CRG ตั้งเป้าโกย 1.5 หมื่นล้าน เทงบผุดสาขา-บุกเวียดนาม

ร้านอาหารญี่ปุ่น CRG

CRG กางแผนลงทุน ทุ่ม 1,500 ล้านปูพรม 150 สาขา รับตลาดร้านอาหารฟื้นตัว พร้อมเพิ่มแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ-บุกเวียดนาม ตั้งเป้าโต 20% หลังปีที่ผ่านมายอดขายทะลุ 1.28 หมื่นล้าน

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนขยายสาขาใหม่ ของร้านอาหารแบรนด์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาโมเดลร้านรูปแบบใหม่ การร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบนิเวศ หรือ ecosystem ตลอดจนได้มีการร่วมทุน ซื้อ และควบรวมกิจการ (M&A) ส่งผลให้บริษัทปิดยอดขายปี 2565 มูลค่า 12,800 ล้านบาท จากร้านและจุดจำหน่ายอาหารทั้ง 20 แบรนด์ จำนวนกว่า 1,500 สาขา โดยปี 2566 บริษัทตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 20%

สำหรับภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารปี 2566 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวเต็มที่ จากปัจจัยโควิดคลี่คลาย ผู้บริโภคออกมาจับจ่าย รับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภค และแม้ว่าเทรนด์การบริโภคอาหารภายในร้าน (dine-in) กลับมาคึกคักเติบโต แต่บริการดีลิเวอรี่ สั่งอาหารผ่านออนไลน์ยังขยายตัวได้ในอัตราชะลอลงชั่วคราว

ปีนี้บริษัทได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารสู่ก้าวต่อไปแห่งการเติบโต หรือ The Next Chapter of Growth ผ่าน 5 กลยุทธ์ ที่จะผลักดันการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการเร่งเติมเต็มศักยภาพการเติบโต ด้วยการขยายร้านอาหารสาขาใหม่ โดยเฉพาะแบรนด์ที่โดดเด่นในเครือ เช่น เคเอฟซี ควบคู่บริการเครื่องดื่มอาริกาโตะ อานตี้แอนส์ ส้มตำนัว สลัดแฟคทอรี่ และชินคันเซ็น ซูชิ เน้นเปิดในทำเลห้างค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล โรบินสัน ตลอดจนการเปิดร้านในรูปแบบสแตนด์อะโลน

โดยทั้งปีวางไว้ไม่น้อยกว่า 150 สาขา ใช้งบฯการลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็น QSR อีก 20 สาขา จากเดิม 319 สาขา heavy food อีก 30 สาขา จากเดิม 357 สาขา light food อีก 30 สาขา จากเดิม 678 สาขา และ beverage/dessert อีก 70 สาขา จากเดิม 212 สาขา ขณะเดียวกัน ก็จะมีการออกเมนูใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการบริโภค ด้วยการพัฒนาสินค้ากลุ่มพร้อมรับประทาน (ready to eat : RTE) ผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง เช่น ซอส เป็นต้น

“กลยุทธ์เร่งการเติบโตจะมาจาก 2 ส่วนคือ เดินหน้าลงทุนเปิดร้าน หรือขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น และการทำให้ยอดขายในร้านเดิมขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเราคาดว่าจะขยายตัวขึ้นประมาณ 8-10%”

ขณะเดียวกัน ก็จะมีการสร้างธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตใน 2 มิติ ด้วยการมองหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ หลังจากที่ปี 2565 ได้มีการนำ 3 แบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ อาทิ ราเมน คาเกทสึ อาราชิ, ชินคันเซ็น ซูชิ และนักล่าหมูกระทะ ตามแผนวางเป้าหมายจะเพิ่ม 1-2 แบรนด์ต่อปี รวมทั้งการขยายโอกาสสู่ตลาดใหม่ในประเทศเวียดนาม หลังจากช่วงโควิด-19 ระบาดบริษัทจึงชะลอแผนออกไป

นอกจากนี้ ซีอาร์จียังได้นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหารมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มนำร่องในบางสาขา เช่น การสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด, การนำหุ่นยนต์มาให้บริการในร้าน, การนำเครื่องมือใช้วิเคราะห์ลูกค้า เพื่อเข้าใจและตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบการเสิร์ฟอาหารผ่านระบบสายพาน เป็นต้น

“ธุรกิจร้านอาหารปีนี้ยังมีความท้าทาย และต้องรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการวางแผนในการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

และจากแผนงาน The Next Chapter of Growth เราเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถก้าวผ่านปัจจัยที่เป็นผลกระทบเหล่านี้ไปได้ และจะสามารถเติบโตแบบแข็งแกร่งได้” นายณัฐกล่าว