e-book แรงต่อเนื่อง นักอ่านชาวไทย 42% ย้ายสู่ดิจิทัล

กระแส e-book ยังมาแรง นักอ่านชาวไทยหันไปอ่าน e-book รวดเร็วที่สุดในโลก หลัง 42% ย้ายสู่ดิจิทัล ด้าน BookWalker ร้าน e-Book จากญี่ปุ่นบุกชิงฐานแฟนมังงะ-ไลท์โนเวล ด้านเมพลุยปลุกห้องสมุดออนไลน์ ส่วนอุ๊คบีรุกจับกลุ่มนักเขียน

วันที่ 1 เมษายน 2566 กระแสความนิยม e-book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยกำลังมาแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้านนักอ่านที่เปลี่ยนจากหนังสือกระดาษมาอ่าน e-book กันมากขึ้น หรือจำนวนร้าน-แพล็ตฟอร์มที่ขาย e-book ซึ่งล่าสุดมีผู้เล่นรายใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง Book Walker เข้ามาร่วมวงแข่งขันกับแพล็ตฟอร์มสัญชาติไทยอย่าง Meb และ Naiin

ขณะที่ อุ๊คบี หนึ่งในแพล็ตฟอร์ม e-book สัญชาติไทยต่อยอดกระแสนิยมนี้ ด้วยการเพิ่มโมเดลสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับฝั่งนักเขียนนิยายบนที่เผยแพร่ผลงานแพล็ตฟอร์มของตนด้วย

จำนวนนักอ่าน e-book พุ่ง

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวในงานแถลงข่าวการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 ถึงกระแสการอ่าน e-book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันว่า นักอ่านชาวไทยนับเป็นกลุ่มที่กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไปอ่าน e-book รวดเร็วที่สุดในโลก

โดยช่วงที่ผ่านมาการเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านจากหนังสือกระดาษไปสู่ e-book มีสัดส่วนมากถึง 42% ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของนักอ่านทั้งโลก ซึ่งตามข้อมูลของงานวิจัยระบุว่านักอ่านต่างประเทศอ่าน e-Book กันเพียงไม่ถึง 10%

“นักอ่านชาวไทยเปิดรับเทคโนโลยี และเปลี่ยนไปอ่าน e-Book ในอัตราที่รวดเร็วมากจนตกใจ”

ร้าน e-book สัญชาติญี่ปุ่นบุกชิงตลาด

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปี 2566 นี้ BookWalker แพล็ตฟอร์มขาย e-book สัญชาติญี่ปุ่นได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 นี้ หวังจับกลุ่มแฟนมังงะ ไลท์โนเวล และอนิเมชั่นญี่ปุ่น

วีรวรรณ พณิชกิจสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการBookWalker (ประเทศไทย) กล่าวว่า แฟน ๆ ชาวไทยที่ชื่นชอบมังงะ ไลท์โนเวลและอนิเมชั่นของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้หลายเรื่องจากตีพิมพ์-ออกอากาศมานานแล้ว ทำให้ทางญี่ปุ่นเห็นโอกาสที่จะเข้ามาเปิดบริการในไทย เพื่อตอบโจทย์นักอ่านรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกในการเข้าถึงมังงะ หรือนิยายญี่ปุ่น

พร้อมแย้มว่า จะมีการจัดทำคอนเทนต์เอ๊กซ์คลูซีพที่จะมีขายเฉพาะในแพล็ตฟอร์มนี้เท่านั้นอีกด้วย

ทั้งนี้ BookWalker เป็นธุรกิจแพล็ตฟอร์ม e-book ที่เน้นด้านมังงะและไลท์โนเวล โดยอยู่ในเครือบริษัท Kadokawa หนึ่งในยักษ์วงการธุรกิจสื่อของญี่ปุ่น ให้บริการทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวันและไทย

เมพ ปลุกห้องสมุดออนไลน์

ด้านเมพ แพล็ตฟอร์ม e-book รายใหญ่ของไทยเดินหน้าผลักดันห้องสมุดออนไลน์ ที่ให้ยืม e-book แทนหนังสือกระดาษ โดย นายรวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ไฮบรารี่ (Hibrary) ระบบห้องสมุดออนไลน์องค์กร กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ความต้องการใช้งานห้องสมุดออนไลน์องค์กรเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2565 มีองค์กรในประเทศไทยใช้งานห้องสมุดออนไลน์แล้วประมาณ 400 องค์กร

จึงได้จับมือกับ กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ “BKK X Hibrary อีบุ๊กฟรีอยู่เขตไหนอ่านได้ทุกที่” มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เพื่อเป็นต้นแบบการให้บริการห้องสมุดออนไลน์ของ กทม. โดยผู้ที่ต้องการใช้งานสามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน Hibary ทาง App store หรือ Play Store กดสมัครสมาชิก เลือกห้องสมุด BKK X Hibrary หรือที่เว็บไซต์  bkk.hibrary.me

ทั้งนี้คาดว่าปีแรกจะมีผู้ใช้งานประมาณ 100,000 บัญชี และตลอดระยะเวลาโครงการฯ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 200,000 บัญชี

ฝั่งนักเขียนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลก็มีศักยภาพ

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ อุ๊คบี (Ookbee) กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุ๊คบีมีฐานผู้ใช้รวมกันกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน สร้างรายได้รวมได้กว่า 700 ล้านบาท ซึ่งกว่า 50% มาจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการอ่าน รวมถึงเหล่านักเขียนออนไลน์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายคนมีฐานผู้อ่านมากจนสามารถร่วมเล่มขายได้ จึงเป็นโอกาสในการขยับขยายหารายได้เพิ่มเติม

ด้วยการเพิ่มโมเดลให้นักเขียนบนแพล็ตฟอร์มสามารถแบ่งขายคอนเทนต์เป็นตอนสั้น ๆ ราคาประมาณ 3 บาท โดยนักเขียนจะได้ส่วนแบ่ง 70% จากเหรียญที่นักอ่านเติมเงินซื้อเพื่อปลดล็อกตอนใหม่ ซึ่งที่ผ่านมานักเขียนบางคนอาจมีรายได้หลายแสนบาทต่อเดือน

“คนรุ่นใหม่แอ็กทีฟเรื่องการสร้างคอนเทนต์ ถ้าคนกลุ่มนี้อ่านนิยายในแอปพลิเคชั่นของเรา วันหนึ่งก็อยากจะเขียน คนอ่าน คนเขียนเป็นพวกเดียวกัน”