รพ.ธนบุรีเดินหน้าลงทุน ชูดิจิทัลเฮลท์เทครับเทรนด์

รพ.ธนบุรี

รพ.ธนบุรี กางแผนรุกตลาดเฮลท์แคร์ เพิ่มน้ำหนัก digital health tech รับอนาคต เดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจสุขภาพครบวงจรทั้งในไทย-ต่างประเทศ คาดสิ้นปีโต 10%

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี หรือ THG เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ว่า จะมุ่งผนึกความร่วมมือกับ รพ.เครือข่ายและสตาร์ตอัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาสเชื่อมต่อฐานลูกค้าทุกช่วงวัย ทั้งการรักษาพยาบาลและบริการใน รพ. (on site) และบริการผ่านทางออนไลน์ ด้วย digital health tech โดยตั้งเป้าครอบคลุม 3 กลุ่มสำคัญ ประกอบด้วย

กลุ่ม B2C จะมีการนำ digital health tech มาเพิ่มความสะดวกในการตรวจรักษาและบริการ ควบคู่กับความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เป็นจุดขายหลัก, กลุ่ม B2B จะมองหาโอกาสจากหน่วยงานและองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการด้านการแพทย์ให้พนักงาน รวมถึงจับมือกลุ่มบริษัทประกัน กลุ่มสตาร์ตอัพที่ต้องการพาร์ตเนอร์

และกลุ่ม B2G มองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนภาครัฐ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มี บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด รับผิดชอบดูแลธุรกิจบริหารศูนย์หัวใจ 3 แห่ง อาทิ รพ.ธนบุรี 2 ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ รพ.พัทลุง รวมทั้งดูแลธุรกิจความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (PPP) อาทิ การบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต ล่าสุด บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด ในเครือ THG ก็เพิ่งเปิดให้บริการศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด Horizon Rehab Center

ปัจจุบันแม้รายได้หลักธุรกิจเฮลท์แคร์ยังมาจากการตรวจรักษาแบบออนไซต์ แต่จากข้อมูลพบว่าค่าเฉลี่ยผู้ป่วยโรคทั่วไปจะเข้า รพ. ลดลงจาก 4-6 ครั้งต่อปี เหลือ 2-3 ครั้งต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนมีความสนใจ health literacy มากขึ้น ออนไลน์จึงถูกใช้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล นัดหมายก่อนตรวจรักษา ดังนั้นแนวโน้ม digital health tech จะมีความสำคัญมากขึ้น กลุ่ม รพ.ธนบุรีจึงได้ปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นส่วนเสริมของปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพ ล่าสุดได้มีการตั้ง บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด ขึ้นมารับผิดชอบดูแลธุรกิจเทเลเมดิซีนและการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกันก็เร่งสร้างการทำงานร่วมกัน (synergy) ภายในและภายนอกองค์กร โดยภายในองค์กร แบ่งออก 2 ส่วน คือ บุคลากร ต้องมีทักษะความเข้าใจ digital & innovation เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดทำโครงการ THG Common Room และโครงการหลงจู๊ Next ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และสร้างแรงจูงใจดึงคนเก่งเข้ามาร่วมงาน รวมทั้งเรื่องการบริการ ที่เป็นการผนึกความร่วมมือ รพ.เครือข่ายทั่วประเทศ พัฒนา digital health tech อาทิ สร้างการสื่อสาร D2D หรือ doctor to doctor ระหว่างแพทย์แต่ละ รพ. ด้วยเทเลเมดิซีน ซึ่งเริ่มทดลองใช้จริงแล้วระหว่างกลุ่ม รพ.ในกรุงเทพฯ และภาคใต้ รวมถึง รพ.ในเมียนมา

ส่วนภายนอกองค์กร ก็จะมีการจับมือกลุ่มสตาร์ตอัพต่าง ๆ และมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา อาทิ ARJARN MORE แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มอาจารย์แพทย์ เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้ารับคำปรึกษาและการออกแบบแผนการรักษาส่วนบุคคลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจากTumor Board (ทีมสหวิชาชีพฯ) iClaim แพลตฟอร์มช่วยเพิ่มความสะดวกด้านการเคลมประกัน ฯลฯ

สำหรับการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่ THG ลงทุนเอง อาทิ รพ.ธนบุรี รังสิต อยู่ระหว่างการทำรายงาน EIA หรือบริษัทในเครือ ที่จะดูแลการสร้างศูนย์มะเร็ง พร้อมศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัด และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจรที่ปิ่นเกล้า รวมทั้งการขยายธุรกิจด้าน wellness ของ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์ และธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด aging society เป็นต้น โดยภายใน 3 ปี (2566-2568) มีแผนจะลงทุนสร้างตึก OPD เพิ่ม อาทิ รพ.ธนบุรี 1, รพ.ธนบุรี 2, รพ.ราษฎร์ยินดี ฯลฯ คาดว่า 3 ปี จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200 เตียง จากเดิมที่มีอยู่ 1,520 เตียง ใช้งบฯลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท

“จากแผนการดำเนินงานดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสร้างการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2565 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,540 ล้านบาท” นายแพทย์ธนาธิปกล่าว