รวมคดีพิธา ก้าวไกล

รวมคดี พิธา พรรคก้าวไกล
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อายุงานการเมืองก้าวขึ้นปีที่ 5 กระโดดขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับความนิยมสูงสุดทุกโพล ทุกผลสำรวจ ในช่วงโค้งสุดท้ายในฤดูการเลือกตั้ง 2566

ระหว่างทางการหาเสียง 45 วัน “พิธา” ต้องเผชิญหน้ากับคดีเก่า-คดีใหม่ และเรื่องราวคาใจของคู่แข่งทางการเมือง และติ่งของพรรคการเมืองขั้วเดียวกัน

เรื่องราวชีวิตหลังสมรส-ความเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว-กิจการที่ขาดทุน และภารกิจชีวิตส่วนตัวหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 ถูกตีแผ่-ถูกพลิกแบบคว่ำตาย-หงายเป็น

แต่ด้วยความที่เป็นพรรคที่ใช้ยุทธวิธี ทุกศาสตร์ ใช้ประโยชน์จากสื่อทุกแพลตฟอร์ม เก็บทุกรายละเอียดของปัญหา ตอบโต้ด้วยจังหวะและลีลา ที่ทะลวงเปิดถึงไส้ เปิดใจผู้เห็นต่าง จากปิดสนิทเป็นแง้มหน้ามาเปิดรับฟัง จึงไม่แปลกที่ “พิธา” และพรรคก้าวไกล ขยับเข้าใกล้ความน่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลได้มากขึ้นทุกวัน

แต่จนแล้ว-จนรอด พิธาก็ข้ามไม่พ้นชนักที่ปักหลังไว้ตั้งแต่ 8 สิงหาคม 2564 ด้วย “คดีซุกหุ้น” ตามคำนิยามของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เคยสวมบทนักบัญชี-นักกฎหมาย และในที่สุดเป็นนักการเมือง

เรืองไกรเคยพิฆาตคนการเมือง อาทิ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชน ในปี 2551 ต่อจากนั้น 2 ปี พลิกเข้าเป็นคนเสื้อแดงอยู่ข้างทักษิณ ชินวัตร เคยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับ 41 พรรคเพื่อไทย

“เรืองไกร” เข้าถึงแผนการแตกแบงก์พัน-แตกพรรคเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ของทักษิณ แต่ต้องล่มก่อนเลือกตั้ง 2562 ล่าสุดเขาอยู่ในโผปาร์ตี้ลิสต์พรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 22

ขณะที่อยู่ในขั้วการเมือง “บ้านป่ารอยต่อ” แหล่งซุ่มซ่อนมังกรการเมือง เขาปฏิบัติบูชาหัวหน้าใหญ่ด้วย “คดีพิธา” เริ่มมาตั้งแต่การยื่นบัญชีทรัพย์สิน ที่เรืองไกรอ้างต่อ ป.ป.ช. ว่า

“พิธาแจ้งว่ามีคู่สมรส ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่นายพิธาไม่ได้แสดงรายได้ รายจ่าย หรือหุ้นของคู่สมรส”

และระบุว่า “พิธาได้นำอาคารของน้องชายมูลค่า 15,000,000 บาท มาแสดงในบัญชีทรัพย์สินของตนเอง ซึ่งในทางบัญชีควรตรวจสอบว่า ทรัพย์สินรวมที่แจ้งสูงเกินจริงหรือไม่ อีกทั้งไม่ได้แจ้งมูลค่าที่ดินและบ้านของคู่สมรสไว้แต่อย่างใด”

จึงมีเหตุที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของนายพิธากับคู่สมรส ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.ไว้นั้น เข้าข่ายตามความใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 114 หรือไม่

ขณะนี้คำร้องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แน่ว่าจะออกฤทธิ์หลังเลือกตั้ง หรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไปแล้ว

ผ่านมา 2 ปี ก่อนเข้าสู่วันเลือกตั้งเพียง 4 วัน “เรืองไกร” ออกจากบ้านป่ารอยต่อ มุ่งหน้า กกต.อีกครั้ง ด้วยแฟ้มบัญชีทรัพย์สินของพิธา ด้วยข้อครหาใหม่ “คุณสมบัติต้องห้าม” เพราะ “ถือหุ้นสื่อ”

คำร้องแบบระบุเป้าหมายคล้ายกับคดีที่ ส.ส.ทั้ง 25 ราย ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุถือหุ้นสื่อ เช่นเดียวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ครั้งนี้ “เรืองไกร” เขียนใบคำร้องว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น

และยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของ บมจ.ไอทีวี ในลำดับที่ 6,121 อยู่ในเลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168 ตามที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110

อ้างถึงข้อมูลของ บมจ.ไอทีวี จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าเป็นสถานะนิติบุคคล และยังดำเนินกิจการอยู่ ด้วยทุนจดทะเบียน 7.8 ล้านบาท ระบุประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน ว่าเป็นการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ยกเว้นทางออนไลน์ และมีวัตถุประสงค์เป็นสถานีโทรทัศน์ หมวดธุรกิจคือกิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ ยังคงส่งงบการเงินถึงปี 2564

เรืองไกร ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของพิธา ย้อนหลังที่แจ้งไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. (25 พ.ค. 2562) ที่กรอกเงินลงทุนไว้ 45 รายการ แต่ไม่พบลงทุนในหุ้นบริษัทไอทีวี

“จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบข้อมูล ว่านายพิธาถือหุ้นจำนวนดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด หากถือมาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ และการเป็น ส.ส.ที่ผ่านมาจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” คำร้องเรืองไกร ระบุ

ชั่วข้ามคืนมีคำตอบจาก เลขาธิการ ป.ป.ช. นายนิวัติไชย เกษมมงคล ให้ข้อมูลใหม่ยืนยันถึงการมีอยู่ของการถือหุ้นไอทีวี ว่า “พิธาได้ยื่นหุ้นไอทีวีมาแล้ว 40,000 กว่าหุ้น ไม่แน่ใจว่ายื่นเพิ่มเติม หรือเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งยื่นเพิ่มเติมได้ นายพิธาคงเข้าใจว่าไม่ใช่หุ้นของเขา แต่เขาเป็นผู้จัดการมรดก ถ้าเขามีก็ยื่นเพิ่มเติมได้ ก็ถูกต้อง เราก็ตรวจสอบความมีอยู่จริง ส่วนกรณีถือครองหุ้นแล้วจะขาดคุณสมบัติหรือไม่ เป็นหน้าที่ กกต.ต้องวินิจฉัย”

ทั้ง 2 คำร้อง 2 ว่าที่คดี ยังไม่สามารถทำลายล้างกระแสความนิยมของพิธาให้ลดหล่นลงได้