กับดักการเมือง-ตะปูเรือใบ เส้นทาง “พิธา” นายกฯคนที่ 30

รัฐบาลก้าวไกล
คอลัมน์ : Politics policy people forum

รัฐบาลพรรคก้าวไกล ยังอีกไกลกว่าจะถึงฝั่งการเป็นรัฐบาล เพราะยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน

การฟอร์มรัฐบาลผ่านไปเป็นสัปดาห์ฝุ่นยังตลบอบอวล เส้นทางของรัฐบาลพรรคก้าวไกล ดูเหมือนยิ่งเดินยิ่งไกล ยังไม่ใกล้เคียงความฝัน

เสียรังวัด ฟอร์มรัฐบาล

พรรคก้าวไกลประกาศจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม มัดรวมเสียงข้างมาก 313 เสียง 8 พรรคการเมือง แบ่งเป็นพรรคก้าวไกล 152 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และพรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง

ต่อมามีการรวมพรรคใหม่ 1 เสียง และพรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง รวมเป็น 10 พรรค 316 เสียง แต่ในทันใดก็เกิดกระแสตีกลับเรื่องการรับพรรคชาติพัฒนากล้าร่วมรัฐบาล กระทั่งพรรคก้าวไกล ล้มดีลพรรคชาติพัฒนากล้า และต่อด้วยพรรคใหม่ หมากเกมนี้ พรรคก้าวไกลเสียรังวัดพอสมควร

MOU มัดพรรคร่วม

เอ็มโอยูของพรรคก้าวไกล เป็น “นวัตกรรม” การเมือง ที่ถูกนำมาใช้ในการฟอร์มรัฐบาลครั้งแรก ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “มัด” พรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในหัวข้อที่ว่า “ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติ” ดังต่อไปนี้

1.ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน

2.ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชั่น ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ทันที

3.ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง

4.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง

5.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

เป็น 5 ข้อที่ผูกมัดพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล 313 เสียง ชัดเจนยิ่งกว่ากฎเหล็ก 9 ข้อ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยเฉพาะข้อ 2 ขีดเส้นเรื่องการทุจริต หากพบต้องออกจากเก้าอี้รัฐมนตรี

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า เคยให้ความเห็นเรื่องดังกล่าว ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า “สิ่งสำคัญก็คือ ถ้ารัฐบาลใหม่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยอย่าพลาดแล้วกัน เช่น ทุจริตคอร์รัปชั่น อย่าปล่อยให้ตรงนี้มันกลับมา ให้เขาไปสร้างกระแสทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยได้”

ไม่แปลกที่เอ็มโอยูจึงมัดพรรคร่วมรัฐบาล “ห้ามทุจริต”

ข่าวใต้ดิน ตั้งรัฐบาลซ้อน

แม้ว่าหน้าฉาก 8 พรรคการเมืองพันธมิตรจะจับมือร่วมรัฐบาลด้วยรอยยิ้มชื่นมื่น แต่ฉากหลังไม่มีใครไว้ใจใครได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล

เพราะหลังการแถลงข่าวตั้งรัฐบาลเมื่อ 18 พฤษภาคม จากวันนั้นถึงวันลงนามเอ็มโอยู กลับมีการปล่อยโผคณะรัฐมนตรีว่อนโซเชียลมีเดีย พรรคร่วมระบายความอึดอัด MOU ก้าวไกล ไปจนถึงข่าวลือเรื่องการแย่งชิงเก้าอี้ประธานรัฐสภา ระหว่างพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล

มีการแก้เกมข่าวปล่อยของทั้ง 2 ฝ่ายออกมา พรรคก้าวไกลมี “เดชรัต สุขกำเนิด” ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกลระบุว่า ข่าวลือ และ ครม.แฟนตาซี ณ สถานการณ์ปัจจุบัน การจัดตั้งรัฐบาลยังมิได้ไปถึงขั้นตอนการแบ่งสรรกระทรวง หรือ รมต.ใด ๆ เพราะฉะนั้น ข่าวที่ออกมาในช่วงนี้ว่าใคร (รวมถึงผม) จะนั่งกระทรวงใด ล้วนเป็นข่าวลือ ครับผม

เพื่อไทย ปิดหน้า ปิดตา แต่อ้างเป็นแหล่งข่าวว่า “ยืนยันเอกสารที่ปล่อยออกมาไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย เราไม่มีส่วนรู้เห็น มองว่าคนปล่อยไม่เป็นสุภาพบุรุษในการเจรจา และกระทำไปโดยมีเจตนาแอบแฝงบางอย่าง”

แหล่งข่าวไม่ว่ามาจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย ฝ่ายพรรคก้าวไกล หรือฝ่ายมือที่สาม ต่างต่อสู้กันในสงครามข่าว หลบอยู่ในมุมของตัวเอง แต่ต้องการให้ผลลัพธ์ทางการเมืองเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับการข่าวปล่อยเรื่อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี “จัดตั้งรัฐบาลแข่ง” ที่ฮ่องกง ก็สั่นประสาทกันทุกก๊กการเมือง

ขอเสียง ส.ว.ทั้งหนุนทั้งค้าน

ขณะที่พรรคก้าวไกลรวบรวมเสียงข้างมาก 313 เสียง แต่เส้นทางการเป็นรัฐบาลยังอีกไกล เพราะต้องการเสียงอีก 67 เสียง ถึงจะได้เสียงเกิน “กึ่งหนึ่ง” ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ลำพังแค่เสียงนักการเมือง-พรรคการเมืองยังไม่พอ ต้องขอเสียงจาก ส.ว.เข้ามาช่วยโหวต “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกว่า เสียง ส.ว.สำคัญมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีเสียง ส.ว.สนับสนุน ส่วนเงื่อนไขที่จะไปเจรจาคือ ไปทำความเข้าใจกับ ส.ว. เพราะส่วนใหญ่จะเป็นความไม่เข้าอกเข้าใจพรรคก้าวไกล ฟังมาอย่างนั้น ฟังมาอย่างนี้

“เช่น รัฐบาลก้าวไกลจะเอาฐานทัพสหรัฐอเมริกามาตั้งที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่ง ส.ว.บางคนได้รับข้อมูลข่าวสารแบบนี้ ท่านก็ถาม เราก็อธิบายได้ว่ามันไม่มีมูลความจริงเลย หลาย ๆ เรื่อง เรานึกออก ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศได้รับข้อมูลข่าวสารในวงแบบนั้น ถ้าได้ออก bubble มารับฟังกันจริง ๆ ก็จะทลายกำแพงได้”

แต่อีกด้าน ส.ว.สายอนุรักษนิยม พยายามทำความคิดกับบรรดามวลชน ถึง “ผลร้าย” หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เช่น ล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แก้ไขโครงสร้างการเมืองต่าง ๆ ทั้ง องคมนตรี ศาลทหาร สภากลาโหม เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หมวดพระมหากษัตริย์ทั้งหมวด

แม้เอ็มโอยู ไม่มีเรื่องแก้ มาตรา 112 แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่แก้ เพราะในเอ็มโอยูช่วงท้ายให้แต่ละพรรคการเมืองที่มีนโยบายเสนอเพิ่มเติมได้

ส.ว.มีทั้งหนุน-ทั้งต้านการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “พิธา” ต่อให้พรรคการเมือง-ส.ว.สายกลาง ยกมือหนุนให้พิธาอีก 30-40 เสียง โอกาสของ “พิธา” ก็ยังยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดีที่จะหาเสียงให้ได้เกินครึ่ง 376 เสียง

คดีอันตราย พิธา

ขณะที่ “พิธา” ยังมีชนักติดตัวคือ คดีหุ้นไอทีวี ที่ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” หัวหอกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องคาไว้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และยังมีกรณีที่ “ธีรยุทธ สุพรรณเกษร” อดีตทนายความของพระพุทธอิสระ ร้องเรียนให้ กกต.ตรวจสอบพรรคก้าวไกล ได้ดำเนินการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาจประสบอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ

เส้นทางของ “พิธา” ในการเป็นนายกฯ ยังอีกยาว และยังถูกโรยด้วยตะปูเรือใบ