ไมเนอร์ฟู้ด เร่งปูพรมสาขา รับร้านอาหารดีดกลับ

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์

“ไมเนอร์” เดินหน้าปูพรมสาขา “ไทย-จีน-ออสเตรเลีย” รับตลาดร้านอาหารดีดกลับ มั่นใจเทรนด์ dine-in กระแสแรง หลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้น ท่องเที่ยวคึกคักหนุนจับจ่ายสะพัด ตั้งเป้าอีก 3 ปี ทะลุ 3,400 สาขา

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป ผู้บริหารร้านอาหารรายใหญ่ที่มีสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์ คิง, เดอะคอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์ ฯลฯ เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจปี 2566 ในงาน Opportunity Day (2 มี.ค.) ว่าธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมตอนนี้อยู่โหมดที่เรียกว่า back to growth หรือกลับมาสู่การเติบโตอีกครั้ง

และภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารจะเป็นในลักษณะที่เป็น V-shape recovery การฟื้นตัวค่อนข้างเด่นชัด โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน ที่ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ได้ผ่านไปแล้ว ทางการจีนไม่มีการล็อกดาวน์แล้ว จากนี้ไปจะได้เห็นการกลับมาของการนั่งรับประทานอาหารในร้าน หรือ dine-in ที่จะกลับมาเติบโตมากขึ้น

นายชัยพัฒน์กล่าวด้วยว่า นอกจาก dine-in แล้ว บริษัทยังเสริมด้วยการทำ ลอยัลตี้โปรแกรม เพื่อขับเคลื่อนการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า เพิ่มความถี่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายการเติบโตร้านอาหาร RIVERSIDE ที่เป็นร้านอาหารประเภท casual dining และจะมีความแอ็กทีฟมากขึ้น โดยจะโฟกัสไปที่เมืองที่มีกำลังซื้อสูง

สำหรับตลาดในประเทศไทย ที่ขณะนี้ภาพรวมการจับจ่ายเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากการรีเฟรช แบรนด์ โดยจะมีโปรแกรมการฟื้นฟู (revitalization) แบรนด์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หลาย ๆ แบรนด์ก็จะมีการขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่สาขาที่เป็น innovative formats ที่มีหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มโปรดักทิวิตี้และยอดขายด้วย

ส่วนตลาดออสเตรเลียขณะนี้ dine-in ก็กลับมาเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทจะใช้ทำแบรนด์รอยัลตี้ ผ่านเรื่องดิจิทัลแอป เพื่อขับเคลื่อนการกลับเข้ามาใช้บริการและเพิ่มความถี่ในการเข้ามาใช้บริการ รวมถึงการขยายฐานลูกค้าออกไปยังกลุ่มใหม่ ๆ และจะมีการขยายสาขาเพิ่มเติม โดยจะเน้นไปที่สาขาของแฟรนไชส์

“การกลับมาฟื้นตัวของตลาดหลัก ๆ ทั้งในจีน ไทย และออสเตรเลีย ดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายได้ และกำไร โดยปีที่ผ่านมาเรามีร้านอาหารในเครือมากกว่า 2,500 ร้านอาหาร และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2025 จะมีจำนวนร้านอาหารมากกว่า 3,400 ร้านอาหาร และคาดว่าสำหรับปีนี้ในแง่รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%” นายชัยพัฒน์กล่าว

รายงานข่าวจากบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการกลุ่มร้านอาหารว่า ในไตรมาส 4/2565 ยอดขายโดยรวมทุกสาขา (รวมยอดขายสาขาแฟรนไชส์) เติบโต 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 7,266 ล้านบาท โดยสัดส่วนหลักมาจากประเทศไทย 61% จีน 11% ออสเตรเลีย 11% และอื่น ๆ 17%

ณ สิ้นไตรมาส 4 ที่ผ่าน ไมเนอร์ฟู้ด มีสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 2,531 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทลงทุนเอง 1,264 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของสาขาทั้งหมด สาขาแฟรนไชส์ 1,267 สาขา หรือ 50% โดยเป็นสาขาภายใต้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย 1,904 สาขา หรือ 75% และเป็นสาขาภายใต้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารอื่น 627 สาขา หรือ 25% ครอบคลุม 24 ประเทศ ในทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ประเทศเม็กซิโก และประเทศแคนาดา

สำหรับยอดขายโดยรวมทุกสาขาของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยเติบโต 20.2% ในไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายต่อร้านเดิมที่เติบโต 4.1% และการเปิดสาขาใหม่ของหลายแบรนด์ ซึ่งรวมถึง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, บอนชอน และคอฟฟี่ เจอนี่

โดยสาขาร้านอาหารที่เปิดใหม่ของไมเนอร์ ฟู้ด ได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะกับแบรนด์และสถานที่ตั้งมากขึ้น เช่น แดรี่ ควีน ได้เปิดตัวพ็อปอัพสโตร์แห่งแรกในทวีปเอเชีย ซึ่งนำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับลูกค้า ด้วยตู้เกมสไตล์ญี่ปุ่นที่สามารถโต้ตอบได้แบบทันที ตู้ปัญญาประดิษฐ์ และเมนูพิเศษเฉพาะช่วงเวลา

ในขณะที่เบอร์เกอร์ คิง ได้เปิดตัวแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในเอเชีย ที่นำเสนอเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เตาย่างเนื้อที่มีเปลวไฟอันเป็นเอกลักษณ์ ล็อกเกอร์เก็บความร้อนอัจฉริยะ เพื่อควบคุมคุณภาพของบริการการจัดส่งอาหารให้ดียิ่งขึ้น และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่คำนึงถึงแนวทางด้านความยั่งยืน

สำหรับภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารปี 2565 ที่ผ่านมา ยอดขายโดยรวมเติบโต 20.01% เมื่อเทียบกับปีก่อน (หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท) โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจในประเทศไทยและออสเตรเลีย

ส่วนยอดขายต่อร้านเดิมของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดเติบโต 8% โดยการฟื้นตัวของยอดขายผ่านช่องทางการนั่งรับประทานภายในร้านในทุกภูมิภาค สามารถหักลบสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่ท้าทายในประเทศได้เต็มจำนวน