“ตู้เวนดิ้งปลาดิบ” หยอดเหรียญรับสเต๊ก เค้ก พุดดิ้ง เมนูเพียบ

ซูชิ
คอลัมน์ Market Move

ขณะที่คนไทยกำลังฮิตตู้กาแฟเต่าบิน ส่วนที่ญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งวัฒนธรรมและนวัตกรรมตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญหรือเวนดิ้งแมชีนได้ยกระดับการขายสินค้าผ่านเวนดิ้งแมชีนไปอีกขั้นด้วยสารพัดอาหารพร้อมทานไม่ว่าจะเป็นปลาดิบ สเต๊ก เค้ก และพุดดิ้ง

สินค้าดังกล่าวนอกจากตอบโจทย์ด้านข้อจำกัดจำนวนลูกค้าและเวลาเปิดร้านที่ถูกจำกัดในช่วงโควิดแล้ว หลายธุรกิจที่นำตู้หยอดเหรียญมาใช้ยังค้นพบประโยชน์ที่คาดไม่ถึงอย่างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ที่เดิมไม่มาหาซื้ออาหารเหล่านี้ในร้านอีกด้วย

สำนักข่าว “นิกเคอิเอเชีย” รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เวนดิ้งแมชีนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ขายสินค้าที่ไม่เคยมีมาก่อนและน่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ผุดขึ้นในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นตู้ขายปลาดิบซาชิมิ ตู้ขายสเต๊กเนื้อ ตู้ขายขนมอบต่าง ๆ ซึ่งต่างเป็นเมนูอาหารที่ปกติจะต้องเข้าไปทานหรือซื้อในร้านเท่านั้น

สำหรับตู้ขายปลาดิบซาชิมิตั้งอยู่ที่ตลาดค้าอาหารทะเลโอมิโช อิชิบะ เมืองคานาซาวา จังหวัดอิชิกาวา โดยสินค้าจะมาในรูปแบบแพ็กเกจที่ประกอบด้วยอาหารทะเลสด 4-5 ชนิดต่อแพ็ก ไม่ว่าจะเป็นปลาทะเลขึ้นชื่อในท้องถิ่นไปจนถึงของขึ้นชื่อจากจังหวัดอื่น ๆ อย่างปลาหมึก กุ้งน้ำลึก ฯลฯ ที่ต่างถูกคัดมาพิเศษให้มีคุณภาพเท่ากับทานในร้านอาหาร และมีการเติมสินค้าใส่ตู้วันละ 2 ครั้ง ส่วนราคาขายอยู่ที่แพ็กละ 500 เยน (131 บาท) เท่านั้น

นอกจากปลาดิบแล้วยังมีตู้เวนดิ้งขายอาหารทะเลเมนูอื่น ๆ เช่น ข้าวหน้าปลากะพงสีชมพูที่เป็นเมนูหาทานยาก ปลาตามฤดูกาลทอด ปลาดองมิโซะ และอื่น ๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

แม้ตู้เวนดิ้งเหล่านี้จะถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ช่วงโควิด-19 อย่างการขายสินค้าแบบไร้สัมผัสตามมาตรการป้องกันโรค และช่วยเพิ่มโอกาสการขายให้ร้านอาหารแม้จะต้องปิดร้านตั้งแต่ 5 โมงเย็น แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นเป้าหมายของเหล่านักท่องเที่ยวที่พักในโรงแรมย่านใกล้เคียง และคนทำงานที่ปกติไม่มีโอกาสไปทานอาหารในร้านได้ทันก่อนร้านปิด

“มาซารุ อรากิ” ผู้อำนวยการของโฮกูจิ ซุยซัน บริษัทค้าส่งอาหารทะเลรายใหญ่ในตลาดค้าอาหารทะเลโอมิโช อิชิบะ ซึ่งเป็นผู้ซัพพลายสินค้าให้ตู้ขายอาหารทะเลนี้กล่าวว่า ตั้งแต่ตั้งตู้นี้มา 2 สัปดาห์ผลตอบรับดีมาก โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวและพนักงานออฟฟิศที่แวะซื้อช่วงดึกหลังเลิกงาน สะท้อนจากการขายสินค้าได้หมดทุกวันแม้จะเติมสินค้าวันละ 2 รอบ ช่วง 9 โมงเช้าและบ่าย 3 แล้วก็ตาม ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะปรับไลน์อัพสินค้าเน้นไปที่ตัวที่ทำยอดขายได้ดี

ส่วนตู้ขายสเต๊กเนื้อตั้งอยู่ที่หน้าร้านสเต๊กเทราโอกะ ฟูชะ เมืองคานาซาวา นอกจากจะมีสินค้าทั้งสเต๊กเนื้อและแฮมเบอร์เกอร์แล้ว ยังมีไฮไลต์เป็นลูกเล่นเสริมเพื่อกระตุ้นการขายอย่างสิทธิลุ้นรางวัลเนื้อวัวระดับพรีเมี่ยมราคา 7,500 เยน (1,960 บาท) เมื่อกดซื้อคูปองมูลค่า 2,000 เยน (524 บาท) โดยการสุ่มแต่ละครั้งมีโอกาสถูกรางวัล 10%

ด้วยกิมมิกนี้ทำให้ตู้เวนดิ้งขายสเต๊กของร้านสเต๊กเทราโอกะ ฟูชะ ทำรายได้มากถึงเดือนละ 4-5 แสนเยน (1-1.3 แสนบาท) จนเจ้าของตู้เตรียมขยายจำนวนเพิ่ม “คาซุฮิโกะ เทราโอกะ” ผู้อำนวยการบริษัท เทราโอกะ ชิคุซัน ผู้บริหารเชนร้านสเต๊กเทราโอกะ ฟูชะ กล่าวว่า หากตู้สามารถสร้างยอดขายในระดับนี้ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง บริษัทจะนำตู้ใหม่ไปตั้งในทำเลอื่น ๆ ด้วย เช่น ริมถนนสายหลักที่มีคนจำนวนมากผ่านไปมาและจุดอื่น ๆ ภายในเขตเมือง

นอกจากนี้ ยังมีตู้ขายขนมหวานของร้านเค้กไลฟ์ อีส สวีต ซึ่งหันมาพึ่งการขายผ่านตู้เวนดิ้งแมชีนเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยขนมต่าง ๆ อาทิ เค้ก พุดดิ้ง ผลไม้แช่อิ่ม และอื่น ๆ จะบรรจุในแพ็กเกจทรงกระป๋องน้ำอัดลม ทำให้สามารถนำตู้สำหรับขายน้ำอัดลมมาใช้งานได้โดยไม่ต้องดัดแปลงเพิ่ม โดยมีราคาขายเฉลี่ย 700 เยนต่อชิ้น (184 บาท) และสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 30-40 ชิ้นต่อวัน

“ไดกิ คาวากุจิ” เจ้าของร้านเค้กไลฟ์ อีส สวีต เปิดเผยว่า ตอนแรกเรานำตู้เวนดิ้งมาเพื่อแก้ปัญหาการขายในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่หลังนำมาใช้ทำให้ร้านได้ลูกค้ากลุ่มใหม่อย่างกลุ่มผู้ชายวัยทำงานที่มักมาซื้อสินค้าคนเดียวในช่วงค่ำ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะปกติลูกค้ากลุ่มนี้อาจรู้สึกอายที่จะเข้าร้านเค้กคนเดียว จึงเลือกใช้บริการตู้เวนดิ้งแทน ทำให้หลังจากนี้บริษัทจะเพิ่มจุดตั้งตู้เวนดิ้งให้มากขึ้นอีก

ขณะเดียวกัน นอกจาก 3 ธุรกิจนี้แล้ว กระแสความต้องการใช้งานตู้เวนดิ้งจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งคาวและหวานกำลังเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน “ฮิโรชิ วาตานาเบะ” ประธานของไออาร์เอ็ม เจแปน ผู้ให้บริการติดตั้ง-ซ่อมแซมตู้เวนดิ้งแมชีน ซึ่งติดตั้งตู้ให้กับทั้ง 3 ราย ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาร้านอาหารหลายแห่งที่บริษัทติดต่อด้วยต่างปรึกษาเรื่องการนำตู้เวนดิ้งมาใช้กับธุรกิจของตน

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจของการใช้งานตู้เวนดิ้งแมชีน ซึ่งนอกจากช่วงโควิด-19 ระบาดแล้ว อาจตอบโจทย์สถานการณ์ต้นทุนสินค้า-ค่าแรงที่พุ่งสูงอยู่ในขณะนี้ได้ด้วยเช่นกัน