เบรกขายรถ EV สิ้นไตรมาส 3 หวั่นลูกค้าชวดเงินอุดหนุน

MG

EV จีนขีดเส้นสิ้นไตรมาส 3 หากรัฐบาลยังไม่ต่อมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจต้องขยับราคาขายใหม่ทั้งหมด ลูกค้าจ่อจ่ายเพิ่มถึง 2 แสน หากชวดสิทธิรับเงินอุดหนุนคันละ 1.5 แสนบาท ระบุติดปัญหาหลายอย่าง ทั้งระยะเวลาสั่งรถจาก ตปท. ขั้นตอนการจดทะเบียนรถใหม่ หวั่นไม่ทันภายในสิ้นปี จี้รีบตั้ง ครม.พร้อมเคาะมาตรการ EV 3.5

ใครที่กำลังจดจ้องเป็นเจ้าของรถ EV โดยใช้สิทธิมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลที่ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อสูงสุด 1.5 แสนบาทอาจจะต้องรีบตัดสินใจ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดภายในปี 2566 แต่บรรดาค่ายรถ EV โดยเฉพาะแบรนด์จีน เตรียมขีดเส้นการขายภายในสิ้นไตรมาส 3 นี้เท่านั้น

หวั่นจดทะเบียนไม่ทัน

แหล่งข่าวผู้ค้ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาลกำลังลุ้นว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาอนุมัติต่ออายุมาตรการสนับสนุนการใช้รถ EV ได้ทันภายในไตรมาส 3 นี้หรือไม่ แต่ดูแนวโน้มน่าจะไม่ทัน ซึ่งความล่าช้านี้จะมีผลให้คนซื้อรถ EV อาจจะต้องจ่ายเพิ่มราว ๆ 2 แสนบาท เพราะรถ EV ที่ขายอาจจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ลูกค้าจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาท ประกอบกับต้นทุนรถ EV ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งค่าขนส่ง แบตเตอรี่ เพียงแต่กรมสรรพสามิตไม่อนุมัติให้ปรับราคาหลังจากได้สรุปราคาขายเบื้องต้นกันไว้แล้ว

“ถ้าเลยสิ้นเดือนกันยายนนี้ เราคาดว่าคงไม่สามารถขายรถ EV ภายในโครงการนี้ได้ เพราะออร์เดอร์รถแต่ละคันจากประเทศจีนต้องใช้เวลาพอสมควรกว่ารถจะมาถึงบ้านเรา ยังมีปัญหาเรื่องเอกสารอีก ระหว่างขายก็มีขั้นตอนเยอะ ทั้งสินเชื่อ ประกันภัย ฯลฯ และที่สำคัญค่ายรถต้องแอ็บซอร์บเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทไปก่อนแล้วตั้งเบิกคืนทีหลัง ซึ่งการขอรับเงินคืนรถทุกคัน กรมสรรพสามิตกำหนดจะต้องจดทะเบียน มีป้ายขาวเรียบร้อย ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวไม่น่าทันกับระยะเวลาของมาตรการที่ส่งเสริมสิ้นสุด ดังนั้นค่ายรถจำเป็นต้องบวกราคาเพิ่มไปเลย”

MG ยืดเวลาแค่ตุลาคม

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า MG อาจจะต้องใช้วิธีการเจรจาและให้ข้อมูลกับลูกค้าอย่างชัดเจนว่า หากลูกค้าซื้อรถ EV 4 รุ่นที่เข่ารวมโครงการนี้ ได้แก่ MG4, MG ZS EV, MG ES และ MG EP+ ว่าจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2566 แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องเบรกการซื้อขายหรือหยุดการรับจองไว้ก่อน หรือหากจะมีการรับจอง อาจจะต้องมีข้อตกลงร่วมกับลูกค้า ถึงเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นในกรณีจดทะเบียนไม่ทันว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“ตอนนี้เราได้แต่รอว่าจะมีการประกาศการสนับสนุนต่อหรือไม่ และมีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมบ้าง ถ้ายังไม่มีความชัดเจนก็ต้องชะลอการรับจอง การขายรถ EV ออกไปก่อน”

เชื่อรัฐบาลใหม่รับไม้ต่อทัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจไปยังผู้ประกอบการรถ EV ที่เข้าร่วมโครงการหลาย ๆ แบรนด์ต่างแสดงความกังวล แต่ยังเชื่อว่าน่าจะทัน โดยนายประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์ BYD ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากรัฐบาลไทยมีมาตรการดึงดูดการลงทุนจากค่ายรถ EV แล้ว มีค่ายรถเข้ามาลงทุนแล้วเยอะ อย่างไรก็ต้องการสนับสนุนต่อแน่นอน ทั้งในแง่ของค่ายรถยนต์ ชิ้นส่วนและผู้บริโภค โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านราคา เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถเข้าถึงรถประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น

แหล่งข่าวจากดีลเลอร์เกรท วอลล์ มอเตอร์ ผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์โอร่า กล่าวเสริมว่า ยังพอมีเวลาอีกหลายเดือน เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะเป็นไปด้วยดี และมั่นใจว่าบอร์ด EV น่าจะเคาะเรื่องนี้นำเข้า ครม.ได้ทัน รวมถึงมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเวอร์ชั่นต่อไป (EV 3.5) ด้วย

อีวี ไพรมัส ยันพร้อมขึ้นไลน์ผลิต

ขณะที่นายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์อีวี ภายใต้แบรนด์ Volt และ Wuling กล่าวยอมรับว่า ตอนนี้ไม่มีใครสามารถประกอบหรือผลิตรถ EV ได้ถูกกว่าจีน ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะประกอบรถยนต์ไฟฟ้านั้น อาจจะมีต้นทุนที่สูงกว่า และทำให้ราคาจำหน่ายไม่ได้ถูกกว่ารถที่นำเข้าจากจีน เนื่องจากจีนมีการผลิตในจำนวนที่สูงกว่าไทยมาก โดยอีวี ไพรมัส จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 แบรนด์ จากโรงงานประเทศไทยในเดือนตุลาคม และรถที่ผลิตจากโรงงานในไทยจะสามารถวางจำหน่ายในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปในเดือนธันวาคมนี้แน่นอน

เช่นเดียวกับนายอเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมขึ้นไลน์ประกอบรถ EV รุ่น NETA V ในไตรมาสแรกของปี 2567 และในแผนของบริษัทจะขายต่อเนื่องไปจนมาตรการสนับสนุนการนำเข้ารถ EV สิ้นสุด เนต้าจะต้องมีสินค้าเพื่อหล่อเลี้ยงให้ดีลเลอร์สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนต้ายืนยันว่าจะรับจองรถอีวีต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เนต้ายังหวังว่า รัฐบาลไทยจะมีการประกาศมาตรการสนับสนุนด้วยนโยบายอีวี 3.5 ออกมาแน่นอน

“เราก็ยังมั่นใจว่าลูกค้าที่ซื้อรถจะนำรถไปจดทะเบียนได้ทัน และเราคงนำเข้าเพื่อขายอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเราหยุด ดีลเลอร์เราก็จะไม่มีรายได้ เรายังหวังว่านโยบาย EV 3.5 จะเข้ามาสนับสนุนผู้ทำตลาดรถอีวีต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย”

ขณะที่ด้านนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงมาตรการสนับสนุน EV ที่จะสิ้นสุดลง เกรท วอลล์ฯ กำลังประเมินสถานการณ์และทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดทิศทางและแผนงานของกรอบระยะเวลาการจองและการส่งมอบที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐที่ใกล้จะสิ้นสุดลงนี้

รอลุ้นบอร์ด EV ชุดใหม่

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า มาตรการ EV 3.5 ต้องรอจัดตั้งรัฐบาล และมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ก่อน รวมถึงต้องรอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ขึ้นมาก่อนด้วย จึงจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อ เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมเรื่องการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยก็ต้องรอเช่นเดียวกัน

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า ในช่วงก่อนจะถึงสิ้นปี 2566 นี้ มาตรการ EV 3 ยังคงมีอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมยังสามารถนำเข้ารถ EV มาจำหน่ายภายใต้มาตรการได้อยู่ ขณะที่ในช่วงปี 2567-2568 จะเป็นการผลิตในประเทศเท่านั้น แต่จะยังคงได้รับในส่วนเงินอุดหนุน คันละ 150,000 บาทอยู่ แต่กรณีรถ EV นำเข้าจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว

“ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการจะขยับขึ้นราคารถอีวีช่วงปลายปีนั้น ถ้าเป็นรถ EV ที่อยู่ในโครงการ ที่มีการทำ MOU ไว้กับกรมสรรพสามิต ไม่สามารถปรับราคาได้ทันที ต้องมีการพิจารณาโครงสร้างราคาและได้รับการอนุมัติก่อน อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการต้องการขายในราคาที่แพงขึ้น ก็จะไม่ได้รับการอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ การจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการดังกล่าว กรมได้รับงบประมาณมาทั้งสิ้นกว่า 2,900 ล้านบาท ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว 3 ครั้ง (ไตรมาสละ 1 ครั้ง) เป็นเงินรวม 807 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนรถยนต์อีวี 5,219 คัน จำนวน 782 ล้านบาท และรถจักรยานยนต์อีวี 1,369 คัน จำนวน 24.6 ล้านบาท

เร่งจ่ายเงินอุดหนุน Q2

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเตรียมจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 อีก 980 ล้านบาท แบ่งเป็นรถ EV 6,200 คัน เป็นเงิน 935 ล้านบาท และรถจักรยานยนต์ EV 2,500 คัน เป็นเงิน 45 ล้านบาท

“ตอนนี้มีเงินเหลือสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนในไตรมาสสุดท้าย หรือภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้อีก 1,085 ล้านบาท ซึ่งคงไม่เพียงพอ โดยเราได้ขอตั้งงบประมาณปี 2567-2568 รวม 40,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการ” โฆษกกรมสรรพสามิตกล่าว

ปลื้มขาย EV โตไม่หยุด

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่ในเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 9,680 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว 496.43%

โดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่งจำนวน 7,603 คัน, รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คนจำนวน 22 คัน, รถยนต์บริการทัศนาจรจำนวน 2 คัน, รถกระบะ รถแวนมีทั้งสิ้น 13 คัน, รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 42 คัน รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 1,635 คัน, รถโดยสารมีทั้งสิ้น 256 คัน, รถบรรทุกมีทั้งสิ้น 107 คัน ขณะที่ยอดสะสมเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 43,045 คัน โต 487.65%

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ความต้องการของตลาดรถยนต์อีวีจะสูงกว่าเดิมที่คาดว่าจะอยู่ราว 50,000 ในปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะขึ้นไปที่ระดับ 60,000 คัน