คดีทักษิณ-ขออภัยโทษ

ทักษิณขออภัยโทษ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ภาพที่มวลชนส่วนใหญ่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวการเมือง “ชินวัตร” จะได้เห็นในเดือนกรกฎาคม 2566 คือ ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ

อีกภาพที่มวลชนส่วนหนึ่ง และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ก็คงจินตนาการ ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตัวที่ศาล และจำคุก ในคดีที่พิพากษาถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 3 คดี

ขณะที่ทีมทนายความของทักษิณ และนักกฎหมายพรรคเพื่อไทย ต้องแยกย้ายเตรียมเอกสารอย่างน้อย 2 ชุด ทันทีที่ทักษิณถึงเมืองไทย ขั้นตอน 2 เรื่อง ต้องเกิดขึ้นทันทีคือ การเตรียมการเดินทางไปศาลเพื่อขอออกใบแดงแจ้งโทษ และกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ ในคดีที่ยังไม่หมดอายุความ 3 คดี ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โทษจำคุกรวม 10 ปี

คดีแรก-ทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือคดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีที่สอง-กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลเมียนมา ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีที่สาม-กรณีให้บุคคลอื่น ให้นอมินีถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทนตัวเอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้นจำคุก 3 ปี

17 ปีที่ผ่านมา ทักษิณไม่ได้พ่ายแพ้เสียทีเดียว คดีของเขายังได้ “หมดอายุความ” ไปด้วย 1 คดี

ในฐานะจำเลย เขาได้รับการยกผลประโยชน์ให้ เพราะไม่สามารถนำตัวมารับโทษได้ตามเวลาของอายุความ คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลับหลังจำเลย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 จำคุกทักษิณ 2 ปี ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน อดีตภรรยาตามกฏหมาย คดีนี้หมดอายุความแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2561

ไม่เพียงเท่านั้น ทักษิณอยู่ในฐานะ “ชนะ 3 คดี” คดีแรก-คดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ซึ่งศาลยกฟ้องเมื่อปี 2562 เพราะไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการเข้าไปบริหารจัดการแผนทีพีไอ และไม่ได้แสวงผลประโยชน์ หรือกระทำการ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต

คดีที่สอง-ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริตวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท คดีนี้ศาลยกฟ้อง โดยศาลวินิจฉัยว่า ตามพยานที่ให้การแก่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาฯ อ้างว่าคนสั่งการคือ “ซูเปอร์บอส” หรือ “บิ๊กบอส” ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าคือนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน อดีตภรรยาทักษิณ

คดีที่สาม-คดีที่กรมสรรพากรฟ้องทักษิณ กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท ต่อมาศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทักษิณไม่เพียงต้องขึ้น-ลงศาล เขายังต้องส่งทนายไปต่อสู้คดี ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.อีก 2 คดี

1.คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญา สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ คดีข้าวจีทูจีลอต 2 โดย ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาทักษิณเพิ่มเติม กล่าวหาทักษิณมีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจีลอต 2 โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค

2.คดีอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 จำนวน 75 ลำ ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ป.ป.ช. กล่าวหาทักษิณ พร้อมนักการเมืองที่อยู่ระหว่างรั้งตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ 1 รายคือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม

รวมทั้งนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ อดีตตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกนก อภิรดี อดีตตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ไม่ควรลืมว่า ทนายฝ่ายทักษิณ และอดีต รมว.ยุติธรรม ที่ผันตัวไปอยู่ทีมเพื่อไทย รู้เส้นสนกลในของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และกฎกระทรวง และระเบียบฉบับใหม่เป็นอย่างดี เฉพาะอย่างยิ่งมาตราที่ว่าดวยสถานที่คุมขังนักโทษ อาจเป็นสถานที่ที่กำหนด อาทิ บ้านพัก โรงพยาบาล

เป็นไปตามบทบัญญัติ ระะเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ระบุนัยว่า “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมระเบียบกรมราชทัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ ต่อผู้ถูกกักกัน ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน…” ซึ่งเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ล่าสุด วันที่ 6 มิถุนายน 2566

และให้ยกเลิกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ.2565 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน พร้อมระบุด้วยว่า “ในระเบียบนี้ สถานกักกัน  หมายความว่า สถานกักกัน หรือเขตกักกัน ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด สำหรับควบคุมผู้ถูกกักกัน”

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางขอพระราชทานอภัยโทษที่มี 2 ช่องทางคือ 1.ขอพระราชทานอภัยโทษเป็นส่วนตัว สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดคุก 2.การได้รับอภัยโทษผ่านการออกพระราชกฤษฎีกา ในวาระพิเศษ ซึ่งต้องผ่านการรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เสียก่อน


กำหนดการทักษิณบินกลับไทย ช่วงที่การเมืองกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อด้วยเกมชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่กำลังเข้มข้น