กกต.จ่อเคาะวันเลือกตั้ง ไม่หวั่นชาติพัฒนากล้าฟ้องศาลปกครองแบ่งเขต

นายแสวง บุญมี
ศูนย์ภาพเครือมติชน

กกต.ถกวิษณุ รัฐบาลรักษาการอะไรทำได้-ทำไม่ได้ ช่วงรัฐบาลรักษาการ จ่อ เคาะวันเลือกตั้งหลังยุบสภา-พรุ่งนี้ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค. 66 ยืนยันทำตามรัฐธรรมนูญ เชื่อไม่มีปัญหา ชาติพัฒนากล้า ฟ้องศาลปกครองแบ่งเขตเลือกตั้ง

วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมืองเปิดเผยภายหลังหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวปฏิบัติหลังจากพระราชกฤษฎี (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ประกาศบังคับว่า

ไม่ได้หารือถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง คาดว่า กกต.จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งหลังยุบสภา ซึ่งวันนี้มาคุยเรื่องแนวปฏิบัติของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 อะไรทำได้ ทำไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเป็นไปได้ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม หรือ วันที่ 14 พฤษภาคม นายแสวงกล่าวว่า ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ส่วนจะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันไหน ถ้ายุบสภาวันนี้ กกต.จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (21 มี.ค.)

“กกต.เตรียมความพร้อมมาอยู่นานแล้ว เราต้องทำตามกฎหมาย กฎหมายให้ทำอะไรก็พิจารณาร่างประกาศที่กำหนดวันสมัคร ส.ส. กำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดเขต สำหรับให้พรรคการเมืองมาสมัครรับเลือกตั้ง”นายแสวงกล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลมีส่วนในการเสนอความเห็นเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ไม่มี

เมื่อถามว่า จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเรื่องวันหยุดยาวหรือหยุดสั้นหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าวันเลือกตั้งอยู่ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน “ไม่รู้จะตกวันไหน”

เมื่อถามว่าเหตุผลที่ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ว่าจะเป็นวันที่ 7 พ.ค.หรือ 14 พ.ค. นายแสวงกล่าวว่า “ก็รอยุบสภา”

เมื่อถามว่า พรุ่งนี้จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า “รอที่กกต. สำนักงาน กกต.มีทุกอย่างอยู่แล้ว เป็นอำนาจของ กกต. กกต.ไม่ได้คิดต่างจากประชาชน”

เมื่อถามว่า การกำหนดวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 7 พ.ค.กับวันที่ 14 พ.ค.แตกต่างกันอย่างไร นายแสวงกล่าวว่า “มันอยู่ในวันตามกฎหมายแค่นั้นแหละครับ ช่วงวันมันมีอยู่แค่นั้น”

เมื่อถามว่า กรณีพรรคชาติพัฒนากล้าไปฟ้องศาลปกครองเรื่องประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งจะกระทบต่อการกำหนดวันเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเกินกว่า 60 วันหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า เราเดินตามเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เมื่อถามว่ามีแผนสำรองหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ไม่มี ยังเป็นไปตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกินกว่า 60 วัน

เมื่อถามว่า หากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง นายแสวงกล่าวว่า ก็ต้องรอดู ไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร

“ก็ต้องรอดูศาลว่าจะยังไง ตอนนี้ กกต.ก็ทำตามรัฐธรรมนูญอยู่ มาถามผม (ว่าจะกระทบกับไทม์ไลน์กำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่) ไม่ได้หรอกครับ ณ วันนี้ก็ยังเดินตามรัฐธรรมนูญอยู่” นายแสวงกล่าวและว่า

“ทุกคนมีสิทธิใช้สิทธิตามกฎหมายได้ เราก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมาย ก็ต้องรอดูว่า ศาลว่าอย่างไร จะเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งไปคาดคะเน ผมคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” นายแสวงกล่าว

เมื่อถามว่ามีการร้องเรื่องยุบพรรคหลายพรรค จะทำให้การเลือกตั้งได้รับผลกระทบหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ตนเป็นนายทะเบียน ตนคิดว่าที่ผ่านมา ตนทำตามกฎหมาย อยากให้การแข่งขันอย่าไปกังวลอะไร ถ้าเราไม่ได้ทำผิดอย่าไปกังวล กฎหมายให้การคุ้มครองทุกคนถ้าไม่ได้ทำผิด

เมื่อถามว่าจะมีการตามสอยทีหลังหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ก็ต้องไปดู ทุกอย่างอยู่ที่ข้อเท็จจริง เราพูดก่อนไม่ได้ ถ้าคุณทำผิดคุณก็ต้องผิด ถ้าเรื่องมันดีมันก็ต้องดีแน่ อยู่ที่ข้อกฎหมายข้อเท็จจริง เราให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝั่ง ทั้งผู้มาร้องและผู้มาถูกร้อง

เมื่อถามถึงบทบาทของข้าราชการในการวางตัวในช่วงการเลือกตั้ง นายแสวงกล่าวว่า กฎหมายทุกเรื่องกำหนดชัดไว้แล้ว กกต.เมื่อเวลาเลือกตั้งมีหน้าที่บริหารสถานการณ์ให้เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย การมาหารือกับนายวิษณุวันนี้ก็เป็นประโยชน์ เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องรักษาการไปช่วงหนึ่ง

“หน้างานเลือกตั้งมีอยู่ 4 5 หน้างาน กกต. พรรคการเมือง ประชาชน รัฐบาลรักษาการ ทุกคนควรอยู่กับที่ที่ตัวเองควรอยู่ จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เราจะบริหารสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ทุกฝ่ายถ้าร่วมมือกันมันจะเรียบร้อย ให้มั่นใจและให้สบายใจ เราก็จะทำงานอย่างเต็มที่” นายแสวงกล่าว