 ตัน มูลค่า100,000 ล้านบาท เตรียมยื่นหนังสือแนวทางแก้ไขปัญหา 5 ข้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการเตรียมการรองรับผลผลิตและเจรจาแก้ไขปัญหาแบบ G T0 G ขอเปิด Green Way ช่องทางพิเศษผลไม้ไทย และเตรียมพัฒนาท่าเทียบเรือคลองใหญ่ จ.ตราด ส่งตรงผลไม้ไทย-จีน

หวั่นอีก 2 เดือนส่งออกทุเรียน-มังคุดล้านตันสะดุด

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด ปี 2564 มีผลผลิตทุเรียน 550,000 ตัน มูลค่าส่งออก 109,240 ล้านบาท ยอดส่งออกทุเรียน 25,000 ตู้ มังคุด 7,000 ตู้ คาดว่าปี 2565 จะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด 720,000 ตันรวมกับปริมาณมังคุดจะออกพร้อมกันรวม 1,000,000 ตัน

โดยเฉลี่ยจะส่งออกทุเรียนวันละ 700 ตู้ มังคุด 300 ตู้ รวมวันละ 1,000 ตู้ ซึ่งผลผลิตมากว่า 90% ส่งออกจีน สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2564 จีนได้ยกระดับมาตรการตรวจสอบผลไม้นำเข้าอย่างเข้มงวด วิกฤตผลผลิตลำไย 400,000 ตัน ส่งออกได้เพียง 100,000 ตัน ราคาลำไยจากส่งออกกิโลกรัมละ 30-35 บาท เหลือไม่ถึง 10 บาท/กก. มูลค่าจาก 8,000 ล้านบาท เหลือไม่ถึง 2,000 ล้านบาท

สวพ.6 จึงร่วมกับ 11 องค์กรภาคเอกชนวงการผลไม้และโลจิสต์ เตรียมตั้งรับการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก ทุเรียน มังคุด ที่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 1,000,000 ตัน และผลลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดอีก 2 เดือน

“แนวทางแก้ไขปัญหามี 5 มาตรการ คือ

1) ป้องกันการแพร่ะบาดของเชื้อโควิด-19 .ในสวนและโรงคัดบรรจุ ซึ่ง สวพ.6 กำลังวิจัยน้ำยากำจัดเชื้อเป็นและเชื้อตายที่จีนยอมรับว่าปลอดภัยผู้บริโภค เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลจีน

2) การแก้ปัญหาส่งออกและระบบโลจิสติกส์ให้มีการเจรจาระหว่างประเทศขอลดหย่อนผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ด่านปลายทางและการเปิดช่องทางพิเศษ (Green Way)สำหรับขนส่งผลไม้ไทย

3) การเปิดตลาดต่างประเทศใหม่เพิ่มจากจีน

4) การเตรียมการรับมือผลผลิตล้นตลาด

5) การพัฒนาท่าเทียบเรือเอนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด เพิ่มช่องทางการขนส่งผลไม้ภาคตะวันออกเพื่อขนส่งผลไม้ไปตลาดต่างประเทศโดยตรงไม่ต้องผ่านประเทศที่สาม

ทั้งนี้ 11 สมาคมเอกชนได้ร่วมลงนามเพื่อยื่นหนังสือโดยตรง ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาและเจรจากับทางการจีน และนำเสนอคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่จะลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีวันที่ 4 มกราคม 2565 นี้ ด้วย” นายชลธีกล่าว

สำหรับ 11 องค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย 1.สมาคมทุเรียนไทย(TDA) 2.สมาคผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด(DMA) 3.หอการค้าจังหวัดตราด 4.หอการค้าจังหวัดจันทบุรี 5.สมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนจันทบุรี-กัมพูชา 6.สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 7.สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย 8.สมาคมการค้าและส่งออกผลไม้ไทย 9.สมาคมผู้ประกอบการผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) 10.สมาพันธุ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก และ 11.สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย

ปัญหารุมเร้าโลจิสติกส์-จีนเข้มโควิดเป็นศูนย์

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขนส่งรถไฟลาว-จีนเป็นช่องทางเลือก ในเมื่อด่านทางบกทุกด่านยังมีปัญหาการปิด-เปิด แต่ยังพบปัญหาการขนส่งของสะพานมิตรภาพไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ ต้องรองบประมาณมาปรับปรุง จึงไม่ทันฤดูกาลผลไม้ปีนี้

และยังมีข้อจำกัดขนส่งได้เพียงวันละ 10 ตู้ (ไป-กลับ) ซึ่งรัฐต่อรัฐต้องเร่งเจรจาขอโควตาเพิ่มและการแก้ปัญหาเรื่องการลงทะเบียนตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมความเย็น (Cold Chain) ที่ต้องนำมาใช้ ส่วนการขนส่งทางเครื่องบินเป็นช่องทางหนึ่งที่ส่งผลไม้เกรดพรีเมี่ยม ทำให้ราคาสูงขึ้นที่ประเทศปลายทาง

จีนให้ขนส่งผลไม้ทางรถไฟจีน-ลาวได้ กลางปี’65

สอดคล้องกับนายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รถไฟจีน-ลาวยังไม่พร้อม 2 ส่วน คือ ระบบการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ พนักงานสถานีขนถ่ายสินค้าที่บ่อเต็น ด่านกักกันพืช ยังไม่พร้อม และโครงสร้างพื้นฐาน สถานีขนถ่ายสินค้าที่สถานีท่านาแร้งของสปป.ลาว

ระบบการขนส่งของบริษัทเวียงจันทน์โลจิสต์ติกส์พาร์ค ยังต้องเปลี่ยนถ่ายตู้ 2 รอบ เป็นการเสียเวลา ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากขนส่งตู้คอนเทรนเนอร์ข้ามด่านหนองคาย ไปเวียงจันทร์ ท่านาแร้งทำการถ่ายตู้ครั้งที่ 1 เพื่อโหลดใส่ตู้ระบบปั่นไฟใช้กับรถไฟ

เมื่อขนส่งถึงปลายทางต้องเปลี่ยนถ่ายตู้ ครั้งที่ 2 ใส่ตู้ความเย็นปกติ การขนถ่ายตู้สินค้าที่หนองคายโดยยกขึ้นรถไฟยังทำไม่ได้ สะพานมิตรภาพระบบรางยังไม่พร้อม ส่วนการทดลองส่งผลไม้ผ่านรถไฟจีน-ลาวคาดว่าจะใช้ขนส่งได้เร็วสุดหลังกลางปี 2565 ซึ่งหมดฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ส่วนค่าขนส่งทางเครื่องบินเป็นอัตราที่สูงมากกก.ละ 60-65 บาท จำกัดการขนส่งสินค้าพรีเมี่ยม

ด้าน นายปิติคนธ์ วิเชียร ผู้แทนจากสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การขนส่งผลไม้ทางเรือในปี 2565 คาดว่ายังมีปัญหาค่าระวางตู้สินค้าเพิ่มสูงขึ้นในหลายเส้นทางและปัญหาตู้คอนเทนเนอร์สินค้าขาดแคลน จากมาตรการคุมเข้มการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

การตรวจสอบตู้สินค้าของด่านปลายทางทําให้เกิดความล่าช้าในการหมุนเวียนตู้สินค้ากลับมาไม่ถึง 30% ตู้ขาดแคลนและขึ้นราคา คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระบบ น่าจะกลางปี 2565 ปัญหานี้ได้แจ้งกลุ่มผู้ส่งออกระหว่างประเทศ (กลุ่มผู้ส่งออกประเทศเอเชีย-ระดับโลก) โดย หารือร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวอยู่ระหว่างหาแนวทางแก้ไข

นายณัฎฐชัย โรจน์อรุณอังกูร กรรมการสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย คาดการณ์การขนส่งผลไม้ทางบก กล่าวว่า ปี 2565 ปัญหาอยู่ที่ด่านปลายทาง สําหรับรถขนส่งภายในประเทศมี 400,000 คัน เพียงพอต่อความต้องการ หากทางฝ่ายไทยน่าจะเจรจากับจีน ในเรื่องมาตรฐานการตรวจคัดกรองโควิด-19 มาเป็นแนวปฏิบัติให้ชัดเจนเพราะแต่ละด่านวิธีปฏิบัติต่างกัน

หรือมีหน่วยงานที่ออกใบรับรองโควิด-19 ส่วนทางเครื่องบินด่านคัดกรองโควิด-19 ไม่ยุ่งยากแต่ต้นทุนสูง ปัญหาโลจิสติกส์นี้ต้องเร่งแก้ไขภายใน 3 เดือนผลลิต 1 ล้านตัน น่าจะระบายไปต่างประเทศให้ได้ 700,000 ตัน และขายตลาดภายในประเทศ 300,000 ตัน

เร่งรัฐเจรจาผ่อนปรน GREEN WAYแก้ปัญหาระดับชาติ

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาส่งออกสำคัญที่สุด คือระบบโลจิสติกส์ ด่านทางบกทุกด่านมีปัญหาหมดและทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งผลจากการตรวจโตวิด-19 เป็นศูนย์ (Zero Tolerance) เพราะจีนจะมีการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ด้วย เมื่อมีมาตรการตรวจเข้มหรือตรวจพบเชื้อจะมีการปิดด่านชั่วคราว หรือจำกัดการนำเข้า

เป็นผลให้มีรถติดที่ด่านจากปกติใช้เวลา 13 วันเป็น 30-40 วัน ถ้าเป็นทุเรียนจะเสียหาย ตู้ที่ติดอยู่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มตู้ละเกือบ 10,000 บาท/วัน ด่านโหยวอี้กวนจำกัดการนำเข้าวันละ 5-10 ตู้ ด่านตงซินต้องแย่งกับเวียดนามส่งเข้าไป ทำให้มีตู้ติดค้างต้องเสียบปลั๊กรอเป็นเดือน แม้แต่ด่านรถไฟผิงเสียงที่ปิดไปเพราะตรวจพบเชื้อโควิด-19 เปิดมีโควตาให้ 150 ตู้ วันเดียวจอง 100 กว่าตู้

การที่ตู้ติดค้างที่ด่านทำให้ระบบหมุนเวียนตู้ขาดแคลน รวมทั้งระบบการขนส่งทางเรือยังคงมีปัญหาตู้ขาดแคลน ราคาตู้ปรับจาก 700-800 เหรียญสหรัฐ เป็น 3,000 เหรียญสหรัฐ และเดือนธ.ค.7,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนการขนส่งทางเครื่องบินค่าขนส่งตู้ละ 1.2 ล้านบาท คุ้มทุนสำหรับผลไม้เกรดพรีเมี่ยม ปัญหาการขนส่งดังกล่าว สวพ. ร่วมกับ 11สมาคม เสนอให้ภาครัฐ นำไปเจรจาผ่อนปรนขอเปิดช่องขนส่งผัก-ผลไม้ GREEN WAY ซึ่งไทย-จีนเคยมีแนวทางมาแล้ว

ตอนนี้ทุเรียนภาคใต้ ลำไยเหลือน้อยลงส่งออกแค่วันละ 100 กว่าตู้ ยังส่งออกยากผู้ประกอบการส่งออกขาดทุนหนัก ต่อไปทุเรียนส่งออกวันละหลาย 100 ตู้ มูลค่าตู้ละ 4-5 ล้านบาทจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ภายใน 2 เดือนนี้ เมื่อฝ่ายไทยมีการเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการตรวจโควิด-19 ทุเรียนอย่างเข้มงวดก่อนที่จะส่งออก

น่าจะเป็นข้อเสนอให้ภาครัฐไทยไปเจรจาทางการจีนขอผ่อนปรนขอเปิดช่องขนส่งผัก-ผลไม้ GREEN WAYเพื่อลดความเสียหาย และขอให้จีนแจ้งมาตรการตรวจป้องกันโควิดที่เป็นมาตรฐานชัดเจน เพื่อให้นำมาปฏิบัติเหมือนกันทุกด่าน ส่วนด่านรถไฟผิงเสียงที่จะเปิดให้นั้น ทางการจีนได้แจ้งผู้ประกอบการไว้แต่แรกกำหนดเปิด 14 วัน ปิด 14 วัน แต่มาตรการเข้มเหมือนเดิม คือ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะระงับการส่งออกชั่วคราวและมีการตรวจสอบ (Audit) สวนและล้ง

“ตอนนี้ตู้ที่ติดที่ด่านต่าง ๆ เป็นเวลานานจะไปใช้ด่านรถไฟผิงเสียงที่เปิดให้จองได้ 150 ตู้ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทันทีประมาณ 160,000 บาท การจองต้องจ่ายเงินล่วงหน้า เปิดวันเดียวจองไปแล้ว 100 ตู้ ทางบกยังคงมีความสำคัญและยังเป็นปัญหาหนักที่ต้องใช้การเจรจาแก้ไขในระดับรัฐบาล” นายมณฑลกล่าว

ส่องโอกาส…ท่าเทียบเรือคลองใหญ่ ตราด

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด ที่มีแนวคิดจะใช้เป็นท่าเรือขนส่งผลไม้ภาคตะวันออก ขนาดเล็ก 500 ตันกรอส ระดับน้ำลึก 5 เมตร ที่ผ่านมาออกแบบมาใช้เป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า เพื่อการท่องเที่ยว การประมง สร้างเสร็จปี 2558 ระยะเวลา 5 ปีแล้วยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะกรมธนารักษ์ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยบริหาร แต่ยังไม่มีใครเช่า ดังนั้นควรผลักดันการขนส่งผลไม้ทางเรือ เป็นเส้นทางขนส่งผลไม้โดยตรงที่ไม่ผ่านประเทศที่สาม

“กรมเจ้าท่าลงทุนไปแล้วถึง1,200 ล้านบาท ภาครัฐต้องยอมเสียงบประมาณ เพิ่มประมาณ 200-300 ล้านบาท เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะผลไม้ภาคตะวันออกสามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 100,000 กว่าล้านบาท ถือว่าคุ้มค่า เพราะผู้ประกอบการขนส่งให้ความสนใจเส้นทางนี้ สามารถเดินเรือชายฝั่งขนส่งทุเรียนไปท่าเรือฮ่องกง ไหหลำได้ แต่ต้องระดับรัฐบาลที่จะส่งเสริมทั้งงบประมาณสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ และการแก้ไขกฎระเบียบปรับโครงสร้าง และการเจรจาระหว่างประเทศ

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ กล่าวทิ้งท้ายว่าการพัฒนาท่าเทียบเรือคลองใหญ่ เป็นเส้นทางขนส่งการค้าโดยตรงไม่ต้องผ่านประเทศที่สาม ซึ่งเป็นการเสียค่าใช้จ่ายที่สูงปัจจุบันต้องจ่ายถึง 10,000-20,000 หยวนเพื่อเข้าช่องทางด่วน เป็นช่องทางเพิ่มขึ้นจากท่าเรือแหลมฉบังและทางเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ

แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยตอนนี้ แต่อนาคตไทยต้องเสียเปรียบประเทศลาว เวียดนามที่ทำการค้าโดยตรงกับจีน โดยเฉพาะปี 2565 เวียดนามจะสามารถนำทุเรียนผลสดเข้าจีนเหมือนไทย รัฐบาลน่าจะนำรายได้ส่งออกทุเรียนเป็นแสนล้านบาท มาพัฒนาเส้นทางขนส่งไทย-ประเทศคู่ค้าโดยตรง