อุตตม กลืนเลือด ล้างหนี้บุญคุณ ลุ้น ส.ส. 60+ เขต ฉากใหม่รัฐบาลพลังประชารัฐ

อุตตม สาวนายน
อุตตม สาวนายน
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน :ปิยะ สารสุวรรณ

อุตตม เขาคือ อดีตหัวหน้าพลังประชารัฐ ที่ถูก พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพลังประชารัฐคนปัจจุบัน “ยึดอำนาจ” เส้นสุดการทำพรรคการเมือง

ถัดจากนั้น 12 วัน อุตตม อดีตแกนนำสี่กุมาร ถูก “กดดัน” ให้ลาออกจากคณะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุติบทบาท รมว.คลัง

ปลายปี’64 อุตตมฟอร์มพรรคใหม่ เป็นหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย

กันยายน 65 อุตตม เปิดตัว “สมคิด” เป็นประธานพรรค-สนับสนุนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

เลือกตั้ง 66 อุตตม ปิดกิจการพรรคใหม่ กลับพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางคำถามที่เป็นปริศนามากมาย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อุตตม สาวนายน” ปัจจุบันมีตำแหน่งประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบายพรรค-ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 5 พลังประชารัฐ ถึงสาเหตุเบื้องลึก-เบื้องหลังการกลับมา “กลืนเลือด”

กลับมาเป็นรัฐบาลสานงานต่อ

อุตตมเท้าความไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ลงเลือกตั้งปี’62 จนเป็นรัฐบาลประยุทธ์ 2 ก่อนที่จะเฉลยปริศนาการกลับมาพรรคพลังประชารัฐอีกคำรบ

“เหตุการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นนำไปสู่การที่ผมกับเพื่อน ๆ เรียกกันว่า กลุ่มสี่กุมาร แล้วก็ยังมีท่านสมคิดถอยออกมา เป็นการถอยให้การเมืองเดินต่อได้ จากการด้วยดี ไม่เช่นนั้นคงไม่มีวันนี้”

“ผ่านไปได้สักปี เราก็เฝ้าดูบ้านเมือง เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน ผลพวงจากโควิด ก็มาคุยกันว่ามีอะไรที่เราอยากจะทำให้บ้านเมืองอีกไหม ก็ลองทำอีกสักตั้ง”

“เราตั้งใจทำให้เป็นพรรคที่เข้มแข็ง แต่สถานการณ์ทางการเมืองอีกที่เปลี่ยนแปลงไป กฎเกณฑ์ กติกา บัตรสองใบ การจะแจ้งเกิดของพรรคใหม่ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นอุปสรรค จุดประกายความคิดสู่การตั้งพรรคใหม่ชื่อ สร้างอนาคตไทย”

“เราอยากทำงานทางการเมืองอีกครั้ง สานต่อสิ่งที่ทำไว้ ถ้าลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เราก็ต้องมีโอกาสกลับเข้าไปพอสมควร เป็นจุดที่เราคิดหนัก ประกอบกับในเวลานั้น พลังประชารัฐก็ได้มีการพูดคุยมา”

“ท่านประวิตรก็พูดคุย ท่านมีเมตตา ถ้าพูดตรง ๆ ท่านก็คิดว่า เอ๊ะ มาทำงานด้วยกันไหม เพราะท่านก็พูดแล้วว่า ต้องการความร่วมมือ รวบรวมคน”

โจทย์พรรคคือ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ทีมเศรษฐกิจท่านต้องการให้แข็ง เราก็ตัดสินใจมาทำงานที่พลังประชารัฐอีกครั้ง ก็ถือว่ากลับมาบ้าน และเป็นเส้นทางจะทำประโยชน์ ทำงานให้ประเทศได้

“มีงานที่อยากทำต่อ คั่งค้างนโยบาย หาทางทำต่อ ทำไมเป็นพลังประชารัฐ เพราะมีโอกาสและมีพื้นที่ให้เราทำงานด้านเศรษฐกิจ ส่วนตำแหน่งแห่งหนอะไรยังบอกไม่ได้”

บิ๊กน้อย-ญาติทางแม่ มือประสาน

แม้การพบกันของ “อุตตมและสนธิรัตน์” กับ พล.อ.ประวิตร และบิ๊กน้อย-พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ จะเกิดขึ้นหลังจากการเปิดโต๊ะเจรจากับ “พรรคสุดารัตน์” ประกอบกับ “เงื่อนเวลา” ทำให้ “ลงตัว”

“ผมไม่ได้คิดว่ากลับมาแล้วจะปลอดภัย ไม่ปลอดภัย หรือมีที่ยืนทางการเมืองหรือไม่ แต่กลับมาแล้วทำงานให้พลังประชารัฐได้ไหม ฟังแล้วเจตนารมณ์ตรงกัน ทำงานด้วยกันได้ ท่านพูดชัดเจนไม่ทะเลาะกับใคร เสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศ”

เบื้องลึก-เบื้องหลัง ที่มีส่วนในการกลับพลังประชารัฐของอุตตม คือ “บิ๊กน้อย” ที่เป็น “ญาติทางแม่” ได้ให้ข้อมูลในการตัดสินใจ

“พี่น้อย ท่าน พล.อ.วิชญ์ รู้จักกันระดับหนึ่ง ไม่ได้ถึงกับสนิท เป็นญาติทางคุณแม่ เป็นครอบครัวใหญ่ สนิทโดยเครือญาติ ไม่ได้ทำงานด้วยกัน ได้มีโอกาสพูดคุย ได้มีโอกาสรับฟังจากผู้ใหญ่ หรือใครก็ตามที่รู้จักกับท่าน พล.อ.ประวิตร ก็เป็นข้อมูลที่ดี”

“อุตตม” ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น-ความเร็วทันท่วงทีว่า ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 5 ไม่เป็นเงื่อนไขต่อรองในการกลับพลังประชารัฐ มีแต่เรื่อง “เนื้องาน”

“ไม่เป็น ไม่มีเงื่อนไขเรื่องลำดับปาร์ตี้ลิสต์ ไม่มีเงื่อนไขตำแหน่งบริหารในพรรคเลย ยืนยัน รู้แต่ว่า เห็นตรงกัน คือมาทำเรื่องเศรษฐกิจ มาเซตอัพทีมเศรษฐกิจ”

“เรื่องของคณะกรรมการ เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง คงมีปัจจัยพิจารณาจะนำเสนอลำดับปาร์ตี้ลิสต์ประชาชนแล้วน่าเชื่อถือ พรรคนี้มีคนทำงานได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของหนี้บุญคุณ”

สานต่อสวัสดิการประชารัฐ-อีอีซี

ภารกิจที่ “อุตตม” คิดไว้ในใจ ต้องกลับมาทำให้จบที่พรรคพลังประชารัฐ คือ นโยบายหลายอย่างที่ค้างอยู่-อยากได้รับโอกาสมาทำต่อ

“นโยบายหลายอย่างที่ได้ทำไว้ เราอยากมาทำต่อ ถ้ามีโอกาส การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มที่ฐานราก ใช้กลไกของรัฐ ร่วมมือกับเอกชนและภาคประชาชน โจทย์ใหญ่ อีอีซีเราเป็นคนเริ่มไว้ เดินหน้าต่อ โยงไปพื้นที่อีสาน ใต้ รัฐสวัสดิการทำต่อ”

“เรื่องของสวัสดิการประชารัฐ อยากให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ คนไทยได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการ ทั้งสองข้าง ดูแลคุณภาพชีวิตทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เป็นที่มาของบัตรประชารัฐ 700 บาทอย่างแท้จริง”

อีกข้างคือ การช่วยคนไทยพัฒนาสนับสนุนทุกทาง ทำให้คนไทยพัฒนาตัวเอง ไม่น้อยหน้าใคร เปิดโอกาสใหม่ ๆ อยากจะทำให้เป็นจริง ตั้งแต่ระดับฐานราก ให้ครบเครื่อง ทุนใหม่จัดให้เขา ให้ทักษะ แต้มต่อสตาร์ตอัพ

“อุตตม” ล็อกเป้า “กระทรวงเศรษฐกิจ” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงไว้ ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หากคณิตศาสตร์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งออกมาเข้าทาง

เราทำเต็มที่ เราหวังผลได้ เรามีทีมในพื้นที่ที่แข็ง มีนโยบายไม่แพ้ใคร มีทีมงาน สุดท้ายดูกันว่า คณิตศาสตร์จะออกเท่าไหร่ หัวหน้าพรรคหวังว่า เป้าอาจจะอยู่ที่ ส.ส.เขต 60 ที่นั่งบวกลบ ปาร์ตี้ลิสต์ก็ว่าไป แล้วแต่กระแส ยังมีโค้งสุดท้ายอีก 40 วัน

“ผมเชื่อ ผมหวังว่าพลังประชารัฐจะได้เป็นรัฐบาลต่อ วันนี้พรรคพลังประชารัฐเสนอว่า ก้าวข้ามความขัดแย้ง เรามาทำงานให้ประเทศ อย่าไปยุ่งกับเรื่องความขัดแย้ง เราพูดได้กับทุกฝ่าย ฝ่ายค้านเราก็คุยด้วย”

ผมไม่เห็นใครเป็นศัตรู และผมเชื่อว่า เพื่อน ๆ อีกหลายคนที่เคยร่วมงานกันกับพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ได้เห็นผมเป็นศัตรู ยังติดต่อกันอยู่ สำหรับผมไม่มีคำว่าศัตรู

“หัวหน้าพรรคพูดชัดเจน เราก้าวข้ามความขัดแย้ง เราเป็นมิตรกับทุกพรรค แต่จะร่วมงานกันได้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ตรงกันไหม วิธีทำงานตรงกันไหม สุดท้ายประชาชนแสดงเจตจำนงผ่านผลการเลือกตั้ง อยากเห็นรัฐบาลอย่างไรที่เข้าตา”

สมคิดตัดสายสะดือ-ประวิตรชุบเลี้ยง

“อุตตม” พูดถึงบุคคลที่มีบทบาทในชีวิตทางการเมืองทั้งในอดีต-ปัจจุบันและอนาคต 3 คน คนแรก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่เปรียบเสมือนเป็นคน “ตัดสายสะดือ” ให้ออกมาดูโลกการเมือง

อาจารย์สมคิด ผมรู้จักกับท่านมานานมาก ตั้งแต่เป็นนักศึกษาด้วยกัน เจอกันที่อเมริกา ท่านเรียนปริญญาเอก ผมเรียนปริญญาโทอยู่ ก่อนหน้านั้นไม่รู้จักกัน แต่เผอิญไปมหา’ลัยเดียวกันก็เลยรู้จัก ก็ผูกพันกันมา

“ผมถือว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ ท่านเป็นรุ่นพี่ ที่ผมมีความใกล้ชิดมาก เป็นรุ่นพี่ที่ผมปรึกษาได้หลายเรื่อง ไม่เฉพาะแต่เรื่องการเมือง ท่านเป็นคนชวนผมไปสอนหนังสือที่นิด้า คืออาชีพแรกของผม”

“พอออกมาทำภาคเอกชนก็ติดต่อกันตลอด ท่านชวนผมทำงานการเมืองสมัย 10 กว่าปีก่อน แล้วก็มา 4-5 ปีที่แล้วที่พวกเราเข้ามาช่วยงานรัฐบาลก็ต่อเนื่องมา ผูกพันมาโดยตลอด ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกัน คุยกัน”

คนที่สอง “พล.อ.ประวิตร” คนที่เลี้ยงดูนายอุตตมให้เติบโตทางการเมืองหลังจากนี้

“ส่วนท่านประวิตร ผมรู้จักท่านเมื่อตอนเข้าไปทำงานการเมืองปี’58 เป็นครั้งแรก แล้ววันนี้ก็มาทำงานให้ท่านอีกครั้งหนึ่งในฐานะท่านเป็นหัวหน้าพรรค อยู่ในทีม แน่นอนมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตทางการเมืองของผม โดยเฉพาะในปัจจุบัน”

“อุตตม” อธิบายให้เข้าใจได้ถึงเหตุการณ์ “ยึดอำนาจ” ล่ารายชื่อกรรมการบริหารพรรค 18 คน จนถูกปลดกลางอากาศ กลายเป็นอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “ก็เป็นฉากหนึ่งของการเมือง”

“ไม่ใช่ปลดหัวหน้าพรรค เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ถ้ากรรมการบริหารพรรคเกินกึ่งหนึ่งลาออก ก็พ้นไปทั้งคณะ เป็นปกติทางการเมือง เราคงไม่ไปพูดในรายละเอียดว่าใครพูดอะไร คงไม่พูด ต้องรักษามารยาท เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว”

เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง จะเรียกว่าอะไรก็ตาม เป็นการเปลี่ยนแปลง อยู่ที่เรา ถ้าเราเข้าใจ ว่าเป็นวิถีหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทางการเมือง เราก็มาตัดสินใจ แล้วจะอยู่กับมันต่อไปไหม

“เราเห็นภาพอะไรที่บอกว่า เอาล่ะ เข้าใจ นี่คือวิถีการเมือง ถ้ายังอยากจะทำต่อ ถ้าเข้าใจแล้ว เดินหน้าต่อ ก็เดินหน้าไป เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ไปยึดติดกับมัน ถ้ายึดติดมากก็อย่าตัดสินใจเดินต่อ แต่ผมกับเพื่อน ๆ ไม่ใช่แบบนั้น”

“จะเรียกว่ากลืนเลือดหรือกลืนอะไรก็ตาม เป็นวิถี อย่าว่าแต่การเมืองเลย ทำงานกลืนเลือดไหม กลืนเลือดทางการเมืองก็มี”

ไม่ติดใจประยุทธ์

ส่วนคนที่สาม คือ “พล.อ.ประยุทธ์” คนที่ให้โอกาสทางการเมืองนายอุตตมจนได้รับบทเรียนที่หาได้ยาก อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น อะไรที่เข้าไม่ถึงก็ได้เข้าถึง

“ช่วงทำพรรคสร้างอนาคตไทย เราจะเดินทางสายกลางและมีคนในใจที่เหมาะสมเป็นผู้นำประเทศในช่วงเวลา คือ ท่านสมคิด ไม่ได้ติดใจอะไรกับใคร วันนี้ผมตัดสินใจกลับมาพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอท่านประวิตรเป็นนายกฯ ถ้าผมไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่มา”

“ไม่ได้ออกไปเพราะท่านประยุทธ์เลย เราถอยออกมาเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ขับเคลื่อนงานต่อได้ เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่มีเดิน มีถอย ถอยแล้วก็กลับเข้าไปใหม่ได้”

ผมคิดว่า บทเรียนในการทำการเมืองมีหลายฉาก ตอนเริ่มก็ได้บทเรียนอย่างหนึ่ง ทำงานภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ประสบการณ์หลากหลาย ทั้งประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน บริหารราชการ ถือว่าเป็นโอกาส บทเรียนหายากมาก

“การเมืองที่แท้เป็นอย่างไร มีเงื่อนไขมาก หลายอย่างผมไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่เคยอยู่ ไม่เคยเข้าถึง ก็มีโอกาสได้เข้าถึงว่าเป็นอย่างไร นี่คือบทเรียนสำคัญ”

ยังไม่ถึงฝั่ง ฝึกไม่ถึงขั้น “หน้าหนา ใจดำ”

ในฐานะ “อุตตม” เป็นศิษย์เอกของ “อาจารย์สมคิด” จนได้แรงผลักไปถึง “จุดสูงสุด” คือ “หัวหน้าพรรคใหญ่” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล วันนี้เป็นนักการเมืองฝึกถึงขั้น “หน้าหนา ใจดำ” หรือยัง เขาออกตัวว่า ต้องเรียนรู้อีกมาก

“งานการเมืองยังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้งด้วยซ้ำไป ยังมีงานอีกเยอะที่ต้องทำ ยังไม่ถึงฝั่ง ผมไม่ได้คิดล่วงหน้า ถ้าถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าอิ่มตัว ถึงเวลาที่เราออกจากการเมืองก็จุดนั้น ไม่ได้วางไว้ว่าเมื่อไหร่”

“ยังมีให้เรียนรู้อีกเยอะ เพราะยังไม่รู้ว่ามันมีอะไรต้องเจออีกเยอะ เราก็ต้องเปิดใจว่ามันมี มันเป็นวิถีการเมือง วันนี้ถือว่ากำไร ได้เรียนรู้ การเมืองกระทบแล้วยังอยู่ได้ ถึงเวลาอิ่มตัวก็ส่งมอบให้รุ่นต่อไป”

ผมตีความว่า ต้องอดทน ความหนาคือความอดทนหลายรูปแบบ ที่บอกว่ากลืนเลือด จริง การเมืองเป็นแบบนั้น หลาย ๆ งานผมผ่านงานเอกชนมาเยอะ องค์กรในประเทศและต่างประเทศ กลืนเลือดมีแน่นอน

ในความหมายผม เรียนรู้อะไรมา โดนกระแทกซ้าย กระแทกขวา อ้าว เด้งโน่น เด้งนี่มา ใจเนี่ย ใจก็ต้องนิ่งพอ กล้าตัดสินใจ เมื่อต้องตัดสินใจ อย่าโลเล เราถึงตัดสินใจเป็นฉาก ๆ เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ต้องตัดสินใจ อย่ารอ บางครั้งก็ต้องใจแข็งและตัดสินใจ


“อุตตม” ยังไม่รู้ว่าจะถึงฝั่งไหน แต่เขาภาวนา “อย่าให้จมน้ำก็พอแล้ว”