วิกฤต…แรงงาน ! ปัญหาใหญ่ “ร้านอาหาร-บริการ”

ถึงวันนี้ แม้ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจร้านอาหาร-บริการหลาย ๆ อย่างจะยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติเหมือนเช่นเคย เนื่องจากยังประสบกับปัญหาการขาดแรงงาน เนื่องจากแรงงานจำนวนหนึ่งที่หยุดพักไปหรือกลับไปอยู่ต่างจังหวัดในช่วงโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่กลับมาในระบบ และมีจำนวนไม่น้อยที่ไปประกอบอาชีพใหม่

และอีกด้านหนึ่งก็ทำให้มีการแข่งขันในการแย่งตัวพนักงานมากขึ้น สะท้อนจากภาพการประกาศเปิดรับสมัครพนักงานตำแหน่งต่าง ๆ ผ่านบริษัทจัดหางาน และการปิดป้ายประกาศรับสมัครตามหน้าร้านหรือสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะพนักงานบริการ พนักงานเสิร์ฟ พนักงานในครัว พนักงานชงกาแฟ ฯลฯ ที่มีให้เห็นต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ขณะเดียวกันก็ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายเริ่มกังวลว่าปัญหานี้อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจกลายเป็นปัญหาคอขวดในอนาคตอันใกล้

พนง.หายาก-เทิร์นโอเวอร์สูง

นายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การหาพนักงานยังคงเป็นความท้าทายของธุรกิจอาหารในปี 2566 นี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและท่องเที่ยวทำให้หลายธุรกิจกลับมาต้องการพนักงานพร้อม ๆ กัน ส่งผลต่อการหาพนักงานตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วมีความท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งบริษัทรับมือด้วยการสร้างความร่วมมือกับสถานศึกษาเพื่อเข้าถึงนักศึกษา รวมถึงศึกษาการนำหุ่นยนต์มาใช้ด้านการนำอาหารจากครัวไปยังโต๊ะลูกค้า

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการธุรกิจร้านอาหาร-ร้านกาแฟที่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า วิกฤตแรงงานยังเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมถึงธุรกิจบริการหลาย ๆ อย่าง ตอนนี้นอกจากการรีครูตพนักงานจะทำได้ค่อนข้างยากแล้ว และเมื่อหามาได้ พนักงานก็จะอยู่ไม่นาน และมีการเทิร์นโอเวอร์บ่อย ซึ่งทำให้กระทบกับแผนการขยายสาขาเพิ่ม

เช่นเดียวกับความเห็นของผู้บริหารร้านสะดวกซื้อรายหนึ่งที่ยอมรับว่า ตอนนี้การหาหรือรับสมัครพนักงานประจำร้านทำได้ค่อนข้างยาก และวิธีแก้อย่างหนึ่งก็คือต้องยอมจ้างในราคาที่แพงขึ้นโดยเฉพาะสาขาที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ อาทิ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม นอกจากจะต้องแข่งกับร้านสะดวกซื้อด้วยกันเองแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังต้องแข่งหรือแย่งตัวพนักงานแข่งกับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย ซึ่งก็ต้องแลกด้วยการเสนอเงินเดือนที่สูงกว่าโรงงาน ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบการดูแลหรือสวัสดิการที่จูงใจที่มากพอด้วย

จับมือสถาบันการศึกษาแก้ปัญหา

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ทุกวันนี้ร้านอาหารขาดแรงงานมาก และขาดมานานแล้ว เพราะคนไทยไม่ทำงานประเภทนี้ เนื่องจากอาจจะมองว่าเป็นงานหนักและสกปรก แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า มีร้านอาหารจำนวนหนึ่งมีการใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน ซึ่งเรื่องแบบนี้ร้านที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการหรือร้านเจ้าของร้านอาจจะต้องปรับวิธีคิดและหันมาใช้เครื่องทุ่นแรง หรือเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อชดเชยหรือทดแทนแรงงานคน ขณะเดียวกันก็จะต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนคนเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพการประกาศรับสมัครพนักงานของบรรดาเชนร้านอาหาร ร้านกาแฟต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระบบที่ตัวเลขมีสูงถึง 25-30% เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งที่หยุดงานไปในช่วงโควิด-19 ไม่กลับเข้ามาในระบบ และมีจำนวนไม่น้อยที่หันไปประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ นอกจากปัญหาการขาดแรงงานแล้ว อีกด้านหนึ่งยังพบว่าแรงงานหรือพนักงานที่อยู่ในระบบมีการเทิร์นโอเวอร์ค่อนข้างสูง คือเฉลี่ยประมาณ 10-15% ตอนนี้ดีมานด์ของตลาดแรงงานดังกล่าวจะมีอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ที่ผ่านมา สมาคมได้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อหาทางแก้ไขและบรรเทาปัญหามาเป็นระยะ ๆ รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เพื่อพัฒนาและป้อนบุคลากรเข้าสู่ระบบเป็นระยะ ๆ เช่น การประสานการร่วมมือกับภาคการศึกษา เช่น ทวิภาคี ให้นักศึกษาอาชีวะ ปวส. ปี 2 เข้ามาเรียนรู้การทำงานในสถานประกอบการควบคู่กับการเรียน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ธุรกิจบริการ ธุรกิจค้าปลีก หลาย ๆ รายก็ได้มีการทำโครงการต่าง ๆ ขึ้นมา โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการผลิตนักศึกษาเพื่อป้อนตลาด โดยเน้นการลดเวลาการเรียนให้ออกมาเรียนหรือฝึกงานกับการทำงานจริงให้มากขึ้น

“ฟูลไทม์-พาร์ตไทม์” รับไม่อั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดยังมีภาพความเคลื่อนไหวการประกาศรับสมัครพนักงานของบรรดาเชนร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านฟาสต์ฟู้ด ฯลฯ ผ่านบริษัทจัดหางาน ที่ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ โดยตำแหน่งที่มีความต้องการมาก หลัก ๆ จะเป็น พนักงานบริการ พนักงานเสิร์ฟ พนักงานล้างจาน ผู้จัดการร้านฝึกหัด ทั้งฟูลไทม์ และพาร์ตไทม์ โดยเสนออัตราจ้างและสวัสดิการที่แตกต่างกันไป เช่น เอ็มเค สุกี้ (เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป) รับพนักงานครัว ฟูลไทม์ มากกว่า 100 อัตรา อัตราเงินเดือน 12,000-14,000 บาท/เดือน (ไม่รวมสวัสดิการ) ทำงานในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ขณะที่ร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด ร้านอาหารในเครือเอ็มเคฯ อีกแบรนด์หนึ่งก็ประกาศรับผู้ช่วยผู้จัดการสาขา (ฝึกหัด) รายได้รวม 15,000-17,000 บาท

เช่นเดียวกับร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป หรือซีอาร์จี ที่มีร้านอาหารหลายแบรนด์ อาทิ มิสเตอร์โดนัท อานตี้แอนส์ เคเอฟซี ร้านอาหารญี่ปุ่นคัตสึยะ ฯลฯ มีการประกาศรับสมัครพนักงานทั้งฟูลไทม์และพาร์ตไทม์เป็นจำนวนมาก เงินเดือน 12,000-13,000 บาท และสำหรับการทำงานในย่านธุรกิจ บริษัทยังเสนอค่าเดินทางให้เพิ่มด้วย ไม่ต่างจากบริษัท โนเบิล เรสเตอร์รองต์ จำกัด เจ้าของร้านโมโม พาราไดซ์ ร้านชาบู ชาบู ชื่อดัง ร้านอาหาร กอลจัก (Guljak) ที่ประกาศรับสมัคร รวมรับมากกว่า 100 อัตรา ส่วนใหญ่รับตำแหน่งพนักงานบริการ สาขาที่รับส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้าขยายใหญ่ในกลางเมือง อัตราค่าจ้าง 9,930 บาท/เดือน ค่าข้าว 40 บาท/วัน+ค่าโอที หรือรายได้รวม 13,000++ บาท/เดือน

ส่วนร้านชื่อดังอื่น ๆ อาทิ ร้านวราภรณ์ (บริษัท วราภรณ์ สมพงษ์ ฟู้ดส์) รับสมัครพนักงานขายประจำสาขา 12,000 เช่นเดียวกับ ร้านยำแซ่บ ที่รับพนักงานบริการ ฟูลไทม์ 11,000-12,000 ผู้ช่วยผู้จัดการร้าน 15,000-16,000 บาท เช่นเดียวกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ก็มีการประกาศรับสมัครพนักงานธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหาร จำนวนมาก สำหรับร้านกาแฟพันธุ์ไทย และคอฟฟี่เวิลด์ ทั้งตำแหน่ง พนักงานชงกาแฟ ผู้ช่วย/ผู้จัดการร้าน แคชเชียร์ เป็นต้น