สกลธี ค้ำบัลลังก์ ประวิตร เปิดแผนชิงตัว ส.ส. จัดตั้งรัฐบาล 2 ป.

สกลธี ภัททิยกุล
สกลธี ภัททิยกุล
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ / อิศรินทร์ หนูเมือง

สกลธี ภัททิยกุล อดีตแกนนำ กปปส.ไต่ระดับ สะสมชั่วโมงบิน จากรองผู้ว่าฯ กทม.ในยุครัฐบาล คสช.-แกนนำผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ รุ่น 1 จนกลายเป็นเจ้าของสถิติคะแนนนิยมจากคนกรุงเทพฯ 2.3 แสนคะแนน ในสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ

สกลธี “รีเทิร์น” กลับพรรคพลังประชารัฐ รับบทเป็น เจ้าพ่อ กทม. ในศึกเลือกตั้ง 66 ใกล้ที่สุดในพรรค คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เกิน ลำดับ 10

บรรทัดต่อจากนี้คือ แผนปักธง ส.ส. กทม. 12 ที่นั่งบวกลบ กับคำตอบว่า ทำไม “สกลธี” ถึงได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ให้ถือธงนำสู้ศึกเลือกตั้ง กทม. และความสัมพันธ์กับสุเทพ และ 2 ป.ในอดีต-ปัจจุบันและอนาคต

แผนชิงเก้าอี้ ส.ส.กทม.

“สกลธี” เปิดแผนชิงชัยเก้าอี้ ส.ส.กทม. ว่า ตัวบุคคลจะพยายามผสมผสานตัวผู้สมัครระหว่างเขตสู้รบ หรือเขตชั้นนอกที่ต้องใช้ความเก๋าของผู้สมัคร พยายามหาผู้สมัครที่มีแบ็กกราวนด์ประสบการณ์การเมืองมาลง ส่วนเขตชั้นในต้องการกระแส ภาพลักษณ์ คุณวุฒิจะจัดอีกแบบหนึ่ง ในภาพใหญ่ที่เป็นนโยบาย กทม.เฉพาะจะต่อยอดจากนโยบายตอนหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. มั่นใจว่า ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของคนกรุงเทพฯ

“การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากปี’62 และหนักแน่นอน หนึ่ง บัตรเลือกตั้งสองใบ สอง การแตกออกเป็นหลายพรรค แย่งตัวผู้สมัคร ตัวผู้สมัครพื้นที่ทับซ้อนกัน”

สำคัญสุด กระแสความนิยมของพรรค เดิมท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) อยู่พลังประชารัฐ แต่พอแยกออกไปอยู่อีกพรรคหนึ่ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ฐานเสียงของท่านตามไปด้วย เป็นโจทย์ที่ต้องแก้

ผมต้องขายตัวตนของผม ผมคุยกับลุงป้อมตั้งแต่แรกว่า อิสระในการทำนโยบาย การวางแคมเปญในกรุงเทพฯให้เหมือนตอนผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งโชคดีที่ลุงป้อมให้เต็มที่

“พอลงสนามต้องเต็มที่ อยู่ที่ประชาชนว่าแนวที่นำเสนอของใคร ok กว่ากัน ซึ่งมีภาพการปฏิบัติของผมกับของลุงป้อมอยู่ด้วย ถ้าเรา commit เรื่องนี้ไปแล้ว เราทำเต็มที่แน่นอน เป็นจุดขาย แต่จะให้ผมฟาดฟัน ไม่ใช่สไตล์ผม แข่งกันด้วยนโยบายมากกว่า เลือกตั้งครั้งนี้ บัตรสองใบ ยังขอได้ ถ้ารักนายกฯก็เลือกพรรคไป แต่เลือกคนของผมนะ ยังขอแบ่งกันได้”

เลือกตั้งครั้งที่แล้วพลังประชารัฐได้ ส.ส.กทม. 12 คน ไม่เคยเป็น ส.ส.สักคน มาด้วยกระแส 70% ตัวผู้สมัคร 30% ครั้งนี้ เราคัดตัวประสบการณ์ผสมกับตัวใหม่ที่ภาพดี คุณสมบัติดี ไม่ต่างกันเลย อยู่ที่ว่า 70% เป็นกระแส ผมจะปั่นให้พรรคได้แค่ไหน แล้วทางพรรคจะส่งได้แค่ไหน ถ้าพรรคสามารถทำให้กระแสพรรคดีขึ้นในภาพรวมได้ โอกาสมี ส.ส. มี

“ผมไม่กังวลเลยว่า อดีต ส.ส.จะดูน่าเกรงขามในสนาม กทม. เพราะตกให้เห็นเยอะแล้ว สนามกรุงเทพฯ พร้อมจะพลิกได้ทุกเมื่อ ต่างจังหวัดบ้านใหญ่สำคัญ แต่ใช้กับกรุงเทพฯไม่ได้ คนกรุงเทพฯ พร้อมจะเกลียดคุณภายในข้ามคืน”

พลังประชารัฐมี (ไม้เด็ด) ในใจแล้ว แต่ว่า ต้องผ่านการกลั่นกรองอีกนิด ต้องประเมินตลอด โดยใช้วิทยาศาสตร์ มีโพลทั้งออฟไลน์และออนไลน์มาประกอบการตัดสินใจ เป็นโพลกราวนด์ที่เคาะประตูบ้านถาม มีโพลออนไลน์ที่ทำมาต่อเนื่อง

โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลของพลังประชารัฐสูง 70-80% ผมคิดว่ามีโอกาส แต่หัวหน้าจะไปถึงนายกฯหรือเปล่า อยู่ที่หลายองค์ประกอบ พรรคได้เท่าไหร่ พรรคร่วมที่เป็นพันธมิตรเดิมได้เท่าไหร่ คู่แข่งได้เท่าไหร่ ต้องดูวันที่ปิดหีบ

ถ้าผมบอกว่า โอกาสเป็นนายกฯ แต่ได้มาแค่ 20 25 30 เสียงก็เกิดยาก เพราะไม่มีพรรคไหนที่ได้เป็น 100 แล้วจะมายอมให้พรรค 30 เสียงได้เป็นนายกฯก็คงเป็นไปไม่ได้

ส่วนความหวังยืมมือ 250 ส.ว.นั้น “สกลธี” บอกอย่าเพิ่งไปนับ เพราะ ส.ว.ถึงสุดท้ายก็ต้องดูกระแสของประชาชนเป็นหลัก ถึงแม้มีสิทธิในการโหวต แต่คงไม่สามารถไปสวนคลื่นความต้องการของประชาชนได้ สมมุติกลุ่มหนึ่งรวมกันได้ 300 กว่าเสียง จะมาสวนกระแส มันก็ทำให้ประเทศกลับไปแย่กว่าเดิม ผมคิดว่าคงไม่มี ส.ว.คนไหนกล้าทำ

สกลธี “เจ้าพ่อ กทม.”

“สกลธี” ประเมินตัวเอง ทำไม พล.อ.ประวิตร ถึงได้ไว้ใจให้เป็นคนกำกับ-ขุนพลถือธงนำสู้ศึกเลือกตั้งสนาม กทม.ว่า ผู้ใหญ่คงมองเห็นแนวทางที่ผมหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ตอนนั้นอิสระจริง ๆ ทำกันเองกับทีมงาน ถึงจะแพ้แต่ผมคิดว่า ตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง มีคนสนับสนุนแนวที่เราหาเสียง พลังประชารัฐตอนนั้นก็ยังขาดแม่ทัพที่จะมานำตรงนั้น จึงคิดว่าเหมาะสมตรงนี้

“ผมมองว่า อาจจะแนวนโยบายและพรรคต้องการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในวัยทำงาน ลุงป้อมพูดเสมอว่า ท่านต้องการส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปที่ยังมีไฟได้มีโอกาสทำงาน”

ลุงป้อมพยายามจะหาจิ๊กซอว์มากกว่า ภาพของลุงป้อม เป็นมือประสาน หาคนจากหลาย ๆ ที่ หลาย ๆ ส่วน เข้ากับพรรคได้ มา fit in ได้ ท่านก็เปิด และมองว่าคนไหนเหมาะกับอะไร

“หลายคนก็คงไม่รู้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาล ส่วนหนึ่งที่นิ่งได้ ผ่านไปได้ราบรื่น เพราะ พล.อ.ประวิตรอยู่เบื้องหลัง คอยประสานทุกอย่างเอาไว้ หลายอย่างในอดีตท่านลงมือปฏิบัติ อาจจะพูดไม่เก่ง แต่ทำเก่ง ภาพความใจดี ใจถึงพึ่งได้ เป็นจุดขาย”

สิ่งที่หัวหน้านำเสนอก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นมือประสานสิบทิศ โอกาสของพรรคในการจัดตั้งรัฐบาลมีสูง อาจจะไม่สามารถตีเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ แต่โอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลมีมากกว่าที่จะเป็นฝ่ายค้าน

พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ กรุงเทพฯ ต้องได้ ส.ส. 12 ที่นั่งบวกลบ ส่วนแกนนำที่รับผิดชอบแต่ละภาคทั่วประเทศประมาณ 70 บวกลบ แต่ “สกลธี” ที่ทำโพลทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ เคาะประตูคนกรุงเทพฯ ทุกบ้านตัวเลขต่ำกว่า

“เราอยากได้เยอะที่สุด แต่ประเมินจากประสบการณ์ ท่านนายกฯแยกไปอีกพรรคหนึ่ง ฐานคะแนนต้องตามไปอยู่แล้ว รวมถึงตัวผู้สมัครหลายคนก็ย้ายไปคนละที่ และมีพรรคเกิดใหม่ที่ลุยกรุงเทพฯอย่างภูมิใจไทย ตัวเลขที่มีความเป็นจริงในใจผมเลยต่ำกว่าทางพรรคประเมินไว้”

“สกลธี” เปิดสเป็กพรรคที่มีโอกาสจะจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลหน้า ว่า จุดร่วมของเราไม่มีอะไรมาก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้ามีครบทั้ง 3 อย่าง คุยกันได้อยู่แล้ว

แต้มต่อ (ของ พล.อ.ประวิตร) คือ ความยืดหยุ่นของท่านหัวหน้าที่ท่านประสานทุกทิศทุกทาง ทำให้โอกาสเป็นรัฐบาลสูง สอง หลายอย่างที่ท่านหัวหน้าทำสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ แก้แล้ง แสดงให้เห็นความเป็นนักปฏิบัติ สิ่งที่สัญญาไปได้รับการทำแน่นอน และความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญ

จุดยืน มาตรา 112-นิรโทษกรรม

“สกลธี” นักการเมืองรุ่นกลางใหม่ แสดงมุมมอง-จุดยืนต่อมาตรา 112 และกฎหมายนิรโทษกรรมว่า เหมือนกับหมิ่นประมาทปกติของคนทั่วไป หลายประเทศก็มี เป็นเหมือนกฎหมายที่ปกป้องบุคคลอันหนึ่งมากกว่า ไม่ได้มีผลกับการกินอยู่ ปากท้องประชาชน ถ้าถามผมในฐานะที่ต้องต่อสู้ ผมมองการต่อสู้เพื่อปากท้อง ความยากจนของคนมากกว่า ที่จะไปต่อสู้เพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตรงนั้น อาจจะปรับปรุงอย่าให้ใช้ง่ายเกินไปในการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง

ผมว่า (การนิรโทษกรรม) เป็นส่วนหนึ่งของการสลายความขัดแย้ง แต่ต้องมีกรอบ ประชาชนควรได้รับการนิรโทษกรรม แต่แกนนำที่มีความผิดเรื่องคดีอาญาต้องว่าไปตามผิด เรื่องทุจริตก็ไม่ควรที่จะนิรโทษกรรมเลย

ส่วนการนิรโทษกรรมสุดซอย-กลางซอย-ต้นซอย รอบนี้จะแค่ไหนนั้น

“ผมว่าที่จะเคยทำมา สถานการณ์มันยังไม่สุกงอมเต็มที่ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มันผ่านอะไรมาเยอะ และประเทศมันบอบช้ำแล้ว ถ้าทุกคนมัวแต่จะชนะคะคานกัน ผมจะเห็นชัด เพราะตอนผมลงเลือกตั้งมันก็จะมีสติ๊กเกอร์ติดหน้าผมว่า สลิ่ม หรือ กปปส.จะมีคนพร้อมเกลียดผมโดยที่ผมไม่รู้จัก ผมไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ควรจะทำ”

“สกลธี” ย้ำว่า ควรจะทำในแง่ของคนที่เขาอาจจะหลงผิดออกมา หรือไม่ได้ตั้งใจออกมาจริง ๆ แต่ว่า อะไรที่มันทำแล้วเกิดเรื่องทางอาญาขึ้นก็ต้องยอมรับผลของมันไป เหมือนกับที่ผมก็เข้ากระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี ก็ขึ้นศาล พยายามแก้ต่างในเรื่องคดีของตัวเองให้จบ

“ก้าวข้ามความขัดแย้งหมายความว่า จะหันกลับมารักกันเหมือนคนไทยสมัยก่อนได้ไหม เมื่อก่อนไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ แต่พอมันมีการเมืองเข้ามามันทำให้คนพร้อมที่จะเกลียดกันโดยที่ไม่รู้จัก แค่มีทัศนคติทางการเมืองที่ต่างกัน ผมอยากให้ก้าวข้ามตรงนั้น กลับมารักกัน ส่วนใครทำดี ไม่ดี ใครทุจริต ใครคดโกง หรือใครทำบ้านเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องแยกออกจากกัน”

ความสัมพันธ์กับสุเทพ-ประยุทธ์

“สกลธี” พูดถึงความสัมพันธ์กับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตว่า กับท่านสุเทพไม่มีอะไรต้องพูดมาก ผมรู้จักกับท่านตั้งแต่วันที่ผมเหยียบก้าวเข้ามาในพรรคประชาธิปัตย์ ท่านก็เหมือนพี่เลี้ยงผม ผ่านอะไรมาด้วยกันเยอะ ถึงแม้ผมจะไม่ได้ทำการเมือง ไม่ได้อยู่กับท่าน แต่ทุกวันนี้ความผูกพันมีอยู่แล้ว ผมก็ไปหาทุกปีใหม่ หรือเวลาโอกาสที่ผมว่างก็จะไปนั่งปรึกษาเพราะท่านมีประสบการณ์ทางการเมือง ถึงแม้จะไม่ได้ทำการเมืองต่อด้วยกัน แต่สายใยที่คุ้นเคยกันมีอยู่ตลอด

“ไม่มี (โอกาสที่พรรคสุเทพจะมารวมกับพลังประชารัฐเป็นเพียงพันธมิตร) ผมคิดว่าท่านสุเทพคงช่วยสนับสนุนพรรครวมพลังต่อ เพราะว่าท่านมีการทาบทามคนมาทำไว้ต่อเนื่อง ก็คงไม่ทิ้งตรงนั้น”


ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสกลธีกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น “วันที่ผมกลับมาพลังประชารัฐวันแรก ที่ลุงป้อมเป็นคนทาบทามผม ท่านนายกฯยังอยู่ ผมตัดสินใจง่ายเลย เพราะ 2 ลุงยังอยู่ด้วยกัน มาอยู่โดยทันที แต่ระหว่างทางท่านนายกฯแยกไป ผมเลยตัดสินใจ ผมชั่งดูหลายอย่าง ไปทางนั้น (รวมไทยสร้างชาติ) ก็ลำบาก เพราะเซตพรรคมาระดับหนึ่งแล้ว เราไปก็ไม่มีที่ทาง เลยเลือกอยู่ตรงนี้ กับท่านนายกฯ ผมเคารพท่านเต็มที่เหมือนเดิม เพราะท่านเป็นคนให้โอกาสผมและมีบุญคุณกับผมหลายอย่าง เรื่องส่วนตัวผมเคารพ แต่ในทางเลือกตั้งอาจจะไม่ได้ไปช่วยท่าน แต่สุดท้ายก็เป็นพันธมิตรกันอยู่ดี” สกลธีทิ้งท้าย