ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ฟื้นแผนเข้าตลาดตลาดหุ้น หลังต้องเลื่อนเพราะพิษโควิด คาดเริ่มไอพีโอได้ไตรมาส 4/66 กางแผนระดมทุน 2-.25 หมื่นล้าน รองรับการขยายสาขาทุกโมเดล-สู้ศึกค้าปลีก เดินหน้าลงทุนสร้างคลังสินค้าใหม่ 8 แห่ง
นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้านค้าปลีก อาทิ CJ Express, CJ Supermarket และ CJ More เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผนจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้ง เพื่อรองรับการขยายสาขาและรองรับการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่สูงขึ้น
จากเดิมที่เคยมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปีนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะตลาดและธุรกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19
โดยคาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งได้ในช่วงประมาณไตรมาส 2 ปี 2566 และคาดว่าจะเสนอขายหุ้นให้นักลงทุน (IPO) ได้ในไตรมาส 4 ของปีเดียวกัน มูลค่าประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินจากมูลค่า 20% ของมาร์เก็ตแคปของบริษัทในขณะนั้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท
ส่วนแผนการดำเนินการระหว่างนี้ บริษัทโฟกัสการขยายสาขา CJ More ภายใต้คอนเซ็ปต์ การเป็นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพื่อรองรับทุกความต้องการของลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งประกอบด้วย CJ Supermarket เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาประหยัดเทียบเท่ากับไฮเปอร์มาร์เก็ต
นอกจากนี้ ภายใน CJ More ยังจะมีแบรนด์ค้าปลีกเฉพาะ ได้แก่ นายน์ บิวตี้ (Nine Beauty) โซนเครื่องสำอาง และความงามมัลติแบรนด์, บาว คาเฟ่ (Bao Cafe) ร้านกาแฟสด, อูโนะ (UNO) โซนสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น เครื่องเขียน และเอ-โฮม (A-Home) โซนสำหรับคนรักบ้าน ด้วยสินค้า D.I.Y. ครบครัน อุปกรณ์เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ทำสวน เป็นต้น
โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีครบ 100 สาขา จากปัจจุบันมีประมาณ 10 สาขา และจะขยายเพิ่ม 100 สาขา/ปี จนครบ 500 สาขาในปี 2569
ส่วน CJ Supermarket กำลังศึกษาการเพิ่มระบบ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy now Pay later ซึ่งจะอาศัยความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย รวมถึงเดินหน้าขยายอีก 250 สาขาในปีนี้ และขยายเพิ่มอีก 250 สาขาในปี 2566 และมีประมาณ 1,500 สาขา ภายในปี 2569 ส่วนร้านสะดวกซื้อ ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส ปัจจุบันมีมากกว่า 800 สาขา ก็มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
“เพื่อรองรับแผนการขยายสาขา บริษัทเดินหน้าลงทุนสร้างคลังสินค้าใหม่ 8 แห่ง รวมพื้นที่ 3 แสน ตร.ม. ในจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ ขอนแก่น ลำพูน บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช เป็นต้น ลงทุนแห่งละ 3,000 ล้านบาท แต่ละแห่งจะรองรับร้านค้า 5,000 ร้านค้า คาดว่าปี 2566 จะแล้วเสร็จประมาณ 6 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อทดแทนคลังสินค้า 8 แห่งเดิมที่เป็นการเช่า และทำเลไม่ตอบโจทย์”
พร้อมกันนี้ นายเสถียรยังกล่าวถึงการดำเนินงานของร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ว่า มีแผนจะผลักดันทั้งการขยายสาขาและการเสริมฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ให้ร้านเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างรายได้และชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้ บริษัทจะเริ่มทดลองระบบขายเชื่อ หรือการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าในการซื้อสินค้าในร้าน วงเงินประมาณ 500-1,000 บาท/ราย รวมไม่เกิน 2 แสนบาท/ร้าน
โดยจะเป็นการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยตั้งบริษัทร่วมทุน ในชื่อ บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด หรือ KBAO เข้ามาให้บริการสินเชื่อแบบดิจิทัล รวมกับข้อมูลฐานสมาชิกร้านที่ปัจจุบันมีกว่า 3 แสนราย โดยจะทดลองเฟสแรกใน 100 ร้านค้า เพื่อประเมินผลตอบรับและการรับมือความเสี่ยงที่เหมาะสม
พร้อมเพิ่มฟังก์ชั่น พรีออร์เดอร์สินค้า ที่เป็นการสั่งสินค้าในแค็ตตาล็อกผ่านหน้าร้าน เพื่อให้ขยายไลน์อัพสินค้าในแต่ละร้านเป็นกว่า 2 หมื่นเอสเคยู จากหลากหลายกลุ่ม เช่น วัสดุก่อสร้างจากเครือปูนซิเมนต์ไทย เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้อนาคตอาจเพิ่มบริการอื่น ๆ เข้ามาอีก อาทิ บริการทางการแพทย์ บริการภาครัฐ รับส่งพัสดุ และจุดกระจายสินค้าให้เอสเอ็มอีหรือสินค้าเกษตร ฯลฯ
ขณะเดียวกันจะเร่งการขยายสาขาจากปัจจุบันที่มีกว่า 5,000 ร้าน ให้ครบ 10,000 ร้านในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 20,000 และ 30,000 ร้านในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ หลังยกเลิกข้อจำกัดที่รับเฉพาะผู้ประกอบการโชห่วยเดิม เป็นเปิดรับนักลงทุนทั่วไป ทำให้ขณะนี้มีผู้สมัครกว่า 2,000 รายต่อเดือน คาดว่าการขยายสาขาและเพิ่มบริการใหม่ จะทำให้ปี 2565 มีรายได้ 2 หมื่นล้านบาท และเริ่มพลิกกลับมามีกำไร