
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ถ้าผมมีมนต์วิเศษ สิ่งแรกที่จะทำ คือ ลบบทความที่เขียนไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่เตือนให้นักธุรกิจวางแผนรับมือกับนโยบายของรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง
ด้วยความเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ใครจะไปนึกว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยจะแพ้พรรคก้าวไกล
และแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคก้าวไกล
“ก้าวไกล” แรงเกินความคาดหมาย
ไม่ใช่แค่นักวิเคราะห์การเมือง หรือการประเมินของพรรคการเมืองอื่น ๆ
เพราะแม้แต่คนในพรรคก้าวไกลยังนึกไม่ถึงว่าจะได้ถึง 152 เสียง
และชนะ “เพื่อไทย”
ทั้งที่เป็นพรรคที่นักการเมืองทุกคนยอมรับว่าไม่มีการซื้อเสียงเลย
แต่ชนะทั้งใน กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ
ถ้าลองไปกดดูตัวเลขคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคในเว็บไซต์ของ กกต.
คุณจะตกใจ
เพราะ “ก้าวไกล” ชนะในจังหวัดที่คุณไม่คาดคิดมาก่อน
ส.ส.เขตอาจแพ้ แต่คะแนนพรรคชนะ
ภาคใต้ ก้าวไกลชนะ
บุรีรัมย์ ชนะ
สุราษฎร์ธานี ชนะ ฯลฯ
ลองกดดูเล่น ๆ ได้เลยครับ แล้วจะรู้ว่าสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แรงจริง ๆ
ประเด็นที่นักธุรกิจส่วนใหญ่กังวลคือ แนวทางของ “ก้าวไกล” เป็นรัฐสวัสดิการอ่อน ๆ และการชนกับทุนผูกขาด
ไม่แปลกที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะหล่นฮวบ ต้อนรับรัฐบาลใหม่
เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่บางแห่ง ที่นักลงทุนคิดว่าเป็นเป้าหมายการพุ่งชนของพรรคก้าวไกล
รวมทั้งเรื่อง “สุราก้าวหน้า”
นักธุรกิจใหญ่หลายคนเริ่มกังวลกับค่าแรง 450 บาท ทันที ตามนโยบายของ “ก้าวไกล”
และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่ในความเป็นจริงของการจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. 152 คน
พรรคเพื่อไทย 141 คน
มากกว่าแค่ 11 คน
ธรรมชาติของการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาล เมื่อคะแนนเสียงไม่ได้แตกต่างกันมาก
อำนาจต่อรองของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยจึงใกล้เคียงกันมาก
และปัญหาใหญ่ของพรรคก้าวไกลที่แตกต่างจากพรรคอื่นคือ มีบุคลากรที่จะรับตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ไม่เพียงพอ
เพราะส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 35 ปี
เป็นรัฐมนตรีไม่ได้
นอกจากนั้น วิธีคิดของพรรคก้าวไกลยังแตกต่างจากพรรคใหญ่ ๆ ทั่วไป
เก้าอี้ที่เป็นเป้าหมายของเขานอกจากกระทรวงหลักอย่าง กระทรวงมหาดไทย กลาโหม คลัง ฯลฯ
ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นกระทรวงด้านสังคมที่พรรคใหญ่ถือว่าเป็นกระทรวงเล็ก
เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงการอุดมศึกษา ฯลฯ อะไรพวกนี้
ดังนั้น โอกาสที่กระทรวงเศรษฐกิจจะอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทยจึงมีสูงมาก
บางที “เพื่อไทย” อาจได้กระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ คมนาคม ฯลฯ
นโยบายเศรษฐกิจอาจต้องดึงมากลาง ๆ ไม่ประชานิยมมากเกินไปแบบ “เพื่อไทย”
แต่ก็ไม่ถึงขั้นรัฐสวัสดิการ
นักธุรกิจหรือนักลงทุนอาจสบายใจขึ้น เพราะคุ้นเคยกับวิธีคิดของพรรคเพื่อไทย
แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อาจแตกต่างจากรัฐบาลชุดอื่น เพราะมีการร่างเอ็มโอยูในการร่วมรัฐบาล
เรื่องที่เห็นร่วมกันก็จะประกาศให้ชัด ๆ ไปเลย
เช่น สุราก้าวหน้า การเกณฑ์ทหารด้วยความสมัครใจ ฯลฯ
แต่พอแบ่งกระทรวงแล้ว และเสียง ส.ส.ของ 2 พรรคใกล้เคียงกัน
ผมเชื่อว่านโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจะไม่ออกมาสุดขั้วจนเกินไป
น่าจะเป็น “ทางสายกลาง” ที่ภาคธุรกิจรับได้
แต่ภาคธุรกิจคงต้องเปิดใจรับแนวคิดใหม่ ๆ บ้าง
เพราะอาจจะดีกว่าวันนี้
ครับ เราต้องเปิดใจให้โอกาสกับสิ่งที่เราไม่รู้