กรมชลประทาน ทุ่มงบฯ “อ่างเก็บน้ำแม่พวก” แก้น้ำท่วม-แล้ง จ.แพร่

อ่างเก็บน้ำแม่พวก จ.แพร่

จากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดแพร่ ถือเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มักประสบปัญหาแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งบ่อยครั้ง

ในลุ่มแม่น้ำยมซึ่งเป็นลำน้ำที่สำคัญที่สุดของจังหวัด โดยเฉพาะอำเภอเด่นชัย ที่ไม่มีอ่างกักเก็บน้ำขนาดกลางไว้ใช้ในช่วงฤดูฝนหลากและหน้าแล้ง ส่งผลให้เกษตรได้รับผลกระทบหนัก กรมชลประทานจึงได้สำรวจออกแบบโครงการอ่างเก็บน้ำแม่พวกเพื่อแก้ปัญหานี้

“เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้วางแผนและศึกษาหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งด้านอุปโภค การเกษตร และสร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยได้จัดทำโครงการ “อ่างเก็บน้ำแม่พวก” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 9,220 ไร่

ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำแม่พวกอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมวงเงินงบประมาณการก่อสร้าง 600 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปีงบประมาณ 2567

“พิเชษฐ รัตนปราสาทกุล” ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กล่าวว่า สภาพปัญหาที่พบในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงอยู่ในอำเภอเด่นชัย ส่วนที่เป็นปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องเพราะขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน

จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เป็นการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน ส่วนปัญหาอุทกภัยแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ 1.เป็นลักษณะของน้ำป่าไหลหลาก 2.เป็นลักษณะของน้ำไหลล้นจากแม่น้ำและไหลเข้าท่วมพื้นที่ 3.เกิดน้ำท่วมจากทั้งสองลักษณะ

พิเชษฐ รัตนปราสาทกุล

“อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ในข้อมูลเบื้องต้นยังไม่มีส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่ผ่านมาประชาชนได้รับผลกระทบทั้งช่วงภัยและหน้าฝน จึงเกิดเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำแม่พวก สามารถกักเก็บปริมาณน้ำได้สูงสุด 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและควบคุมปริมาณน้ำท่าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ตลอดทั้งปี กรมชลฯได้ตั้งแผนไว้ว่าหากได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง ผลประโยชน์ที่ได้รับคือ ประชาชนในพื้นที่จะมีน้ำใช้ในหน้าแล้งและบรรเทาอุทกภัยในหน้าฝน รวมถึงเพิ่มที่การเกษตร และทำอาชีพประมง รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคต”

ทั้งนี้ การดำเนินการอ่างเก็บน้ำแม่พวก เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม อย่างที่ทราบอ่างเก็บน้ำแม่พวกเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งแม่น้ำยมไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถควบคุมได้ ทางกรมชลฯทำการศึกษาตอนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม

อ่างเก็บน้ำแม่พวก จ.แพร่

เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการสำรวจออกแบบและได้รับการอนุมัติดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อม จะสู่ขั้นตอนการของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่พวก เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และถือว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสาขาในพื้นที่

สำหรับโครงการจะตั้งอยู่ที่หมู่ 7 บ้านช่วงบุก ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ จากการฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่พบว่า จังหวัดแพร่เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการปลูกไม้ผล

ถ้ามีโครงการปลูกป่าทดแทนกรมชลประทานสามารถใช้ไม้ผลมาสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ หรือขอให้ช่วยทำโครงการโดยเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้ได้รับงบประมาณของปี 2567 หลังจากก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วต้องการให้ดำเนินการปรับปรุงฝายด้านท้ายอ่างด้วย ตั้งแต่ ต.ห้วยไร่ถึง ต.เด่นชัย สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในโอกาสต่อไป

“สุชัญญา เสนาใจ” ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ บอกว่า ที่ผ่านมาช่วงฤดูฝนพื้นที่ดังกล่าวจะประสบปัญหาน้ำท่วมและไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ส่วนช่วงฤดูแล้วก็แล้งจัดเพราะว่าไม่มีอ่างกักเก็บน้ำ ถ้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่พวกก่อสร้างแล้วเสร็จ ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ทั้งในเรื่องของน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ที่มีการเพาะปลูกมะไฟ ลองกอง ลางสาด ทุเรียน ส้มโอ ฯลฯ

รวมถึงส่งผลดีต่อลุ่มน้ำสาขาที่ประชาชนอำเภอเด่นชัยใช้น้ำจากลุ่มแม่น้ำยม อีกทั้งสามารถปล่อยไปยังการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอเด่นชัย ทำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้ตลอดปี

ขณะเดียวกันพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่พวกสามารถผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระบบนิเวศทางธรรมชาติ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

“อาทิตย์ เจริญสถาพร”สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการอ่างเก็บน้ำเป็นอย่างมาก เพราะช่วงหน้าฝนเกิดปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซาก งบประมาณที่ใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาในแต่ละครั้งไม่เพียงพอ เพราะอยู่ในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร ส่วนช่วงหน้าแล้งก็ประสบภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน จึงอยากให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำให้เร็วที่สุด อีกทั้งถ้ามีอ่างแล้วก็อยากจะผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวนำรายได้เข้าสู่ชุมชนต่อไป