จันท์ชงออกกฎสกัดโควิดลำไย จีนพบเพลี้ยแป้ง 46 ชิปเมนต์หวั่นถูกแบน

ลำไย

ชงผู้ว่าฯจันทบุรีออกกฎหมายคุมเข้มคุณภาพลำไย ย้ำจีนยังเน้น ZERO COVID-19 เร่งกำจัดเพลี้ยแป้ง ล่าสุดจีนแจ้งพบเพลี้ยแป้งอีก 46 ชิปเมนต์ หวั่นล้ง-สวนถูกสั่งแบน

นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (จันทบุรี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังการหารือกับตัวแทนชาวสวนลำไย โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ผู้นำสหกรณ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า ผลผลิตลำไยภาคตะวันออก 8 จังหวัด ปี 2564 มีผลผลิตรวม 579,828 ตัน แบ่งเป็นจันทบุรี มีผลผลิต 466,467 ตัน ส่งออกจีน 296,475 ตัน

แต่ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาอุปสรรคทั้งมาตรการ Zero-COVID เพลี้ยแป้งและสารพิษตกค้าง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน และปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนลำไยแทบไม่มีรายได้ และไม่มีต้นทุนการผลิต จึงได้หารือกันเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ลำไยที่จะเข้าสู่ฤดูกาลเดือนกรกฎาคม 2565

โดยนำโมเดลของทุเรียน มังคุดมาใช้ โดยเฉพาะมาตรการป้องกันโควิด-19 เพลี้ยแป้ง การพัฒนาคุณภาพและการซื้อขายที่เป็นธรรม 7 ประการ ได้แก่ 1) โรงคัดบรรจุลำไยภาคตะวันออกทั้งหมด 96 แห่ง ต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน มีมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามแนวทาง GMP Plus ของกรมวิชาการเกษตร 2) สวพ.6 กรมวิชาการเกษตรจะผนึกกำลังร่วมกับเกษตรจังหวัดจันทบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร และเครือข่ายสหกรณ์จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อพัฒนาการผลิตลำไยคุณภาพส่งออก 3) ปัญหาปัจจัยการผลิตลำไยราคาสูง พาณิชย์จังหวัดจันทบุรีจะร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์และสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี ช่วยให้ชาวสวนเข้าถึงโครงการลดราคาปัจจัยการผลิตของกรมการค้าภายใน

4) ปัญหาการซื้อ-ขายลำไยที่ไม่เป็นธรรม มีข้อตกลงร่วมกันเบื้องต้นระหว่างผู้ประกอบการและสมาคมชาวสวนลำไย แยกซื้อเบอร์ 1-3 กับเบอร์ 4 และลูกร่วง การซื้อต้องจบที่สวน 5) การควบคุมเพลี้ยแป้งจะดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้ความรู้และเน้นย้ำมาตรการป้องกันในสวน

6) การควบคุมการใช้ใบรับรอง GAP จากเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ได้การรับรอง GAP ในเขตภาคตะวันออก เป็นจำนวนเกือบ 100% จันทบุรีมี GAP 15,263 แปลง 12,042 ราย 283,257.63 ไร่ คาดว่าผลผลิตลำไยที่ได้รับการรับรอง GAP เพียงพอที่จะส่งออก ลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิได้ และ 7) แนวทางแก้ไขปัญหาแรงงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา ใช้โมเดลเหมือนปีก่อน ปัญหาแรงงานจะผ่อนคลายมากขึ้น

“ปัญหาที่แก้ไขในระดับจังหวัดจะนำเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศ คำสั่ง แนวทางเดียวกับทุเรียนและมังคุด เช่น มาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ มาตรการการตรวจ ATK สำหรับผู้ประกอบการและแรงงาน การปิดป้ายแสดงราคารับซื้อผลไม้ให้เห็นอย่างชัดเจน ส่วนสัญญาการซื้อขายจังหวัดมีคณะทำงานอยู่แล้ว พร้อมที่จะดำเนินการ”

“เรื่องการควบคุมเพลี้ยแป้ง สวพ.6 จะร่วมดำเนินการกับด่านตรวจพืชจันทบุรี เข้าดำเนินการสุ่มตรวจสอบศัตรูพืชเพลี้ยแป้งอย่างเข้มข้นในโรงคัดบรรจุ มาตรการต่าง ๆ นี้จะมีประชุมร่วมกับตัวแทนผู้ส่งออก (ชิปปิ้ง) และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้” นายชลธีกล่าว

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกลำไย เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาได้รับแจ้งข่าวว่าจีนตรวจพบเพลี้ยแป้งจากลำไยไทย 46 ชิปเมนต์ ตรวจสอบแล้วเป็นของจันทบุรี 2 ชิปเมนต์ และมีสารกำมะถันตกค้าง 1 ชิปเมนต์ จากที่เคยแจ้งเตือนมาครั้งก่อน 66 ชิปเมนต์ และมีการแจ้งระงับโรงคัดบรรจุที่จันทบุรี 20 กว่าแห่ง จึงให้ปรับแก้ไขจึงต้องเข้มงวดและให้ความรู้เกษตรกรเพื่อไม่ให้จีนขาดความเชื่อมั่น

ด้านนางสาววรกัญญา ปัญญาประเสริฐกิจ กรรมการสมาคมผู้ค้าและส่งออกลำไย จ.จันทบุรี และผู้ประกอบการส่งออกล้งลำไยรัตนา อ.สอยดาว จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การผลิตลำไยของเกษตรกร จ.จันทบุรี ปีนี้น่าจะลดลงประมาณ 50% เพราะล้งและเกษตรกรประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักในปีที่ผ่านมา ราคาซื้อขายจึงไม่น่าจะสูงนัก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30-32 บาท จะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนใหญ่ล้งจะซื้อลำไยเมื่อมีเม็ดแล้ว

ส่วนปัญหาการขนส่งลำไยยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากทางบกที่เข้าได้สะดวกตอนนี้มีเพียงด่านเดียวคือ ด่านบ่อเต็น แม้ว่าปริมาณลำไยจะลดลงไปเหลือ 200,000 ตัน จะขนส่งผ่านด่านเดียวปริมาณมาก ๆ เป็นไปไม่ได้แน่นอน ส่วนทางเรือยังมีปัญหาทั้งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุลำไยหายากและราคาแพง และมีการดีเลย์อาจจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 7-15 วัน เพิ่มอีกครั้งละ 1-2 สัปดาห์ ทำให้ผลผลิตเสียหาย เพราะลำไยอยู่ได้ไม่เกิน 15 วัน

หากเส้นทางรถไฟลาว-จีนเดินรถได้จริงเดือนกรกฎาคมจะเป็นช่องทางช่วยในการขนส่งได้ แต่คาดหวังไว้เพียง 80% เพราะจำนวนตู้ขบวนรถไฟที่ขนส่ง 140 ตู้/วัน จะมีโควตาของผลไม้หรือไม่ จำนวนเท่าไร ยังไม่มีความชัดเจน

นายอำนาจ จันทรส นายกสมาคมชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 ราคาลำไยตกต่ำขาดทุนหนักในรอบ 20 ปี ทำให้ตอนนี้เกษตรกร 60-70% ขาดเงินทุนในการซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรต ซึ่งเป็นสารเร่งสำคัญที่ใช้บังคับในการออกผลผลิตของลำไยนอกฤดูตามกรอบเวลา ถ้าราดสารรุ่น 1 ผลผลิตออกเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ราคาล้งรับซื้ออยู่ที่ กก.ละ 32 บาท

รุ่นต่อไปเดือนสิงหาคมผลผลิตออกปลายธันวาคม ไม่เกินวันที่ 10 มกราคม 2566 ล้งรับซื้อ 40 บาท เป็นช่วงตรุษจีนที่ขายได้ราคา ดังนั้น เกษตรกรอยากขอให้ภาครัฐช่วยจัดหางบประมาณมาเยียวยาเป็นเงินทุนซื้อปุ๋ยและสารราดโพแทสเซียมคลอเรตให้ทันเดือนสิงหาคม ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่เหมือนปีที่ผ่านมา

เพราะต้นทุนการผลิตที่เคยประมาณการไว้ กก.ละ 16-17 บาท ตอนนี้น่าจะทะลุไป 20 บาท หากไม่ได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร 50% ไม่มีทุนทำลำไยนอกฤดูในปีนี้ บางทีอาจจะต้องลดการผลิตลงจาก 25 ไร่ เหลือ 10 ไร่ ให้พอมีขายให้ล้ง

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า 15 ประเทศที่ไทยส่งออกลำไยไปมากที่สุด ในปี 2564 ลำไยสด คิดเป็นมูลค่า 23,061.59 ล้านบาท ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ส่งออกลำไยอบแห้ง คิดเป็นมูลค่า 7,411.57 ล้านบาท ส่งออกลำไยกระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 673.81 ล้านบาท ส่งออกลำไยแช่เย็นแช่แข็ง คิดเป็นมูลค่า 9.16 ล้านบาท