ร้านอาหารวิกฤตไม่จบ เวิร์กฟรอมโฮมทำลูกค้าหาย

ร้านอาหาร
pexels_com
คอลัมน์​ : Market Move

แม้จะเห็นภาพคึกคักของลูกค้าและนักท่องเที่ยวที่เหมือนจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว แต่ภาคธุรกิจบริการอย่างร้านอาหารและโรงแรมอาจยังไม่พ้นวิกฤตโควิดอย่างแท้จริง เมื่อบรรดาผู้ประกอบร้านอาหารและโรงแรมย่านกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาต่างพบว่า การฟื้นตัวนี้มีปรากฏการณ์ไม่ปกติแฝงอยู่

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ร้านอาหารและโรงแรมในเมืองใหญ่ของสหรัฐอย่างนิวยอร์กและลอสแองเจลิส แอตแลนตา มียอดขายฟื้นกลับมาเฉพาะในวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี หรือเพียง 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น ส่วนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ ที่เป็นจังหวะทำรายได้สำคัญสำหรับธุรกิจกลุ่มนี้นั้น ยอดขายยังคงต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ระบาด

ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่บางแห่งวันจันทร์และศุกร์มีลูกค้าเพียง 1 ใน 4 ของวันอังคาร-พฤหัสบดีเท่านั้น หรือโรงแรมที่วันจันทร์และศุกร์กลุ่มนักธุรกิจเดินทางเข้ามาพักลดลงเช่นกัน จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องรับมือแบบเฉพาะหน้าด้วยการจัดกะการทำงานใหม่ หรือลงทุนทำการตลาดเพิ่มเพื่อดึงดูดลูกค้าในวันจันทร์และวันศุกร์

โดยจากผลการวิจัยของ ดับเบิลยูเอฟเอช รีเสิร์ช ที่สำรวจเกี่ยวกับเทรนด์ในวงการทำงานพบว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานลูกค้าสำคัญของธุรกิจบริการในเขตเมืองใหญ่หายไป เชื่อว่าเป็นผลจากเทรนด์การทำงานแบบยืดหยุ่นที่กำลังมาแรง ซึ่งบริษัทหลายแห่งอนุญาตให้พนักงานสามารถเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ได้

ผลวิจัยของดับเบิลยูเอฟเอช ซึ่งสำรวจช่วง มิ.ย.-พ.ย. 2565 ระบุว่า นโยบายการทำงานจากนอกออฟฟิศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบ 100% หรือบางวันนั้น จะทำให้การจับจ่ายในเขตเมืองลดลงมากถึงระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หลังการจับจ่ายต่อคนในเมืองต่าง ๆ ลดลง ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก ลดลง 4,661 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ลอสแองเจลิสลดลง 4,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และวอชิงตัน ดี.ซี. ลดลง 4,051 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเมืองที่การจับจ่ายลดลงระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน

สอดคล้องกับจำนวนวันที่พนักงานต้องเข้าออฟฟิศซึ่งลดลงเช่นกัน โดยวอชิงตันลดลง 37% แอตแลนตาลดลง 34.9% ฟินิกซ์ลดลง 34.1% โดยธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร การเงินและบริการทางธุรกิจ เป็นกลุ่มที่ใช้นโยบายเวิร์กฟรอมโฮมเยอะที่สุด

“แอนดริว ริกี้” ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจบริการ กรุงนิวยอร์ก กล่าวว่า การมาทำงานในออฟฟิศทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มจับจ่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะช่วงมื้อเช้า มื้อกลางวัน หรือการสังสรรค์หลังเลิกงาน เมื่อเทียบกับการจับจ่ายในร้านอาหารหรือบาร์ใกล้บ้านเมื่อทำงานจากที่บ้าน

ปริมาณการจับจ่ายที่ลดลงนี้ทำให้ร้านอาหารย่านกลางเมืองหลายแห่งต้องตัดสินใจปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ อาทิ เชนร้านสเต๊ก คริส สเต๊กเฮาส์ สาขาเดียวในกรุงแมนฮัตตัน ประกาศปิดกิจการในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับอีกหลายร้านซึ่งรวมถึงร้านอาหารไทย แรนดอม แอคเซส ด้วย

ส่วนคำตอบของคำถามว่า ผู้บริโภคที่หายไปจากย่านใจกลางเมืองไปอยู่ที่ไหนนั้น อยู่ในผลสำรวจของสำนักสถิติแรงงานของสหรัฐที่พบว่า จำนวนผู้บริโภคในย่านชานเมืองเพิ่มขึ้น สวนทางกับย่านใจกลางเมืองที่ลดลง โดยการเพิ่มขึ้นของบริษัทที่ใช้นโยบายทำงานจากนอกออฟฟิศสัมพันธ์กับการลดลงของจำนวนผู้บริโภคในย่านใจกลางเมือง และการลดลงนี้ต่อเนื่องไปถึงการลดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกด้วย โดยจำนวนผู้บริโภคที่ลดลง 10% จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารและที่พักลดพนักงานลง 1.7% ส่วนธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งจะลดคนลง 1.6% ในขณะที่พื้นที่ย่านชานเมืองนั้นมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นแทน และการจ้างงานในพื้นที่ย่านนี้มากขึ้นตามไปด้วย

“มิเชล ดาลตัน” นักวิจัยของสำนักงานอธิบายว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนถึงเทรนด์การเคลื่อนย้ายของประชากรที่ย้ายออกไปจากย่านกลางเมืองไปยังชานเมือง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งงานใหม่สำหรับแรงงานในภาคธุรกิจร้านอาหาร ผับบาร์ และค้าปลีก

ขณะที่ “มาเรีย บาเรโร” ผู้ร่วมก่อตั้งดับเบิลยูเอฟเอช รีเสิร์ช ให้ความเห็นว่า รูปแบบการจับจ่ายที่ย้ายไปยังชานเมืองนี้ สร้างความเสียหายให้กับงบประมาณและสภาพคล่องของเมือง เนื่องจากเมื่อรายได้ของผู้ประกอบการลดลง ภาษีที่เมืองเก็บได้จะน้อยลงไปด้วย เช่นเดียวกับรายได้ของบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น ระบบขนส่งที่ลดลง

ทั้งนี้ แม้แนวโน้มการทำงานจากนอกออฟฟิศจะลดลงต่อเนื่องจาก 29% เมื่อปลายปีที่แล้ว มาเหลือ 27% ในเดือน ม.ค. แต่เชื่อว่าสัดส่วนจะไม่ลดไปต่ำกว่า 25% ซึ่งนับเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ประกอบการในยุคนิวนอร์มอล

โดยผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจบริการ กรุงนิวยอร์ก คาดว่าภาวะเช่นนี้ในระยะยาว ร้านอาหารแบบฟูลเซอร์วิสจะประคองตัวไปได้ดีกว่า เนื่องจากการมีฐานทั้งคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดหรือฟาสต์แคชวล ที่มักมีฐานลูกค้าเป็นพนักงานออฟฟิศ

อย่างไรก็ตาม แม้ร้านอาหารแบบฟูลเซอร์วิสจะได้เปรียบด้านฐานลูกค้า แต่ยังต้องหาทางรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานแทน เพราะพนักงานอาจย้ายไปทำงานในร้านย่านชานเมืองเพราะมีโอกาสได้รายได้และทิปมากกว่า