
หลังการเปิดเกมรุกของ “ทีดี ตะวันแดง” ในเครือคาราบาว กรุ๊ป เมื่อช่วงปี 2562 ด้วยการพัฒนาโมเดลเพื่อสนับสนุนและยกระดับร้านค้าปลีกรายย่อยโชห่วยในชุมชนให้มีความทันสมัยมากขึ้น ในคอนเซ็ปต์ โลว์คอสต์ คอนวีเนี่ยนสโตร์ ภายใต้ชื่อ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ด้วยการเข้าไปซัพพอร์ตการตกแต่ง วางระบบ การจัดวางสินค้า จัดโปรโมชั่น การส่งสินค้าให้เข้าร้าน ฯลฯ
และตามมาด้วยค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งบีเจซี บิ๊กซี และแม็คโคร ที่กระโดดเข้ามาร่วมวง ด้วยการพัฒนาโมเดลขึ้นมาแข่ง เพื่อสนับสนุนและดึงร้านชำ ร้านโชห่วยมาเป็นเครือข่าย จากเดิมที่เน้นการขายสินค้าให้ร้านค้ารายย่อยดังกล่าวแบบขายยกลังยกกล่องในลักษณะขายส่งเป็นหลัก
ช่วงปลายปี 2565 คาบเกี่ยวต้นปี 2566 ทุกค่ายมุ่งเดินสายโรดโชว์จัดสัมมนาทั่วสารทิศ เพื่อชวนเชิญให้ร้านค้าปลีกรายย่อยเข้ามาเป็นเครือข่าย รวมทั้งมีการจัดโปรโมชั่นลดเงินประกันและดึงสถาบันการเงินเข้ามาช่วยซัพพอร์ตเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับร้านค้าที่สนใจด้วย เพื่อให้การตัดสินใจและการเปิดร้านมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น
จากนั้นเป็นต้นมาภาพเปิดร้านโมเดลใหม่ของค้าปลีกแต่ละค่ายก็มีให้เห็นหนาตามากขึ้นในชุมชน หรือบริเวณทางแยกใหญ่เล็กในต่างจังหวัด สะท้อนจากภาพของร้านค้าปลีกที่ดูทันสมัยขึ้น จากเดิมที่เป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม โดยแต่ละร้านก็ติดป้ายชื่อร้านที่ใช้สีต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ เช่น ร้านถูกดีฯ ป้ายสีแดง ร้านโดนใจ ป้ายสีส้ม เป็นต้น
อัตราการเร่งเริ่มชะลอตัว
ส่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้อัพเดตจำนวนเครือข่ายสาขาร้านค้าปลีกร้านต่าง ๆ ดังกล่าว รวมถึงความเคลื่อนไหวของ 3 ค่ายใหญ่ “ทีดี ตะวันแดง-บีเจซี บิ๊กซี-แม็คโคร” ที่ประกาศนโยบายเชิงรุกในการดึงร้านโชห่วยมาเป็นเครือข่าย
เบื้องต้นพบว่า การขยายหรือเปิดสาขาใหม่ของทุกค่ายเริ่มมีอัตราการเร่งที่เริ่มชะลอตัวลง และที่น่าสนใจคือ ตัวเลขจำนวนสาขาที่เปิดยังห่างเป้าหมายที่เคยตั้งเป้าไม่น้อย
เริ่มจาก “ถูกดี มีมาตรฐาน” ที่ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดนี้ จากเว็บไซต์ ถูกดี มีมาตรฐาน ระบุว่า ล่าสุด ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีเครือข่ายอยู่ประมาณ 4,600 ร้านค้า จากก่อนหน้านี้ ที่ตัวเลขเคยทะลุ 5,000 ร้านค้าไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีดี ตะวันแดง วางเป้าหมายให้ร้านถูกดีฯ เป็นร้านสะดวกซื้อที่สามารถเข้าถึงชุมชนที่ลึกที่สุดในระดับหมู่บ้าน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 20,000 ร้านค้า ภายในสิ้นปี 2566 และเพิ่มเป็น 30,000 ร้าน ในปี 2567
ขณะที่ “ร้านโดนใจ” ของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ระบุว่ามีร้านค้าในเครือข่ายประมาณ 2,597 สาขา (จาก 1,170 สาขา ในไตรมาส 2/2565) โดยเมื่อต้นปี บีเจซี เปิดแถลงข่าวและตั้งเป้าจะเปิดให้ได้ 8,000 ร้านค้า ภายในปี 2566 และตั้งเป้าจะเติบโตสู่ 30,000 ร้าน ภายในปี 2570
ไม่เพียงการขยายเครือข่ายร้านโดนใจในประเทศเท่านั้น บีเจซี บิ๊กซี ยังนำโมเดล โดนใจ ไปทดลองเปิดในเวียดนามด้วย เป้าหมายเพื่อต้องการจะนำสินค้าไทยไปขายยังภูมิภาคอาเซียน
ส่วน “บัดดี้มาร์ท” ที่บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ สยามแม็คโคร เดิม ที่มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกที่มีร้านค้าอยู่เดิม ตอนนี้ (สิ้นเดือนตุลาคม) เพิ่งเปิดร้านเครือข่ายได้เพียง 65-70 สาขาเท่านั้น หลัก ๆ กระจายอยู่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะนครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี นอกนั้นกระจายอยู่ในภาคกลางและปริมณฑลจังหวัดละ 2-3 แห่ง อาทิ กรุงเทพฯ นนทบุรี อยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นต้น จากเป้าหมายจะเปิดให้ได้ 2,000 ร้านค้า ภายในสิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็พบว่า บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า กลับมาให้น้ำหนักกับโครงการมิตรแท้โชห่วย ที่ทำมาต่อเนื่อง 14-15 ปี เพื่อยกระดับร้านโชห่วย ด้วยการเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา การปรับปรุง ตกแต่งร้าน การเปิดร้านใหม่ โดยไม่มีสัญญาผูกมัด
สารพันปัญหาทำยอดสะดุด
แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกวิเคราะห์ปรากฏการณ์การขยายเครือข่ายของค่ายต่าง ๆ ที่เริ่มสะดุดลงดังกล่าวว่า การขยายสาขาที่เริ่มชะลอตัว หรือมีอัตราการเร่งที่ชะลอตัวลงไป จากช่วงต้น ๆ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จริง ๆ แล้วน่าจะมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งจากการสำรวจตลาดในหลาย ๆ จังหวัดพบว่า มีร้านค้าปลีกรายย่อยที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายของผู้ประกอบการดังกล่าวจำนวนหนึ่งปิดตัวลงไป หรือบางรายก็ไม่ต่อสัญญาและหันไปเปิดร้านของตัวเอง โดยไม่พึ่งพาระบบหรือการซัพพอร์ตของบริษัทแม่ หลายรายมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องกัน
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าช่วงหลัง ๆ มานี้ เจ้าของโมเดลเข้าไปควบคุมการค้าขายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสินค้า นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าของร้านค้าที่เข้าเป็นเครือข่ายบางรายอาจจะมีปัญหาเรื่องการเงิน บริหารจัดการการเงินไม่ดี ทำให้ขาดส่งเงินให้บริษัทแม่ สุดท้ายบริษัทแม่ก็ต้องยกเลิกสัญญาปิดร้านไป
“การมีข่าวคราวเรื่องฟ้องร้องระหว่างร้านค้ากับบริษัทแม่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องกลับมาทบทวนการตัดสินใจลงทุนใหม่”
ขณะที่ผู้คร่ำหวอดในวงการค้าปลีกรายหนึ่งแสดงทรรศนะในเรื่องนี้ว่า “…จริง ๆ แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของร้านค้าปลีกรายย่อยโมเดลนี้ เป็นเกมหรือความต้องการของซัพพลายเออร์ ที่ต้องการจะหาช่องทางในการกระจายสินค้าลงไปสู่ร้านค้าต่าง ๆ แต่อีกด้านหนึ่งร้านค้ารายย่อยก็ต้องการความมีอิสระในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งการเลือกสินค้าที่จะนำมาวางขายในร้าน”
ปัจจัยจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่สนใจและต้องการจะเปิดร้านในลักษณะนี้ชะลอการตัดสินใจหรือเบรกการลงทุนไว้ก่อน แม้จะใช้เงินไม่มากนักหรือหลักประมาณ 3-4 แสนบาทก็ตาม
“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าโมเดลการขยายธุรกิจในลักษณะนี้ ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวหรือมีจำนวนที่มากขึ้นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละค่ายว่ามองเรื่องนี้อย่างไร จะมีการปรับโมเดลให้มีความเหมาะสมมากขึ้นอย่างไรหรือไม่ จะอุดช่องว่างต่าง ๆ ได้อย่างไร ช่วงนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของโมเดลค้าปลีกลักษณะนี้ ที่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโมเดลให้เหมาะสมและสอดรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
แม้วันนี้การขยายเครือข่ายของค่ายต่าง ๆ อาจจะมีอัตราการเร่งที่ลดลงบ้าง แต่ด้วยจำนวนร้านโชห่วยทั่วประเทศที่มีอยู่มากถึง 3-4 แสนร้านค้า
หรืออย่างน้อยที่สุด ตลาดค้าปลีกไทยในวันนี้มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนที่มาจากร้านโชห่วยร้านค้าปลีกรายย่อยถึง 55% เลยทีเดียว
ตลาดนี้ยังเป็นน่านน้ำใหม่ที่ยังมีโอกาสและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาบ้างเท่านั้น