จีนตั้งการ์ดสูงกันโควิด ตรวจยิบทุเรียนไทย 7 แสนตัน เข้มข้นทุกด่าน

จีนตั้งการ์ดสูงป้องกันโควิด-19 ตรวจยิบทุเรียนไทย 7 แสนตัน เข้มข้นทุกด่าน

นางอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุลผ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ทุกมณฑลจีนต้องถือปฏิบัติคุมเข้มทุกด่าน

ตรวจเข้มผลไม้ทุกชนิดไม่มีศัตรูพืช สารตกค้าง และตรวจโควิด-19 โดยสวอปเก็บเชื้อแบบ RT-PCR หากพบผลบวกไม่ว่าเชื้อเป็นหรือเชื้อตายจะสั่งล็อกดาวน์บริเวณด่านนาน 14 วัน ถ้าเจอครั้งที่ 1 พัก 7 วัน หลายครั้งนานเป็นเดือน และอาจจะระงับการนำเข้า หากตรวจสินค้าแช่แข็งผ่านจากด่านชายแดนแล้วต้องมีการตรวจที่ตลาดอีกครั้ง และมีใบรับรองว่าพ่นฆ่าเชื้อก่อนจำหน่าย

ทุกฝ่ายต้องจริงจังการป้องกันโควิด-19 คนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอาจจะมีเชื้ออยู่แต่ไม่แสดงอาการ และสินค้าแช่เย็น แช่แข็งเชื้อจะอยู่ได้นาน ก่อนโควิดด่านทางบกใช้เวลาตรวจ 2-3 วัน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 15 วัน ด่านรถไฟผิงเสียงจะเปิด 14 วัน ปิด 14 วัน เพราะเจ้าหน้าที่พักกลับบ้านต้องถูกกักตัว เมื่อด่านหลัก ๆ จะปิด ด่านตงซินที่เพิ่งเปิด รถขนส่งจะย้ายมามาก ตู้ก็ตกค้างขาดแคลน ส่วนทางเครื่องบินจีนก็ยังปิดประเทศเที่ยวบินน้อยมาก ราคาขนส่งสูงถึง 3-4 เท่าตัว ซึ่งไทยต้องปรับตัวป้องกันเชื้อโควิดอย่างเข้มงวด

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาสำคัญจากมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ของจีน และปริมาณทุเรียนภาคตะวันออกที่เพิ่มขึ้น มีปริมาณ 720,000 ตัน จึงเตรียมดำเนินการ 5 เรื่องหลัก คือ 1) คุณภาพทุเรียน ทุเรียนอ่อนยังเป็นปัญหาเรื้อรังได้ใช้แนวทางเข้มข้นปี 2564 ที่ควบคุมได้ดี 2) ปัญหาโรคพืชและแมลง ปี 2564 จีนแจ้งการตรวจพบเพลี้ยแป้งในทุเรียนภาคตะวันออก 28 ชิปเมนต์

3) การป้องการเชื้อโควิด-19จีนมีมาตรการเข้มข้น มีตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในลำไย และระงับการส่งออก ส่งเจ้าหน้าที่จีนมาตรวจสอบ (audit) โรงคัดบรรจุและสวน 4) ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนที่เกิดจากระบบขนส่งติดที่ด่านชายแดนจีน และตู้ส่งทางเรือไม่เพียงพอ และ 5) ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

“สวพ.6 ได้ร่วมกับ 7 สมาคมภาคการเกษตรและผู้ประกอบการ เตรียมทำมาตรฐานป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ร่วมกันอย่างจริง มีระบบการจัดการตั้งแต่ในสวน (มี GAP) โรงคัดบรรจุ (GMP) สมาคมต่าง ๆ จะช่วยกันจัดทำคลิป เอกสารประชาสัมพันธ์ ทั้งภายในและจีน

และสมาคมทุเรียนไทยได้จดทะเบียนสื่อออนไลน์กับเว่ยป๋อ (Weibo) ของจีน ซึ่งโรงคัด บรรจุทุกแห่งต้องมีห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ตรวจสอบศัตรูพืช และมีพนักงาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบศัตรูพืชประจำห้องปฏิบัติการที่ผ่านการฝึกอบรมและได้ใบรับรองเพื่อใช้ประกอบการ audit จากจีน โดยไม่แจ้งล่วงหน้า หากตรวจพบเชื้อปะปนเข้าไปโรงคัดบรรจุจะถูกแบนทันที ครั้งแรก 7 วัน หลายครั้งจะถูกระงับการส่งออก ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานและป้องกันการแพร่เชื้อมีแนวทางบรรจุทุเรียน มังคุดในโรงคัดบรรจุของสวน ซึ่งแรงงานที่ใช้หมุนเวียนกันอาจมีการแพร่เชื้อได้

และปัญหาจากการที่ตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอเพราะขนส่งไปติดที่ด่าน และตู้ที่ขนส่งทางเรือมีไม่เพียงพอกระทบอย่างรุนแรง ต้องแก้ไขในระดับภาครัฐ ล่าสุดบริษัทส่งออกรายใหญ่เคยเก็บลำไยวันละ 50,000 ตะกร้า ต้องลดเก็บวันละ 20,000 ตะกร้า” นายชลธีกล่าว