ข้าวสารพาเหรดขึ้นราคา

ข้าวสาร
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือ ฝนน้อย น้ำน้อย ในหลายภูมิภาคของโลก ประกอบกับการที่ประเทศอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในวงการค้าข้าวในข้อที่ว่า ผลผลิตข้าวจากประเทศผู้ผลิตสำคัญจะลดลงอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก

ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวลำดับต้น ๆ ของโลกก็ได้รับผลกระทบจาก “ภัยแล้ง” ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศและคาดการณ์ผลผลิตข้าวจะลดลงจากคำเตือนของ กรมชลประทาน ที่ขอความร่วมมือไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวนาปีรอบสอง

ด้วยสภาพความเป็นจริงข้างต้น คาดการณ์ตลาดโลกจะมีความต้องการข้าวสารเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ โรงสี และ ผู้ส่งออกข้าว เริ่มซื้อข้าวเข้าเก็บสต๊อกในปริมาณมากขึ้น จากเหตุผล 2 ประการ คือ การเก็งราคาข้าวในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ปรากการณ์เอลนีโญจะรุนแรงสูงสุด จะส่งผลทำให้ราคาข้าวปรับราคาสูงขึ้นตามความต้องการข้าวของตลาดโลก เกิดความกังวลที่ว่า ข้าวภายในประเทศจะมีไม่เพียงพอต่อการส่งออกตามออร์เดอร์ที่เพิ่มตามมา และตามมาด้วยการขาดแคลนข้าวในที่สุด

เมื่อภาวะตลาดข้าวเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราคาข้าว ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารจะปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาข้าวเปลือก

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิเฉลี่ยอยู่ที่ 15,600 บาทต่อตัน จากสัปดาห์ก่อน 15,125 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี อยู่ที่ตันละ 13,700 บาท จากสัปดาห์ก่อน 12,300 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ปรับขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 12,500 บาท จาก 11,325 บาท และข้าวเหนียวอยู่ที่ตันละ 14,900 บาท จากสัปดาห์ก่อน 13,580 บาท โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ข้าวเปลือกทุกชนิดปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวเหนียว ปรับขึ้นราคามากที่สุด

สอดคล้องกับราคาข้าวสาร หรือข้าวตัก บรรจุกระสอบที่จำหน่ายปลีกในร้านค้าข้าวทั่วไป ก็ได้ปรับขึ้นราคาจากการสำรวจร้านค้าข้าวสารในหลายจังหวัดทั่วประเทศพบว่า ขณะนี้ข้าวขาวปรับขึ้นราคาเฉลี่ย กก.ละ 3 บาท, ข้าวหอมปทุมเฉลี่ย กก.ละ 2 บาท, ข้าวหอมมะลิ กก. 1-2 บาท และข้าวเหนียวปรับราคาขึ้นถึง กก.ละ 8-10 บาท โดยทางร้านให้ข้อมูลว่า โรงสีข้าวที่ส่งข้าวให้กับทางร้านจำหน่ายข้าวตักจากกระสอบแจ้งมาว่า ราคาข้าวทุกชนิดจะปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยโรงสีข้าวเร่งซื้อข้าวเข้ามาเก็บสต๊อกไว้เพื่อส่งมอบข้าวให้กับผู้ส่งออกข้าวที่จะมีออร์เดอร์เข้ามาเพิ่มขึ้นไปจนปลายปี 2566

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวสารท้องตลาดที่ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น กลับ “สวนทาง” กับราคาข้าวสารบรรจุถุง เมื่อกรมการค้าภายในได้ออกมาแถลงข่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ สมาคมโรงสีข้าว กับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ยืนยันว่า ข้าวสารบรรจุถุงยังไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น

โดยทั้ง 2 สมาคมยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ กรมการค้าภายใน ด้วยการตรึงราคาข้าวสารบรรจุถุงขนาด 5 กก.ไว้ แต่ก็มีร่องรอยจากความเห็นของทั้ง 2 สมาคมที่ว่า การตรึงราคาข้าวถุงจะตรึงได้ตามสต๊อกข้าวถุงเดิมของแต่ละบริษัท แต่ถ้าเป็นข้าวถุงที่ผลิตในช่วงครอปนาปีของปีนี้ก็จะต้องมาดูที่ ต้นทุนข้าวเปลือก ที่บริษัทข้าวถุงรับซื้อเข้ามาอีกครั้ง

ADVERTISMENT

ทว่าจากการสำรวจตลาดข้าวถุงตามห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ล่าสุดกลับพบว่า ข้าวบรรจุถุงขนาด 5 กก. หลายแบรนด์ต่างปรับขึ้นราคาไปหมดแล้ว แต่เป็นการปรับขึ้นราคาที่ยังไม่เกินป้ายแสดงราคาข้างต้น ยกตัวอย่าง ป้ายปิดแสดงราคาข้าวถุง 5 กก. อยู่ที่ถุงละ 200 บาท แต่จำหน่ายในราคาถุงละ 160 บาท

ขณะที่ราคาข้าวเดือนก่อนหน้านี้อยู่ที่ถุงละ 150 บาท เท่ากับข้าวถุงได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว 10 บาท/ถุง หรือเท่ากับราคาข้าวสารถุงขึ้นไป กก.ละ 2 บาท แต่เป็นการปรับขึ้นราคาโดยที่ยังไม่เกินไปกว่าราคาป้ายที่ติดข้างถุง

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ข้าวสารบรรจุกระสอบและข้าวสารบรรจุถุงที่จำหน่ายในประเทศมีการปรับขึ้นราคาไปหมดแล้ว และราคาข้าวจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้จากคาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปีต่อเนื่องข้าวนาปรัง 2567 จะได้รับความเสียหายจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากยิ่งขึ้น