พลัง TikTok ปรากฏการณ์โลกโซเชียล

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกในเรื่องการใช้งานโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี และล่าสุด ติ๊กต๊อก (TikTok) แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่มาแรงมาก

ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 35 ล้านบัญชี เป็นแอปพลิเคชั่นที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในปีที่ผ่านมากว่า 700 ล้านครั้ง แถมในบรรดาผู้ที่ใช้งานยังใช้เวลาเฉลี่ยอยู่กับ TikTok ถึง 19.6 ชั่วโมงต่อเดือน (ข้อมูลปี 2022)

TikTok จึงกลายเป็นพื้นที่ในการทำการตลาดดิจิทัลที่ทรงพลังด้วยความสามารถในการเข้าถึงคนจำนวนมาก

ว่ากันว่าในสมรภูมิการเลือกตั้งครั้งล่าสุด การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ TikTok สื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะแบบหักปากกาเซียน

“ไอซ์-รักชนก ศรีนอก” ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขต 28 กทม. บอกว่ากระแสในโซเชียลมีเดียมีส่วนอย่างมากที่ทำให้พรรคก้าวไกลคว้าเก้าอี้มาได้ถึง 150 ที่นั่ง

“ใครที่ดูถูกกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย หรือดูถูกคนใช้ในโลกโซเชียล ต้องบอกว่าคุณพลาดแล้ว เพราะ 1 สิทธิ 1 เสียงที่เราเดินไปคุยกับเขาหน้าบ้าน เมื่อคุยจบเราอาจได้หรือไม่ได้คะแนนนั้น ๆ มา แต่ถ้าทำคอนเทนต์แล้วโดนใจคน ใน 1 บัญชีผู้ใช้ เขาอาจรีโพสต์คอนเทนต์นั้นออกไป อาจมีการอัดคลิปเราไปลง ทำให้คนอื่น ๆ มีโอกาสเห็นเรา ไม่รู้กี่แสนต่อกี่แสนคน”

เป็นพลังแบบทวีคูณ ซึ่งตัวเธอเองก็ได้ประโยชน์จากพลังของโซเชียลจาก “คลิปปั่นจักรยานหาเสียง” กลายเป็นไวรัลไปทั่ว จนสร้างปรากฏการณ์ “ขี่จักรยานล้มช้าง” ได้สำเร็จ

“คลิปปั่นจักรยานหาเสียงคลิปแรกของไอซ์ มีคนมาถ่ายรูป ถ่ายคลิปเอาไปโพสต์ลงใน TikTok และกลายเป็นไวรัล ทำให้รู้สึกว่านี่แหละคือเคล็ดลับความสำเร็จของเรา เพราะเราไม่ดูถูกเสียงในโซเชียลมีเดีย”

TikTok ทุกวันนี้เป็นเหมือนการ “บรอดแคสต์” นอกจากตัวแพลตฟอร์มจะ “แมส” เข้าถึงคนจำนวนมากได้แล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่คนเซฟคอนเทนต์ต่าง ๆ เพื่อส่งต่อแพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่ว่าจะในแอปแชต “ไลน์” ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊กหรือต่อให้ไม่มีบัญชี TikTok ก็คลิกเข้าไปดูคอนเทนต์นั้น ๆ ได้

ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ และมีความเชี่ยวชาญในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะเคยเป็น “แม่ค้าขายของออนไลน์” มาก่อน ทำให้เธอเข้าใจการทำงานของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นอย่างดี

“ไอซ์ขายของออนไลน์ตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง ต้องคิดเรื่องการตลาด เรียนรู้การใช้แพลตฟอร์ม สร้างคอนเทนต์ การนำเสนอสินค้าต่าง ๆ ด้วยตัวเองทั้งหมด ทำให้ได้นำทักษะเหล่านี้มาใช้ตอนหาเสียง นำเสนอตัวเองกับพ่อแม่ พี่น้อง ประชาชน เช่น การทำใบปลิวนโยบายพรรค ก็คิดเองว่าถ้าเป็นใบปลิวแบบเดิม ๆ คนอาจไม่สนใจ เลยทำเป็นพวงมาลัยคล้องคอ คนก็อยากได้ อยากจะเก็บไว้”

ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 28 กรุงเทพมหานคร บอกว่าจะยังคงใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับประชาชนต่อไป เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงคนจำนวนมาก และวัดผลได้อย่างชัดเจน

“เวลาขายนโยบายอะไรจะเอาไปลงติ๊กต๊อกก่อน การจะวัดความสำเร็จว่าคอนเทนต์นั้นไปได้ไหมก็ดูได้จากยอดการดูคลิป เช่น ถึงล้านวิวไหม หรือเมื่อไรที่คลิปไปโผล่อยู่ในไลน์กลุ่มครอบครัว ก็แปลว่ามีการแชร์ไปทั่วแล้วจนวนกลับมาหาเราได้”

“ไอซ์” ยังแนะนำด้วยว่า ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีมือถือใช้คนละเครื่อง และใช้แอปต่าง ๆ 2-3 แอปกันอยู่แล้ว ถ้าใช้ให้เป็นก็จะได้ประโยชน์มาก เรียกว่าเป็นการ “เสกเงิน” ในแพลตฟอร์มได้ก็ไม่ผิดนัก เช่น ปัจจุบันมีอาชีพใหม่ นำสินค้าต่าง ๆ มารีวิวในแพลตฟอร์มแล้วแปะลิงก์ร้านค้าให้คนเข้าไปซื้อได้ ถ้ามีการซื้อขายเกิดขึ้นก็จะได้ค่าคอมมิชชั่น เป็นต้น แต่จะใช้แพลตฟอร์มใดต้องรู้ก่อนว่า “อัลกอริทึม” ของแพลตฟอร์มนั้น ๆ เป็นอย่างไร

“อัลกอริทึม” เปรียบได้กับกระแสน้ำที่พัดพาเราไป เช่น TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ถ้าจะสื่อสารอะไรก็ต้องอธิบายสั้น ๆ ที่จบได้ภายใน 3 นาที ต้องพัฒนาทักษะการพูด การนำเสนอให้กระชับ เข้าใจง่าย ครอบคลุมภายใน 3 นาที เป็นต้น