ตู้เวนดิ้ง บูมรอบใหม่ ช่องทางฮิต ปั้นยอดค้าปลีก

ตู้เวนดิ้ง
คอลัมน์ : จับกระแสตลาด

ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติหรือเวนดิ้งแมชีนฟื้นกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง สะท้อนจากตู้กาแฟเต่าบินที่สร้างกระแสต่อคิวในหลายพื้นที่ ทั้งงานอีเวนต์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ มาตั้งแต่ต้นปี และการปรากฏตัวของตู้ขายแปลก ๆ ใหม่ ๆ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ของเล่นของสะสม และการเข้าไปตั้งในทำเลใหม่ ๆ อย่างชานชาลาของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

ก่อนหน้านี้ตลาดตู้เวนดิ้งแมชีนของไทยซึ่งมีจำนวนตู้กว่า 3 หมื่นตู้ ต้องสะดุดเพราะการระบาดของโรคโควิด-19และการล็อกดาวน์ที่ทำให้ทำเลทองอย่างโรงงานอุตสาหกรรม สถานีขนส่ง ฯลฯ ไร้ผู้คน จนผู้เล่นหลายรายต้องชะลอการขยายตู้

แต่ปี 2565 นี้ ตู้เวนดิ้งแมชีนเริ่มส่งสัญญาณขยายตัวอีกครั้ง หลังผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงสูงวัยหันมาใช้งานตู้กันมากขึ้น ด้วยความคุ้นเคยจากการใช้งานในช่วงล็อกดาวน์ ขณะเดียวกันผู้ผลิตสินค้าเริ่มมองว่า ตู้เวนดิ้งเป็นหนึ่งในช่องทางจำหน่ายที่มีศักยภาพและมีข้อได้เปรียบเฉพาะตัวที่ช่องทางอื่นไม่มี

เครื่องมือการตลาดสำคัญ

“อนุรักษ์ ตีระลัภนานนท์” รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด (ประเทศไทย) กลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งนอกจากเครื่องดื่มอย่างกระทิงแดงและแมนซั่มแล้ว ยังมีธุรกิจบริหารตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ที.จี.เวนดิ้ง จำนวนกว่า 2 พันตู้ทั่วประเทศ อธิบายว่า การล็อกดาวน์และปิดร้านค้า-ห้าง ในช่วงโควิด-19 ระบาด กระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยคุ้นเคยกับการใช้งานตู้เวนดิ้งแมชีนมากขึ้น เช่นเดียวกับการชำระเงินรูปแบบใหม่ ๆ เช่น คิวอาร์โค้ดและโมบายแบงกิ้งจากการใช้แอปเป๋าตัง ซึ่งถูกนำมาใช้ในตู้เวนดิ้งแมชีนเช่นกัน

สำหรับบริษัทจะอาศัยกระแสนี้ใช้ตู้เวนดิ้งเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือ อาทิ แมนซั่ม ด้วยการรุกเข้าสู่ทำเลสถานศึกษาเพื่อหนุนแผนขยายฐานลูกค้าแบรนด์แมนซั่มไปยังกลุ่มเจนซีหรือกลุ่มนักศึกษา เนื่องจากมองว่าการขายผ่านตู้ช่วยเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะทดลองซื้อสินค้าให้มากขึ้น

อีกทั้งยังสามารถสร้างการรับรู้แบรนด์และสินค้าอื่นในพอร์ตโฟลิโอจากการจัดให้ตู้มีแต่สินค้าของบริษัทได้ด้วย หรือการติดสติ๊กเกอร์แรปตู้ที่ในมหาวิทยาลัยจะติดเป็นแบรนด์แมนซั่ม รวมถึงสามารถทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่าง ๆ ได้ง่ายอีกด้วย

นอกจากเวนดิ้งแมชีน หรือตู้หยอดเหรียญจะมีศักยภาพด้านการตลาดในแง่ของการสร้างการรับรู้แบรนด์ และนำสินค้าไปเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ผู้ประกอบการหลายรายยังมองเห็นโอกาสอื่น ๆ จากการใช้ตู้เวนดิ้ง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาจำหน่ายสินค้าหลังร้านปิด การเป็นช่องทางขายจำหน่ายสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ นอกเหนือจากการขายอาหาร เครื่องดื่มที่คุ้นตากันอยู่แล้ว

ช่องทางใหม่อนาคตสดใส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สินค้าสุขภาพ เป็นหนึ่งในกลุ่มล่าสุดที่เข้ามาวางขายในตู้เวนดิ้ง อาทิ ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ ซึ่งมีผู้เล่นหลายราย อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี, เอ็มพี กรุ๊ป ผู้นำเข้าชุดตรวจโควิด-19 ATK STANDARD Q, ร้านคลังยาราชพฤกษ์, ร้านยากรุงเทพ ฯลฯ ซึ่งต่างนำตู้จำหน่ายยาไปตั้งตามจุดต่าง ๆ ทั้งใน รพ. หน้าร้านยา สถานีบีทีเอส และอื่น ๆ

ในขณะที่เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ ผู้บริหารร้านค้าปลีก Turtle Shop ในสถานีบีทีเอส เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่นำตู้เวนดิ้งขึ้นไปตั้งบนชั้นชานชาลาของสถานีบีทีเอส เช่น สถานีเซนต์หลุยส์ และสถานีเพลินจิต

หลังจากช่วงล็อกดาวน์มีการนำสินค้าสุขภาพอย่างชุดตรวจ ATK, หน้ากากอนามัย, หน้ากากผ้า, เจล-สเปรย์แอลกอฮอล์มาจำหน่ายผ่านตู้อัตโนมัติแล้ว เช่นเดียวกับของใช้ เช่น สายชาร์จมือถือ แบตเตอรี่สำรอง เสื้อยืด ชุดชั้นใน โมเดลพลาสติกสำหรับสะสม ฯลฯ ที่เคยเป็นกระแสช่วงปี 2562-2564

“กิตติศักดิ์ รักธรรม” ผู้ร่วมก่อตั้ง Duck Group ผู้จำหน่ายตู้หยอดเหรียญหลายรูปแบบมานานกว่า 10 ปี ทั้งตู้แลกเหรียญ ตู้ขายน้ำยาซักผ้าในร้านสะดวกซัก และตู้ขายสินค้ารวมกันกว่า 7 พันตู้ รวมถึงมีร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานอีก 20 สาขา อธิบายว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ-เจ้าของสินค้าเปิดรับการใช้งานตู้เวนดิ้งมากขึ้น เพราะปัจจุบันตู้เวนดิ้งเป็นมิตรทั้งกับผู้ซื้อและเจ้าของตู้มากกว่าในอดีต เช่น การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด-วอลเลตต่าง ๆ ช่วยให้สามารถคืนเงินลูกค้าได้ทันที ลดประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการใช้งานที่จะส่งผลต่อแบรนด์สินค้า ส่วนเจ้าของตู้สามารถติดตามการทำงาน จำนวนสินค้าและยอดขายได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ง่าย ลดโอกาสขาดทุนลง

ทำให้ตู้ถูกนำไปใช้ในวงกว้าง เช่น ร้านค้าต่าง ๆ นำไปตั้งหน้าร้านเพื่อเพิ่มโอกาสขายหลังร้านปิดทำการ หรือวัดและตลาดนำไปใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้มาใช้สถานที่ เป็นต้น โดยภายในงานสมาร์ทเอสเอ็มอีเอ็กซ์โปที่ผ่านมามีผู้สนใจตู้เวนดิ้งจำนวนมาก และมีลูกค้าของบริษัทบางรายลงตู้เวนดิ้ง 7-8 เครื่องในพื้นที่เดียว

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีโอกาสที่ในอนาคตจำนวนตู้เวนดิ้งในไทยจะเพิ่มจำนวนไปถึง 4-5 หมื่นเครื่องได้ และการใช้งานอาจขยายไปในด้านอื่น ๆ เช่น การเบิกจ่ายเครื่องใช้-อุปกรณ์ในโรงงาน และสถานประกอบการต่าง ๆ

ผู้ร่วมก่อตั้ง Duck Group กล่าวต่อไปว่า กำลังร่วมมือกับบริษัท Dietz สตาร์ตอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพื่อพัฒนาตู้จำหน่ายยาที่มีบริการให้คำปรึกษาแพทย์ผ่านหน้าจอบนตู้ได้ เพื่อนำตู้เข้าไปในระดับชุมชน-หมู่บ้านที่การเข้าถึงยา-แพทย์ทำได้ยาก

พร้อมกับจับมือสถานศึกษาปั้นทีมช่างที่เชี่ยวชาญด้านตู้เวนดิ้งแมชีนโดยเฉพาะขึ้น รวมถึงเดินสายหาพันธมิตรในวงการชิ้นส่วนยานยนต์มาช่วยผลิตชิ้นส่วนตู้เวนดิ้งเพื่อรองรับตลาดที่จะขยายตัวในอนาคต ไปจนถึงรับมือความท้าทายด้านบริการหลังการขายและการจัดการต้นทุนผลิต-ซ่อมแซมตู้อีกด้วย

“การเข้าสู่สังคมสูงวัยและจำนวนแรงงานที่ลดลง ทำให้ตู้เวนดิ้งมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากและไม่จำกัดแค่การขายน้ำ-ขนมแล้ว เห็นได้จากในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นยังมีตู้แบบแปลก ๆซึ่งยังไม่เคยมีในไทยอีกมาก”

เดินตามรอยเวนดิ้งญี่ปุ่น

ตามรายงานของสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย พบว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าวัฒนธรรมตู้เวนดิ้งนั้น มีตู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตู้ที่ออกแบบมาพิเศษให้สามารถขายปลาดิบซาชิมิ ข้าวหน้าปลาดิบ รวมถึงเมนูอาหารทะเลต่าง ๆ ได้ วางขายในราคาแพ็กละประมาณ 500 เยน (131 บาท) เท่านั้น

และเจ้าของตู้บางรายยังใส่กิมมิกเสริม เช่น คูปองชิงโชคเข้าไป เพื่อกระตุ้นการซื้ออีกด้วย เช่น ร้านสเต๊กเทราโอกะ ฟูชะ เมืองคานาซาวา สิทธิลุ้นรางวัลเนื้อวัวระดับพรีเมี่ยมราคา 7,500 เยน (1,960 บาท) เมื่อกดซื้อคูปองมูลค่า 2,000 เยน (524 บาท)โดยการสุ่มแต่ละครั้งมีโอกาสถูกรางวัล 10% ช่วยให้มียอดขายถึงเดือนละ 4-5 แสนเยน (1-1.3 แสนบาท)

สำหรับในประเทศไทย ต้องรอดูว่าผู้ผลิตตู้และแบรนด์สินค้าจะมีกลยุทธ์สำหรับการใช้ตู้เวนดิ้งเพื่อสร้างความได้เปรียบในธุรกิจกันอย่างไรบ้าง