มองสื่อการตลาด จากสิ่งพิมพ์ถึงยุคโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดีย
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

จากอดีตถึงปัจจุบันสื่อการตลาดเปลี่ยนไปมาก เอาตั้งแต่ที่ผมสนใจอ่านเรื่องการตลาดประมาณเมื่อ 20 ปีก่อน ยุคที่เป็น print เริ่มตั้งแต่นิตยสาร BrandAge มี Marketeer หรือยุคก่อนหน้านั้น ถ้าเป็นเรื่องการบริหารจัดการก็จะเป็นนิตยสารผู้จัดการ ถ้าเป็นด้านการตลาดก็จะเป็นนิตยสารคู่แข่งฯ จำได้ว่าในยุคที่รุ่งโรจน์ ผมซื้อนิตยสาร BrandAge ฉบับหนึ่ง มีความหนามาก ๆ มีโฆษณาแทรกอยู่ตลอดทั้งฉบับ หรือ Marketeer ผมโตมากับนิตยสารด้านการตลาดเหล่านี้ อีกหัวคือ SM Magazine (Strategy+Marketing Magazine) และ 4P

ในยุคที่เป็น website พอถึงยุคหนึ่งที่ผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงก็คือยุคที่เพื่อนผมมาทำ Marketing Oops! เริ่มมาเจอพวก Brand Buffet หรือ Startup จะเห็นว่าในยุคนี้เมื่อพูดถึงสื่อเรื่องการตลาดจะเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาทำทั้งหมด และในยุคนั้นสื่อเก่าที่เป็นพวกแมกาซีนจะตามไม่ค่อยทันแล้ว

มาถึงยุค social media

ที่ผ่านมา เราพูดถึง 3 ช่วงคือ สื่อที่เป็นพรินต์ เว็บไซต์ และเมื่อเข้าสู่ยุคโซเชียลก็มี ลงทุนแมน ลงทุนเกิร์ล ฯลฯ

สิ่งที่ผมเห็นความแตกต่างของแต่ละยุคคือ ในยุคที่เป็นแมกาซีน คนเขียนจะมีบรรณาธิการ จะมีจริยธรรมของคนทำข่าว จะมีการแบ่งเป็นนักข่าวสายต่าง ๆ สายไอที สายการเมือง ฯลฯ เหมือนมีสถาบันหรือสายของตัวเองคุมไว้อยู่

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียจะไม่มีสถาบัน จะไม่มีคำว่าจริยธรรม ใครก็ได้ที่มีความสนใจก็มาเขียนข่าวได้เลย ไม่ใช่แค่การเขียวข่าวเท่านั้น พวกรีวิว บล็อกเกอร์ต่าง ๆ เช่น รีวิวอาหาร บางคนไปกินตามก็ไม่เห็นว่าอร่อยตามที่ว่ากัน

ผมมีเพื่อนบางคนที่เป็นยูทูบเบอร์มีคนตามเป็นล้านคน เขาบอก เชื่อไหมว่าคอนเทนต์บางอันที่เราดูกันอยู่ เกือบ 100% มีสปอนเซอร์ทั้งหมด และราคาแต่ละครั้งคือหกแสนบาทต่อคลิปนะครับ และเมื่อลงคลิปเสร็จแล้วอาจจะมีเพจ แบรนด์ก็ต้องมาจ้างเพจนั้นบูสต์โพสต์ต่อ เพราะจะมีคนมาอ่านในเพจต่อไปได้อีก

มีน้องที่รู้จักคนหนึ่งที่เป็นท็อปยูทูบเบอร์ ผมเห็นเขาตั้งแต่เริ่มต้นที่ยังเป็นเด็กคนหนึ่งที่มาเลียนแบบชาวบ้านก็คือ บี้ เดอะสกา หรือตอนนั้น อีกคนคือ โคม ปะการัง ปรากฏว่าพวกนี้คนดูเยอะมาก

ตอนแรกคนดูไม่เยอะก็จริงแต่พวกเขา keep constant ทำไปเรื่อย ๆ จนวันนี้ “บี้ เดอะสกา” กลายเป็นท็อปยูทูบเบอร์ของเมืองไทย มีทีมงานหลายคน ผมว่าเขาน่าจะทำเงินได้เป็นหลายร้อยล้านแล้ว ตอนนี้เขาขับรถหรู มีตึกเป็นของตัวเอง มีบ้านราคาหลายสิบล้าน

นี่คือจุดหนึ่งของโอกาสเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน และหากคุณทำเป็นคนแรก ๆ คุณอาจไม่รู้ว่ามันจะเวิร์กหรือไม่ แต่คุณทำไปเรื่อย ๆ เมื่อวันหนึ่งพลุแตกขึ้นมา คุณจะได้เปรียบ เหมือน TikTok ผมรู้จักน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เขาก็ทำไปเรื่อย ๆ ทำไปทำมากลายเป็นท็อป TikTok ของประเทศไทยไปแล้ว

วันนี้ผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ บางทีเราจะเอากรอบความคิดเดิมไปครอบเด็ก ๆ ไม่ได้แล้ว เพราะบางสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่กำลังจะทำ บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่อาจสร้างรายได้ดีกว่าพ่อแม่ด้วยซ้ำไป

แม้ตัวอย่างที่ว่ามาจะเป็นเคสที่อยู่ยอด ๆ พีระมิดก็ตาม แต่ก็ทำให้เห็นว่าเป็นไปได้ เดี๋ยวนี้มีเยอะมาก บางคนดังเฉพาะในกลุ่มของตัวเอง คนนอกกลุ่มอาจไม่รู้จัก บางคนดังมากใน TikTok แต่ออกไปข้างนอกไม่มีคนรู้จัก

เป็นโลกใบเล็กแต่ทำเงินได้ดีเลย

ยุคนี้ในเชิงของการตลาด เราไม่จำเป็นต้อง mass ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคน หรือทั้งประเทศรู้จัก เอาแค่คนเฉพาะกลุ่มรู้จักหรือทำเงินกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มก็พอ

ผมว่าคนที่ทำธุรกิจต้องปรับการทำการตลาดที่เคยทำแบบเดิม ๆ วันนี้มีเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้วิธีใหม่ ๆ ใช้ 4P ใหม่ ๆ ที่เราอาจไม่คุ้นเคย ทุกอย่างเปลี่ยนใหม่หมด เราอาจไม่คุ้นเคยกับออนไลน์หรืออยู่ขอบ ๆ แต่จะมีคนที่อาจไปอยู่ในมุมหนึ่งของโลกออนไลน์แล้วมีกลุ่มคนไปกระจุกอยู่ในนั้นเป็นแสนเป็นล้านคน แต่เขาสามารถทำเงินได้เป็นหลักล้าน หลักสิบล้านได้ไม่ยากเลย