“เอสเอฟ” เดินหน้าปั๊มรายได้ ถ่ายทอดคอนเสิร์ตเด้งรับโรงหนังฟื้นตัว

โรงหนัง SF

ธุรกิจโรงภาพยนตร์เริ่มฟื้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย “เอสเอฟ” เปิดเกมรุกหนังฟอร์มยักษ์ ไทย-เทศ ทยอยลงจอทุกสัปดาห์ ตรึงราคาตั๋วหวังดึงทราฟฟิกเพิ่มช่วยอีกทาง เดินหน้าปั้นคอนเทนต์เจาะเฉพาะกลุ่ม ทุ่มงบฯถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต-สตรีมมิ่ง-ศึกแดงเดือด เพิ่มรายได้ กางแผนลงทุนเพิ่มสาขาอีก 3 แห่งภายในสิ้นปี

สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่มีมากขึ้น ช่วยเอื้อให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่มีมูลค่าตลาดราว ๆ 9,000 ล้านบาท เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ปรับกลยุทธ์รับโรงหนังฟื้นตัว

นางสาวพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 1 ใน 2 ของผู้ประกอบการโรงหนังชั้นแนวหน้าของประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โดยรวมเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดี ทำให้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณบวกให้กับทุก ๆ ธุรกิจ

รวมถึงธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากว่า 2 ปีเต็ม และเป็นธุรกิจที่โดนสั่งปิดตั้งแต่ระลอกแรก เรียกว่ารุนแรงมาก เช่นเดียวกับเอสเอฟถูกสั่งปิดกว่า 158 วัน ถือว่ากระทบนานที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ต้องเลื่อนระยะเวลาฉายหนังใหม่ออกไปอีกหลายเรื่อง

SF_Khun Pimsiri

นางสาวพิมสิริย้ำว่า จากสถานการณ์ที่เริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่การฉายภาพยนตร์ในโรงอีกต่อไป ขณะนี้ทราฟฟิกคนดูหนังเริ่มทยอยฟื้นกลับมาแล้ว และการกลับมาเปิดบริการเต็ม 100% จะยังคงให้ความสำคัญกับความสะอาดและความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเช่นเดิม

และสัญญาณบวกอีกอย่างหนึ่งของตลาดโรงภาพยนตร์ที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวมากขึ้น สะท้อนจากสปอนเซอร์ที่เริ่มกลับมาทุ่มงบฯผลิตโฆษณาลงจอโรงภาพยนตร์มากขึ้น

“ธุรกิจโรงหนังอาจแตกต่างกับธุรกิจอื่น เนื่องจากทราฟฟิกไม่ได้อยู่กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นหลัก แต่จะมีองค์ประกอบในเรื่องของโปรแกรมหนังที่กำลังเข้าฉายในช่วงนั้น ๆ ที่เป็นตัวช่วยดึงคนเข้ามาดูหนัง โดยช่วงที่บรรยากาศคึกคักที่สุด คือ ช่วงวันพฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งปกติแล้วเอสเอฟก็มีหนังใหม่เข้าฉายอยู่เป็นระยะ ๆ อาจสะดุดแค่ช่วงโควิดที่เจอปัญหาภาพยนตร์เลื่อนกำหนดฉายเพราะต่างประเทศถ่ายทำไม่ได้”

หนังฟอร์มยักษ์ลงจอเพียบ

ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โรงภาพยนตร์เอสเอฟระบุว่า สำหรับครึ่งปีหลังเอฟเอสมีแผนและเตรียมจะนำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จัดตารางลงจอทุกสัปดาห์ อาทิ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะมูฟวี่ 25 เจ้าสาวฮาโลวีน ที่เพิ่งออกโรงไป ตามด้วย ธอร์ : ด้วยรักและอัสนี (เข้าโรง 6 ก.ค.) ที่ผ่านมา, แบล็ค แพนเธอร์ ภาค 2 (เข้าโรง 10 พ.ย.) และอวาตาร 2 (เข้าโรง 14 ธ.ค.) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะตามด้วยหนังไทยฟอร์มใหญ่

อาทิ มนต์รักวัวชน กำลังฉาย, ทวงคืน (เข้าโรง 13 ก.ค.), บูชา (เข้าโรง 13 ก.ค.) และบุพเพสันนิวาส 2 (เข้าโรง 28 ก.ค.) เพื่อดึงทราฟฟิกทั้งกลุ่มลูกค้ากรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยหนังใหม่จะเข้าฉายทุกวันพฤหัสฯทุกสัปดาห์

พร้อมกันนี้เอสเอฟและพาร์ตเนอร์ยังมีแผนจะจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมแคมเปญพิเศษ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในช่วงที่ต้องเจอปัญหากำลังซื้อ และที่สำคัญเอสเอฟไม่มีการปรับขึ้นราคาบัตรชมภาพยนตร์ รวมทั้งการเพิ่มช่องทางในการซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ให้มากขึ้น เช่น ออนไลน์ หรือการจองตั๋วล่วงหน้า

“ปีนี้มีหนังฟอร์มยักษ์ทยอยเข้ามาต่อเนื่อง อย่างกรณีของด็อกเตอร์สเตรนจ์ จูราสสิค วันแรกที่ฉายคนเต็มทุกสาขาทุกโรง เป็นเหมือนกับว่าภาพยนตร์ที่คนต้องการดูในช่วงแรกที่ฉาย หรือหลังจากที่โรงหนังกลับมาเปิดวันแรกคนก็เดินกลับเข้ามาในโรงหนังเลย ไม่กลัวโรงหนัง แต่จะขึ้นอยู่กับภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ เอสเอฟก็จะมีโปรโมชั่นค่อนข้างมาก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ที่สำคัญคือเรายังขึ้นราคาตั๋ว ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อาจไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนหนังฟอร์มเล็กที่อาจจะตอบโจทย์ได้เฉพาะบางกลุ่ม ดังนั้น เราจะมีโปรโมชั่นไว้ซัพพอร์ต”

ถ่ายทอดคอนเสิร์ต-ศึกแดงเดือด

นางสาวพิมสิริกล่าวต่อไปว่า นอกจากการฉายหนังที่เป็นรายได้หลักแล้ว ล่าสุดเอสเอฟยังหันมาให้ความสำคัญกับการนำคอนเทนต์ที่เป็นรูปแบบใหม่ ๆ มาฉายหรือถ่ายทอดมาที่โรงหนังหรือสาขาต่าง ๆ เป็นการสร้างโอกาสใหม่เพื่อสร้างรายได้เข้ามาเสริม

เช่น ล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการจับมือกับเฟรชแอร์ เฟสติวัล ถ่ายทอดสดศึกแดงเดือด THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 ระหว่างสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ในวันที่ 12 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยจะเป็นการถ่ายทอดสดไปยัง 40 สาขาของเอสเอฟรวมกว่า 30,000 ที่นั่ง

นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่เป็นการโฟกัสเฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างความหลากหลายและเพิ่มทางเลือกให้สอดรับกับพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบันที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมที่นอกเหนือจากการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น drive-in cinema การจัดคอนเสิร์ต หรือการให้ลูกค้าเหมาโรงดูหนังและเล่นเกมแบบส่วนตัวในราคาพิเศษ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้จัดงานแฟนมีตติ้งศิลปินเกาหลี มาร์คต้วน ที่ถ่ายทอดสัญญาณสดจากอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี มายังโรงภาพยนตร์เอสเอฟ 16 สาขา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการถ่ายทอดสดแบบสตรีมมิ่งภายในโรงภาพยนตร์

รวมทั้งจะมีการจำหน่ายสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ และป๊อปคอร์นรสชาติใหม่ ๆ ผ่านเอสเอฟช็อปและช่องทางดีลิเวอรี่ที่จะให้ความสำคัญควบคู่กันไป

กางแผนลงทุนเพิ่มสาขา

นางสาวพิมสิริกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เพื่อรองรับเทรนด์ธุรกิจโรงหนังที่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทมีแผนจะลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่ม เบื้องต้นมี 2 สาขาหลัก ๆ จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 65 สาขาทั่วประเทศ ได้แก่ เทอร์มินอล 21 ถ.พระราม 3 และภูเก็ต รวมถึงการเปิดสาขาพิเศษเพิ่มอีก 1 แห่ง โดยสาขานี้คาดว่าจะใช้งบฯลงทุนกว่า 50 ล้านบาท

จากเดิมที่ 1 สาขา คือ เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างมาก เป็นการพัฒนาโรงภาพยนตร์ THE BED CINEMA by Omazz ที่เป็นการนำเตียงรุ่นใหม่จากโอมาซมาใช้ภายในโรภาพยนตร์จำนวน 30 เตียงนอน ราคาบริการเริ่มต้น 1,300 บาท รวมถึงการเพิ่มบริการเลานจ์ นำอาหาร ป๊อปคอร์น และเครื่องดื่มมาบริการลูกค้าสามารถเข้าใช้บริการก่อนรอบชมภาพยนตร์ 1 ชั่วโมง และตลอดการชมภาพยนตร์

“ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ธุรกิจโรงหนังมีความท้าทายอย่างมาก แม้โรงหนังอาจจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของต้นทุนเหมือนธุรกิจอื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่โรงหนังต้นทุนหลักมาจากลิขสิทธิ์หนัง และโรงหนังใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ ต้นทุนจะหนักไปที่ค่าเช่า ส่วนพนักงานบริการมีไม่มากนัก ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่นและตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น” นางสาวพิมสิริกล่าวในตอนท้าย”