วงการ “อุปกรณ์การแพทย์” ระส่ำ “จีน” ห้ามโรงพยาบาลซื้อของต่างชาติ

เครื่องมือแพทย์
คอลัมน์ : Market Move

ขณะนี้บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์อย่าง เครื่อง MRI เครื่อง CT สแกน เครื่องเอกซเรย์ ไปจนถึงกล้องส่องภายใน กำลังต้องเผชิญการตัดสินใจครั้งสำคัญ หลังรัฐบาลท้องถิ่นในหลายมณฑลของจีนส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ให้ใช้งานอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์แล็บ เฉพาะที่ผลิตในประเทศจีนเท่านั้น

เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างชาติทุกราย เนื่องจากอาจต้องเลือกว่าจะต้องลงทุนตั้งโรงงานในจีน และเสี่ยงที่จะสูญเสียเทคโนโลยีที่เป็นความลับทางการค้า หรือถอนตัวออกจากตลาดแดนมังกร

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานถึงเหตุการณ์นี้ว่า รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลหูเป่ย์ มณฑลอานฮุย มณฑลชานซี และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ต่างแจ้งโรงพยาบาลในพื้นที่ให้ใช้งานอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์แล็บเฉพาะที่ผลิตในประเทศจีนเท่านั้น

โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตามประกาศภายในของรัฐบาลกลางเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ที่ระบุว่า ต้องการให้โรงพยาบาลในจีนจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ เครื่อง MRI, เครื่อง CT สแกน, เครื่องเอกซเรย์, กล้องส่องภายใน และอื่น ๆ รวมจำนวน 315 รายการ จากผู้ผลิตที่มีฐานในประเทศจีนเท่านั้น

ทั้ง 4 พื้นที่ถือเป็นกลุ่มล่าสุดที่ออกนโยบายตามรัฐบาลกลาง โดยแหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ในเมืองหลักทั้งปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ รวมถึงในมณฑลกวางตุ้ง และอีกหลายพื้นที่ต่างเริ่มจำกัดการจัดซื้ออุปกรณ์จากผู้ผลิตต่างชาติกันแล้ว

แน่นอนว่าการแจ้งเตือนนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา โดยเจ้าหน้าที่จากซิสเมกซ์ (Sysmex) บริษัทอุปกรณ์การแพทย์สัญชาติญี่ปุ่น กล่าวว่า เรื่องนี้จะส่งผลให้ลูกค้าระงับการจัดซื้อสินค้าบางรายการ สอดคล้องกับความเห็นจากผู้ผลิตอีกรายที่ระบุว่า บริษัทตัดสินใจหยุดการเข้าประมูลงานชั่วคราว

ทั้งนี้ ตลาดอุปกรณ์การแพทย์ในแดนมังกรถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามแนวโน้มสังคมสูงวัย โดยสื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า เมื่อปี 2564 ตลาดมีมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับมูลค่าตลาดในสหรัฐอเมริกาแล้ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเท่าตัวในปี 2568 ลำพังการจัดซื้อเครื่อง CT สแกนและเครื่อง MRI ของโรงพยาบาลรัฐมีมูลค่า 3.5 พันล้าน และ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์จะไม่มีการลงทุนตั้งฐานผลิตในจีนเลย โดยที่ผ่านมาหลายบริษัทต่างมีโรงงานในจีน ไม่ว่าจะเป็นซิสเมกซ์ ซึ่งมีโรงงานประกอบอุปกรณ์ตรวจเลือด ในมณฑลชานตง ตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงเพิ่มไลน์การประกอบอุปกรณ์ตรวจปัสสาวะเข้ามาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้านฮิตาชิ ไฮ-เทคโนโลยี ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นอีกราย ตั้งไลน์ประกอบอุปกรณ์ขนาดกลางในที่เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ในปี 2564 หลังเริ่มสายการประกอบอุปกรณ์ขนาดเล็กมา 3 ปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ผู้ผลิตสัญชาติสหรัฐและยุโรปต่างลงทุนในจีนด้วยเช่นกัน โดยสื่อจีนรายงานว่า กลุ่มธุรกิจสุขภาพของ เจเนอรัลอิเล็กทริก หรือจีอี เฮลท์แคร์ ยักษ์อุตสาหกรรมสัญชาติสหรัฐ มีการพัฒนาและผลิตเครื่องซีที สแกนและอุปกรณ์อื่น ๆ ในประเทศจีน เช่นเดียวกับซีเมนส์ เฮลท์ทิเนีย แบรนด์สัญชาติเยอรมนี ที่ประกาศขยายการผลิตในประเทศจีนในฐานะบริษัทจีน ส่วนฟิลิปส์จากเนเธอร์แลนด์มีสายการผลิตเครื่องซีที สแกนและเครื่องเอ็มอาร์ไอในจีนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนไม่ได้ต้องการเพียงโนว์ฮาวด้านการประกอบ แต่ยังต้องการข้อมูลการวิจัย พัฒนา ออกแบบ รวมไปถึงการจัดหาชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย

โดยแผนที่รัฐบาลจีนประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2564 มีการกระตุ้นให้บริษัทต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีของตนในจีน พร้อมวางเป้ายกระดับอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์การแพทย์ของจีนให้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกภายในปี 2578 นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม ได้ประกาศร่างแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ โดยเพิ่มข้อได้เปรียบให้กับสินค้าที่เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศจีน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์กระตุ้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาตินี้ เป็นหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลจีนปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ช่วงปี 2553 ที่รัฐบาลจำกัดการให้บริการของกูเกิลและเฟซบุ๊ก เพื่อกระตุ้นการเติบโตของบริษัทอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีน รวมถึงต่อมาในปี 2561 รัฐบาลยังออกรายชื่อบริษัทและอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ที่รัฐบาลแนะนำ ก่อนที่จะเริ่มจำกัดการจัดซื้ออุปกรณ์จากบริษัทต่างชาติอย่างจริงจังในปี 2563


“จากนี้การออกแบบ พัฒนา และจัดหาชิ้นส่วนสำคัญจากซัพพลายเออร์ในจีนจะกลายเป็นเงื่อนไขบังคับของการทำธุรกิจในจีน” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว