BITE SIZE : Pet Humanization โอกาสของธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนมากพอสมควร หลาย ๆ บ้าน หลาย ๆ ครอบครัว ดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นลูกเป็นหลาน เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว และถ้ามองรอบตัวเรา จะเห็นได้ว่า มีคนเป็น ทาสหมา-ทาสแมว มากขึ้น

และพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้เกิดเทรนด์ทางธุรกิจ และโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจ ผ่านปรากฏการณ์ที่มีชื่อว่า “Pet Humanization”

Pet Humanization คืออะไร ?

Pet Humanization เป็นคำที่ใช้อธิบายพฤติกรรมเจ้าของสัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงและดูแลสัตว์เสมือนเป็นคนในครอบครัว หรือเรียกว่าเป็น “Pet Parents” ซึ่งเวลาไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม มักจะพาน้องหมา-น้องแมว ตามไปด้วยเสมอ หรือแม้แต่การเลี้ยงดู ก็ย่อมทุ่มเทเปย์ไม่อั้น จ่ายค่าอาหารสัตว์ ของเล่น ของใช้ต่าง ๆ ชนิดที่ว่าประคบประหงมอย่างดี ไม่ต่างกับการเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน

ปรากฏการณ์ Pet Humanization ที่ว่านี้ มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยด้านผู้คนที่เลือกจะครองโสดมากขึ้น หรือหากมีครอบครัว ก็เลือกที่จะมีลูกน้อยลง ไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัดรักษาอาการบางอย่าง หรือเพื่อคลายความเหงาในผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอก อย่างการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น และได้ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ชนิดที่ว่าบางบ้านอาจถึงขั้นเบื่อขี้หน้าเลยก็เป็นได้

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วกลุ่มที่เป็น Pet Humanization เป็นคนกลุ่มไหนมากที่สุด ?

มีข้อมูลจาก Morgan Stanley ระบุว่า กลุ่มคนที่เป็น Pet Humanization กว่า 75% เป็นคนอายุ 18-34 ปี ถ้าอธิบายง่าย ๆ คือ บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยไปจนถึงกลุ่มคนวัยทำงาน สร้างครอบครัว

Pet Humanization เมกะเทรนด์ใหม่ของธุรกิจ

ด้วยบรรยากาศการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนไปจากในอดีต ทำให้กลายเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจด้วย

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า เมื่อปี 2562 มีครัวเรือนไทยที่เลี้ยงสุนัขและแมวรวมกันราว 34% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งประเทศ และเมื่อปี 2565 หรืออีก 3 ปีต่อมา เพิ่มขึ้นมาสู่ 37% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งประเทศ

ด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่า Pet Humanization จะเป็นเมกะเทรนด์ของธุรกิจไทยด้วย

SCB EIC ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เมกะเทรนด์ดังกล่าว จะยังคงเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญในไทยต่อเนื่องไปในอนาคต โดยมีปัจจัยหนุนทั้งแนวโน้มประชากร Gen Z, Gen Y และประชากรผู้สูงอายุที่นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแก้เหงา รวมถึงแนวโน้มครอบครัวขนาดเล็กที่มีบุตรน้อยลงหรือไม่มีบุตร ซึ่งนิยมเลี้ยงสัตว์เช่นกัน และเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทุกวันนี้มีโครงการคอนโดมิเนียมที่เป็นลักษณะ Pet-Friendly เลี้ยงสัตว์ได้ และมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อน้องหมา-น้องแมว

เช่นเดียวกับ finbiz by ttb ที่วิเคราะห์ว่า ธุรกิจสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง จะเป็นหนึ่งในธุรกิจมาแรงของปี 2566 นี้ด้วย

Pet Humanization กับโอกาสธุรกิจ

ปรากฏการณ์ Pet Humanization ทำให้เกิดคำใหม่ 2 คำ คือ

  • Petriarchy : Morgan Stanley บริษัทการเงินระดับโลกนิยามคำนี้ว่า ทาสหมา-ทาสแมว แล้ว
  • Petconomy : ระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

สำหรับ Petconomy เป็นระบบเศรษฐกิจที่ครอบคลุมตั้งแต่ชีวิตประจำวันของสัตว์เลี้ยง ทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง ของเล่น ของใช้ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ไปจนถึงบริการดูแลสัตว์เลี้ยง ประกันภัย คาเฟ่ โรงแรมสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ และบริการ After Death หรือบริการที่เกี่ยวข้องหลังสัตว์เลี้ยงตาย

ขณะเดียวกัน Pet Humanization ทำให้ธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มศูนย์การค้า-โรงภาพยนตร์ พัฒนาบริการหรือปรับเงื่อนไข เพื่อให้สอดรับกับเมกะเทรนด์นี้ อาทิ

  • Central EastVille และ IKEA เฟอร์นิเจอร์สโตร์ของสวีเดน เปิดให้พาน้องหมา-น้องแมว เข้าพื้นที่ห้างได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  • เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ เปิด Pet Cinema โรงหนังสำหรับสัตว์เลี้ยง ใน 3 สาขา คือ เมกา ซีนีเพล็กซ์, อิสต์วิลล์ ซีนีเพล็กซ์ และเมเจอร์ ซีนีม่า โรบินสันราชพฤกษ์ โดยเปิดให้บริการในรอบฉายแรกของทุกวันเสาร์-อาทิตย์
  • Shake Shack ร้านฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกัน เปิดให้พาสัตว์เลี้ยงเข้าพื้นที่ร้านได้เช่นกัน แถมมีขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงจำหน่ายอีกด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ และน่าติดตามต่อว่าในอนาคต อาจจะเห็นรูปแบบธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่เราอาจไม่เคยคิดมาก่อนก็ได้

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.6 ได้ที่ https://youtu.be/5vLP3AQmo9c