เทรนด์ร้านอาหารสดใส แข่งปูพรมสาขา-รับโตแรงกำไรพุ่ง

ร้านอาหาร

จะเรียกว่ากลับมาอยู่โหมดที่เรียกว่า back to growth หรือกลับมาสู่การเติบโตอีกครั้งก็คงไม่ผิดนัก สำหรับภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมาที่กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากโดนพิษโควิด-19 เล่นงานหนักตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (2563-2564)

สะท้อนผลการดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) ที่ล้วนมียอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้น บางรายก็พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร

ยอดขายเพิ่ม-กำไรดีดกลับ

เริ่มจาก “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” เจ้าของร้านอาหารแบรนด์ดัง เอ็มเค สุกี้, ยาโยอิ, แหลมเจริญซีฟู้ด ที่รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% จากปี 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 998% หรือจาก 131 ล้านบาท เมื่อปี 2564 เป็น 1,439 ล้านบาท ในปี 2565

ไม่ต่างจาก “เซ็น กรุ๊ป” หรือเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น เรสเตอร์รอง ร้านอาหารสไตล์โตเกียวคาเฟ่ ออน เดอะ เทเบิ้ล บุปเฟต์ปิ้งย่าง อากะ แบรนด์อาหารอีสาน ตำมั่ว แบรนด์อาหารเวียดนามและอีสานลาวญวน ฯลฯ ที่มีร้านอาหารดูแลมากกว่า 345 สาขา รายได้เพิ่มขึ้น 51% หรือ 3,413 ล้านบาท จาก 2,255 ล้านบาท และกำไร 172 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุน 89 ล้านบาท

ร้านอาหาร ร้านอาหาร

ขณะที่ “เอส แอนด์ พี ซินดิเคท” ผู้บริหารร้านเอสแอนด์พี เรสเตอรอง, เอสแอนด์พี เบเกอรี่ช้อป, เอสแอนด์พี เดลต้า ฯลฯ ที่มีร้านในความดูแลมากกว่า 470 สาขา ก็มีรายได้เพิ่มเป็น 5,712 ล้านบาท จาก 4,817 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 895 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 19% กำไรสุทธิ 460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%

เช่นเดียวกับ “ไมเนอร์ ฟู้ด” บริษัทในเครือ ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของร้านอาหารแบรนด์ดัง อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์ คิง, บอน ชอน เป็นต้น ที่มีเครือข่ายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมมากกว่า 2,700 สาขา ที่ยอดขายรวมเติบโต 20.1%

รวมถึง “มัด แอนด์ ฮาวด์” หรือชื่อเดิม “มัดแมน” เจ้าของร้านอาหาร-เครื่องดื่ม เกรฮาวด์ ออริจินัล, เกรฮาวด์ คาเฟ่, อนาเตอร์ฮาวด์ คาเฟ่ และผู้ถือกรรมสิทธิ์แฟรนไชส์ โอ บอง แปง เบเกอรี่ คาเฟ ดังกิ้นโดนัท มีเครือข่ายสาขาทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 476 สาขา ก็มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมามีรายได้ถึง 3,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 852 ล้านบาท จากปี 2564 หรือเติบโต 36.8% กำไร 4 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุน 111 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

และ “อาฟเตอร์ ยู” ร้านขนมหวานชื่อดังที่มีสาขามากกว่า 150 สาขา (รวมร้านกาแฟมิกก้า) ที่รายได้ปี 2565 เท่ากับ 938 ล้านบาท จาก 620 ล้านบาท เมื่อปี 2564 หรือเติบโต 51% และมีกำไร 118 ล้านบาท จาก 54 ล้านบาท เมื่อปี 2564

ไดน์อิน-ดีลิเวอรี่ เติบโตดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลการดำเนินงานที่เติบโตดังกล่าว ผู้ประกอบการทุกค่ายต่างชี้แจงเหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยหลัก ๆ มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ กลับมาจับจ่ายและทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคักและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และในช่วงเดือน 2 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.พ.) รายได้ของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารก็ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังเติบโตเป็นดับเบิลดิจิต

“ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป ระบุว่า ขณะนี้ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารจะเป็นในลักษณะที่เป็น V-shape recovery การฟื้นตัวค่อนข้างเด่นชัด

จากนี้ไปจะได้เห็นการกลับมาของการนั่งรับประทานอาหารในร้าน หรือ dine-in ที่จะกลับมาเติบโตมากขึ้น ขณะนี้ภาพรวมการจับจ่ายเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับ “วิทูร ศิลาอ่อน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาถือว่าเอสแอนด์พีมีกำไรมากที่สุดในรอบ 5 ปี ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของการรับประทานที่ร้าน หรือ dine-in ที่เพิ่มขึ้น 77% จากการฟื้นตัวกลับมาในทุกสาขาโดยเฉพาะจากร้านในศูนย์การค้าและไฮเปอรมาร์เก็ต ขณะที่ซื้อกลับบ้านเพิ่มขึ้น 9% และในส่วนของดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 24% ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมายอดขายโต 10% ในทุกช่องทาง

ขณะที่ “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเซ็น กรุ๊ป ย้ำว่า ปีที่ผ่านมาธุรกิจในเครือเติบโตกว่า 51% ทำรายได้ไปถึง 3,413 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ปัจจัยหลักมาจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย รวมทั้งมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้การนั่งกินในร้านค่อย ๆ ทยอยกลับมา และทำให้ยอดขายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กางแผนลุย-ปูพรมสาขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลการดำเนินงานที่เติบโตและมีแนวโน้มดีขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการทุกค่ายต่างประกาศจะทยอยลงทุนเพิ่มเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น ไมเนอร์ฟู้ด ที่ตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2025 จะมีจำนวนร้านอาหารมากกว่า 3,400 ร้าน จากตอนนี้ที่มีร้านอาหารในเครือมากกว่า 2,500 ร้านอาหาร

ขณะที่เซ็น กรุ๊ป ประกาศแผนการขยายสาขาเพิ่มอีก 90 สาขา มีทั้งที่บริษัทลงทุนเองและแฟรนไชส์ รวมทั้งยังมองหาตลาดใหม่ และมีแผนจะผลักดันแบรนด์ตำมั่ว และเขียง ออกไปในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างการเติบโต

ขณะที่เอสแอนด์พีก็จะเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 35 แห่ง และจะทยอยรีโนเวตสาขาต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนจะนำโรบอตเข้ามาให้บริการในร้านด้วย

ส่วนอาฟเตอร์ ยู ก็กางแผนจะกลับมาลงทุนเปิดสาขาเพิ่มต่อเนื่อง ตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยภายในกลางปี 2566 จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 8 สาขา เป็นร้านในกรุงเทพฯ 7 สาขา และต่างจังหวัด 1 สาขา ในจำนวนนี้เป็นร้านขนมหวาน 3 สาขา และ AU Marketplace 5 สาขา จากเดิมที่มีสาขารวมกว่า 51 สาขา และขยายการออกบูท หรือรูปแบบสาขาที่เรียกว่า พ็อปอัพสโตร์ ต่อเนื่อง

ยังไม่นับรวมถึงการขยายสาขาร้านกาแฟมิกก้า ทั้งที่บริษัทลงทุนเปิดเองอีก 4-5 สาขา จากเดิมที่มีอยู่ 10 สาขา และการขายแฟรนไชส์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 150 สาขา จากเดิมที่มีอยู่ 109 สาขา เช่นเดียวกับร้านขายผลไม้ลูกก๊อ ที่จะเน้นไปในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล จากเดิมที่มี 5 สาขา

“ขาดคน-ต้นทุนเพิ่ม” โจทย์ใหญ่

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหลายรายต่างยอมรับว่า ขณะนี้แม้ภาพรวมของธุรกิจอาหารจะกำลังกลับมาเติบโตและอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาตามมาก็คือ เรื่องของบุคลากร โดยเฉพาะพนักงานบริการในร้าน นอกจากจะหายากแล้ว ยังมีการเทิร์นโอเวอร์สูง และมีการแข่งขันแย่งตัวกันมากขึ้น หลาย ๆ บริษัทจึงมีการประกาศรับสมัครพนักงานใหม่ ๆ เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งการประกาศรับสมัครผ่านบริษัทจัดหางาน และเว็บไซต์ของบริษัท หากสังเกตจะเห็นว่าตอนนี้หลาย ๆ ค่ายต้องหันมาใช้โรบอต หรือหุ่นยนต์เข้ามาให้บริการ และสาขาที่เปิดให้บริการตามศูนย์การค้า ในย่านธุรกิจ ซีบีดี ก็จะหาพนักงานยาก เพราะค่าครองชีพสูง ทั้งค่าอาหารและค่าเดินทางเข้ามาเป็นตัวแปร

“นอกจากนี้ เรื่องพนักงานเสิร์ฟแล้ว ธุรกิจร้านอาหารยังมีปัญหาต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบและค่าพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าเช่าพื้นที่ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แน่นอนว่าทางออกส่วนหนึ่งของปัญหาต้นทุนก็คือ การปรับขึ้นราคาอาหาร เพื่อชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็จะต้องเน้นการบริหารการจัดการที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อควบคุมและลดต้นทุน การพัฒนาเมนูเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การมองหาหรือขยับขยายสาขาออกไปในเมืองรอง ๆ มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนค่าเช่า เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะตามมาก็คือ การแข่งขันทางการตลาดที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยกิจกรรมทางการตลาด และแคมเปญโปรโมชั่นเพื่อจูงใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ