โชห่วย เนื้อหอม ธุรกิจรุมตอม…น่านน้ำใหม่ค้าปลีก

จะเรียกว่ากำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ก็คงไม่ผิดนัก สำหรับปฏิบัติการชิงร้านโชห่วยเข้ามาเป็นเครือข่าย หลังจาก “เบอร์ลี่ยุคเกอร์-บิ๊กซี” และ “สยามแม็คโคร” ได้เปิดตัวโมเดล “ร้านโดนใจ” และ “บัดดี้ มาร์ท” เข้าสู่ตลาดเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จากเดิมที่มี “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ภายใต้การดูแลของ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ทำตลาดอยู่เพียงรายเดียว

การเปิดเกมรุกของผู้ท้าชิงดังกล่าวมาพร้อมกับการจับมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือซัพพลายเออร์ และสถาบันการเงิน เพื่อซัพพอร์ตและอำนวยความสะดวกให้กับร้านโชห่วยที่สนใจ พร้อมกันนี้ยังเดินสายโรดโชว์จัดสัมมนาเพื่อปลุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมุ่งไปที่พื้นที่ภาคอีสานที่ ร้านถูกดีฯ เป็นเจ้าตลาดอยู่เดิม ขณะที่ร้านโดนใจ จัด “โดนใจ ออนทัวร์ ทั่วไทย” ที่กาญจนบุรี สงขลา นครสวรรค์ ระยอง ขอนแก่น “บัดดี้มาร์ท” ก็มีความเคลื่อนไหวในการจัดงานสัมมนา “โชห่วยยุคใหม่ ติดสปีดยอดขาย ให้มั่งคั่งยั่งยืน” ที่ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี

ถูกดีฯ เพิ่มแม็กเนต

“เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากกลางปีเป็นต้นไป บริษัทจะเริ่มเดินสายโร้ดโชว์จัดงานสัมมนาอีกรอบหนึ่ง หลังจากที่ได้ทำมาแล้วเมื่อปลายปี 2565 และไตรมาสแรกที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเซตระบบ หรือบริการที่เรียกว่า “ถูกดี สั่งได้” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและเป็นการเพิ่มสินค้าให้ร้านค้าอีกทางหนึ่ง ด้วยการนำแค็ตตาล็อกสินค้า มาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าที่ต้องการได้ อาทิ อาหารสัตว์ นมผงสำหรับเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป โดยบริษัทจะจัดส่งสินค้าไปให้ที่ร้านภายใน 3-5 วัน รวมทั้งการคุยกับธนาคาร เพื่อจะนำบริการตู้เอทีเอ็มมาติดตั้งที่ร้าน ซึ่งจะเน้นไปที่ตู้ที่มีระบบไม่สลับซับซ้อนมาก หลังกลางปีนี้น่าจะเห็น และตอนนี้บางร้านก็เริ่มมีการเพิ่มบริการรับส่งพัสดุบ้างแล้ว

พร้อมกันนี้ แม่ทัพใหญ่ ถูกดีฯ ยังย้ำว่า บริษัทจะมีทีมงานเดินทางไปให้คำปรึกษาแนะนำตลอด ตั้งแต่วันแรก 2-3 เดือนแรก เพื่อสอนให้จนกระทั่งเขาใช้เทคโนโลยีเป็น เวลาสินค้ามาจะทำวิธีรับยังไง สินค้าถึงจะอยู่ในระบบ เวลาจะขายขายอย่างไร จะทำระบบสมาชิกอย่างไร เพราะเรื่องของความรู้ในการบริหารจัดการร้านเป็นเรื่องสำคัญ

“โดนใจ-บัดดี้มาร์ท” เพิ่มดีกรีบุก

รายงานข่าวจากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นอกจากการจัดงาน “โดนใจ ออนทัวร์ ทั่วไทย” แล้ว ในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ยังจะมีโครงการ โดนใจ ดาวกระจาย โดยนำร่องที่บิ๊กซี สาขาขอนแก่น เป็นลักษณะของงานกึ่งเสวนา นั่งพูดนั่งคุย แบบตัวต่อตัวสำหรับร้านค้าปลีกรายย่อยที่สนใจให้คำแนะนำในการเปิดร้าน ในระยะยาวตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วม 30,000 ร้านค้าภายในปี 2570

ร้านโดนใจ

“ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี กล่าวว่า “ปัจจุบันตลาดค้าปลีกมีการแข่งขันกันสูง ทำให้ร้านค้าโชห่วยต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก ต้องพัฒนาร้านค้าเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจ แพลตฟอร์มร้านโดนใจมีจุดเด่นที่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยยังเป็นเจ้าของร้านเอง สามารถเลือกลงทุน และสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร ใช้งบฯลงทุนที่ไม่สูง นอกจากการพัฒนาโมเดลร้านค้าปลีกสมัยใหม่ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี มีเทคโนโลยี บีเจซี ยังจับมือพันธมิตรกว่า 30 บริษัท เพื่อให้ร้านโดนใจมีสินค้าและผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายที่หลากหลายแบรนด์ ในราคาที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ยังจับมือสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อต่อยอดในการสร้างทุนให้กับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะเปิดร้านโดนใจ”

ก่อนหน้านี้ “เอกพล คูสุวรรณ” ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า ยุทธศาสตร์ของบัดดี้มาร์ท หลัก ๆ จะมุ่งไปที่ร้านโชห่วยร้านค้าปลีกรายย่อยที่เป็นสมาชิกของแม็คโคร รวมทั้งร้านโชห่วยอื่น ๆ ที่สนใจ เบื้องต้นจะมุ่งไปที่พื้นที่ภาคอีสานเป็นสำคัญ นอกจากการเดินหน้าขยายเครือข่ายเพิ่มต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่บริษัทจะทำควบคู่กันไปก็คือ การเสริมหรือการให้องค์ความรู้ต่าง ๆ กับเครือข่ายเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของการจัดการระบบ การบริหารจัดการร้าน เพื่อให้คู่ค้าทุก ๆ คนมีมาตรฐานการบริหาร การจัดการร้าน เพื่อที่จะพัฒนาและต่อยอดด้วยธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนไปต่อได้ในอนาคต

“โชคชัย-คุ้มจริง” โมเดลใหม่

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกอีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ เป็นซัพพลายเออร์อีกค่ายหนึ่งที่ได้พัฒนาโมเดลการสนับสนุนร้านค้าปลีกรายย่อย ภายใต้ชื่อโครงการร้านโชคชัย เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าของบริษัทเข้าสู่ชมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องดื่ม โดยมีหน่วยรถกระจายสินค้าเป็นหัวหอก เน้นผู้ประกอบการที่เปิดร้านค้าปลีกอยู่แล้ว โดยบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสื่อ ให้คำปรึกษาการบริหารร้าน โดยที่ความเป็นเจ้าของและกำไรเป็นของเจ้าของร้าน 100% ในแง่ของจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตอนนี้อาจจะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนนัก แต่ก็คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โดยมุ่งไปที่ร้านค้าปลีกที่มีอยู่แล้ว และไทยเบฟฯ เพียงเข้าไปช่วยจัดร้าน การจัดวางสินค้า การวางสื่อภายในร้าน

“สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า นอกจากความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการรายใหญ่ดังกล่าวแล้ว ที่ผ่านมายังมียี่ปั๊วซาปั๊วที่มีศักยภาพจำนวนหนึ่งก็สร้างโมเดลในการช่วยเหลือร้านค้ารายย่อยขึ้นมา แต่มีความยืดหยุ่น ไม่มีเงื่อนไขมาก ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงร้านโชห่วย เริ่มตั้งแต่การแนะนำตกแต่งร้านค้า คัดเลือกสินค้า ระบบการบริหารการจัดการ รวมถึงจัดส่งสินค้าให้ในราคาที่ถูกกว่าปกติประมาณ 10% เพื่อให้โชห่วยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น เช่น ร้านคุ้มจริง (จ.ยโสธร) ที่ปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีร้านค้าในเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 40-50 ราย

ศึกชิงโชห่วย-ตลาดเพิ่งเริ่ม

จากการตรวจสอบข้อมูล ล่าสุด (กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา) พบว่า ขณะนี้ ร้านนี้โดนใจ มีร้านโชห่วยและร้านค้าปลีกรายเล็กในต่างจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วไม่ต่ำกว่า 995 ร้านหลัก ๆ กระจายอยู่ในภาคอีสาน ทั้งอุบลราชธานี สกลนคร มุกดาหาร หนองคาย ขอนแก่น ศรีสะเกษ นครพนม อำนาจเจริญ รวมเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สระบุรี ราชบุรี ชลบุรี

ส่วน “บัดดี้มาร์ท” ตอนนี้ มีสาขาประมาณ 80-100 ร้าน กระจายตัวในหลายจังหวัดในอีสาน ส่วนใหญ่เน้นเปิดสาขาในอำเภอรอบนอก เช่น นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา สิงห์บุรี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก นนทบุรี รวมทั้งกรุงเทพฯ

ขณะที่ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน”ผู้เปิดเกมบุกตลาดก่อนมีจำนวนร้านค้าเป็นเครือข่ายมากกว่า 5,500 แห่ง นำห่างทิ้งผู้ตามชนิดไม่เห็นฝุ่น และยังเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดสัมมนาในหลาย ๆ จังหวัด ในชื่อ “เปิดโชห่วยก็รวยได้” จากเดิมที่ยึดพื้นที่ภาคอีสานไว้หลายจังหวัด เช่น นครราชสีมา ที่มีราว ๆ 345 ร้าน อุบลราชธานี 311 ร้าน ศรีสะเกษ 259 ร้าน อุดรธานี 248 ร้าน ขอนแก่น 234 ร้าน บุรีรัมย์ 233 ร้าน ร้อยเอ็ด 225 ร้าน สกลนคร 210 ร้าน เป็นต้น

เบ็ดเสร็จ เครือข่ายร้านค้าปลีกรายย่อยที่ 3 ค่ายเข้าไปปลุกปั้นน่าจะมีตัวเลขรวม ๆ ประมาณ 6,500-7,000 แห่ง แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วประเทศที่มีไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนร้านค้า

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงภาพของตลาดค้าปลีกที่เปลี่ยนไป การสร้างโมเดลเพื่อพัฒนาหรือยกระดับร้านโชห่วย นอกจากจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการรายย่อยแล้วยังช่วยให้สามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อที่กำลังรุกคืบลงลึกมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งค่ายไหนมีร้านค้าในเครือข่ายมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้อำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์มากขึ้นเท่านั้น และอีกด้านหนึ่งการส่งสินค้าถึงร้านค้าโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านยี่ปั๊วซาปั๊วเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนได้ ขณะเดียวกันก็จะให้ร้านโชห่วยมีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น

…โชห่วยไม่มีวันตาย