ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2566 กาบัตรแบบไหน ใช้สิทธิล่วงหน้าทำอย่างไร

เลือกตั้ง 2566 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องรู้อะไรบ้าง

หากไม่มีอะไรผิดพลาดแบบเหนือความคาดหมาย การเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ตั้งแต่ที่นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาใช้บังคับ

ล็อกการเลือกตั้งก็จะอยู่ในวันที่ 14 พฤษภาคม หรือ 21 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น

การเลือกตั้งปี 2566 แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 แม้จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ทว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2564 เรื่องจำนวน ส.ส. โดยเปลี่ยนจำนวน ส.ส. ในสภา

จาก ส.ส.เขต 350 คน มาเป็น 400 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 150 คน เหลือ 100 คน

รวมถึงปรับระบบเลือกตั้ง จากการเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว” แบบจัดสรรปันส่วนผสม กล่าวคือ “กากบาท” ครั้งเดียว ได้ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยทุกคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.เขต ไม่ว่าจะได้ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จะถูกนำมาคิดคะแนนทุกคะแนน เพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคแบบคะแนนไม่ตกน้ำ ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่ได้ 7 หมื่นคะแนนโดยเฉลี่ยจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

มาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรใบที่ 1 คือ ส.ส.เขต บัตรใบที่ 2 เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง เหมือนกับการเลือกตั้ง 2554

ระบบเลือกตั้งใหม่บัตร 2 ใบ

เมื่อระบบเลือกตั้ง เปลี่ยนเป็นบัตร 2 ใบ การคิดคะแนนก็เปลี่ยนตามไปด้วย

วิธีคำนวณคะแนน บัตรเลือกตั้งใบที่ 1 เลือก ส.ส.เขต ผู้สมัครคนใดได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตนั้นจะได้เป็น ส.ส. ส่วนผู้สมัครที่เหลือกลายเป็น ส.ต. สอบตก

บัตรเลือกตั้งใบที่ 2 เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ให้ดูผลคะแนนเลือกตั้งรวมของ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศ จากนั้นหารด้วย 100 (ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภา 100 คน) เช่น ในปีการเลือกตั้งปี 2554 มีผู้ลงคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ 35 ล้านเสียง นำมาหาร 100 ก็จะได้สัดส่วนคะแนนที่จะได้ ส.ส.พึงมี 350,000 ต่อ ส.ส. 1 คนขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคะแนนบัญชีรายชื่อ (บัตรเลือกตั้งใบที่ 2) ของแต่ละพรรคว่าจะได้จำนวน ส.ส.กี่คน

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 95 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

1.มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี
2.มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง
3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่อยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ยื่นขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่ กกต.กําหนด

แต่สำหรับคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 106

การขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า

1.เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง : ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่ซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

2.เลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง : ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป ที่มิใช่ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหลักฐานแสดงว่าในวันเลือกตั้งตนจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง

สำหรับการยื่นคำขอใช้สิทธิล่วงหน้า : สามารถยื่นคำขอลงทะเบียน ต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิหรือเขตเลือกตั้งที่ประสงค์ขอลงคะแนน

พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชน คำสั่งแต่งตั้งและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐาน โดยสามารถยื่นคำขอ 3 ช่องทาง ดังนี้

1. ยื่นคำขอด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน โดยเขียนรายละเอียดลงแบบฟอร์ม ส.ส.1/15 ประกอบด้วย ชื่อตัว ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน สถานที่ที่จะใช้สิทธิลงคะแนน (กรณีมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทนจะต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสงค์ลงทะเบียนด้วย)

2. ยื่นคำขอทางไปรษณีย์ โดยทำการจ่าหน้าซองถึงสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น ที่ตนมีถิ่นที่อยู่
ไปรษณีย์

3.ยื่นทางอินเทอร์เน็ต

ไม่ไปเลือกตั้งเสียสิทธิ 5 ประการ

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้ง และมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ เลือกตั้งจะเสียสิทธิ 5 ประการ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง สิทธิที่ต้องเสียไป มีดังนี้

1.ยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

3.สมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

4.ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา

5.ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิได้ ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 33