เปิดไทม์ไลน์ซ่อนเกมการเมือง หุ้นไอทีวีกองมรดก กับดักพิธานั่งนายกฯ

หุ้นไอทีวี-พิธา

เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กลายเป็น “ทุกขลาภ” ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล

หลังจาก “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบกรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

“พิธา” ทวิตข้อความชี้แจงว่า “ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวล เพราะไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช.ไปนานแล้ว ฝ่ายทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้”

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แจ้งในโครงสร้างการถือหุ้นบริษัทใน “กลุ่มอินทัช” ว่าถือหุ้นบริษัท ไอทีวี 52.92% ซึ่งปัจจุบันหยุดการดำเนินธุรกิจ และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

งบกำไร-ขาดทุน บริษัท ไอทีวี 5 ปีย้อนหลัง

ข้อมูลจาก “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” แจ้งว่า บริษัทไอทีวีระบุมูลค่าหุ้นและสัดส่วนการลงทุนจำแนกตามสัญชาติ (ข้อมูลปี 2562-2566) รวมจำนวน 1,206,697,400 หุ้น มูลค่าลงทุน 7,800 ล้านบาท สัญชาติไทย 89.18% ประเทศอื่น 10.82%

ขณะที่งบการเงิน-กำไรขาดทุน 5 ย้อนหลัง

  • ปี 65 รายได้รวม 19,863,244 บาท กำไร 8,524,445 บาท
  • ปี 64 รายได้รวม 22,993,678 บาท กำไร 10,177,063 บาท
  • ปี 63 รายได้รวม 27,752,826 บาท กำไร 7,652,665 บาท
  • ปี 62 รายได้รวม 28,034,734 บาท กำไร 15,385,413 บาท
  • ปี 61 รายได้รวม 31,079,875 บาท กำไร 17,747,269 บาท

ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 มีผู้ถือหุ้นถามในที่ประชุมว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ซึ่งรายงานการประชุมบันทึก “คำตอบ” ไว้ว่า

“ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

เกิดเป็นคำถามว่า “บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่” จริงหรือไม่ ?

รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 “วันเดียวกัน” อนุมัติงบการเงินประจำปี 2565 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กำไรมาจากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับในตลาดตราสารหนี้

“งบแสดงฐานะการเงิน” สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทไอทีวี คือเงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลประเภทตราสารหนี้ บริหารจัดการโดยบริษัทจัดการหลักทรัพย์สองแห่ง (บลจ.กสิกรไทย และ บลจ.เอ็มเอฟซี)

บริษัทไอทีวีมีหนี้สิน 2,892 ล้านบาท ส่วนใหญ่คือค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่างค้างจ่ายและดอกเบี้ย ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงติดลบ 1,626 ล้านบาท

เอกสารแนบท้ายรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ตอบคำถามผู้ถือหุ้นที่ส่งคำถาม-ข้อเสนอแนะทางไปรษณีย์ว่า

บริษัทไอทีวีพยายามศึกษาข้อกฎหมายและแนวทางมาโดยตลอด (กลับเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์) และพยายามหาโอกาสเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว

โดยในปี 2559 บริษัทเคยว่าจ้าง บลจ.ภัทร จำกัด เป็นที่ปรึกษาการลงทุน ให้ดำเนินการสรรหาบริษัทเป้าหมายและหาโอกาสเข้าไปเจรจาร่วมลงทุน

แต่ปรากฏว่าบริษัทกลับไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทเป้าหมาย เพราะบริษัทยังมีคดีความคงค้างกับ สปน. และมีข้อจำกัดที่เกี่ยวกับสถานะของบริษัทที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือ หรือต่อยอดทางธุรกิจให้แก่บริษัทเป้าหมายได้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่หุ้นของบริษัทจะสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้

“ผู้ถือหุ้นอีกราย” ขอให้บริษัทสร้างผลงานผ่าน Youtube โดยไม่ต้องลงทุนมาก “คำตอบ” ที่ได้รับคือ

“ในปัจจุบัน บริษัทไม่มีทรัพยากรและบุคลากรที่จะดำเนินการได้ และการเริ่มประกอบกิจการใหม่ในความไม่พร้อมดังกล่าว แทนที่จะเป็นโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน อาจกลายเป็นการเพิ่มภาระความเสี่ยงให้แก่บริษัทและผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้น”

ล้มแผนลงทุนทีวีดิจิทัล

ย้อนกลับไปในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 บริษัทไอทีวีมีการพิจารณาแนวทางการดำเนินกิจกรรมหลังจากคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาของ สปน.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ “หักกลบลบหนี้” กับ สปน. จำนวน 2,890,345,205.48 บาท

โดยบริษัทไอทีวีได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ ศึกษาและวางแผนโครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสมของบริษัท ดังนี้

– ปลายเดือนเมษายน 2559 บริษัทไอทีวีได้รับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายระบุว่า บริษัทดำเนินการเรื่องการลงทุนได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย มีความเสี่ยงเฉพาะในเรื่องผลประกอบการและสถานะของกิจการที่จะเข้าไปลงทุน

– ช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2559 คณะกรรมการได้พิจารณาและวิเคราะห์โครงสร้างการลงทุนของบริษัทที่มีความเหมาะสม เพื่อสรรหาโครงสร้างการลงทุนที่จะเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นในหลากหลายรูปแบบ

– เดือนพฤศจิกายน 2559 สรุปเรื่องโครงสร้างการลงทุน โดย “บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด” ซึ่งเป็น “บริษัทลูก” จะเป็นผู้ลงทุนในแนวทางและกรอบการลงทุนที่บริษัทได้ศึกษาและกำหนดไว้

– เดือนมกราคม 2560 ได้รับข้อเสนอทางธุรกิจจากบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัล ต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้บริษัทเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท

การประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ทีมผู้บริหารของบริษัทเป้าหมายเข้ามาเสนอและอธิบายแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

การประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทได้ประชุมเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมาย ภายหลังที่ได้หารือร่วมกัน โดยวิเคราะห์ถึงสภาพตลาด การแข่งขัน และข้อดีข้อเสียของการเข้าลงทุนตามข้อเสนอของบริษัทเป้าหมายอย่างรอบคอบแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “บริษัทไม่สามารถตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมายได้” เนื่องจาก

1.ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้ประกอบการรายที่เป็นผู้นำตลาดเท่านั้นที่จะพอสร้างกำไรได้

2.มีความไม่แน่นอนในการประมาณการรายได้ในอนาคตของบริษัทเป้าหมาย ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากสมมุติฐานใด และไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะทำให้เชื่อถือได้ว่า บริษัทเป้าหมายจะสามารถเติบโตและสร้างรายได้ตามที่ได้คาดการณ์ไว้

3.มีความกังวลเรื่องการบริหารเงินลงทุน เนื่องจากบริษัทเป้าหมายมุ่งเน้นในการนำเงินเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ซึ่งอาจไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่บริษัทในระยะยาวได้

4.บริษัทเป้าหมายมีภาระหนี้สินในระดับสูง จึงยังไม่เห็นความเป็นไปได้ว่า หากบริษัทตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจดังกล่าวและใส่เงินลงทุนเข้าไปแล้ว บริษัทเป้าหมายจะสามารถบริหารเงินลงทุนจนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ในระยะเวลาอันใกล้

บริษัทอาร์ตแวร์ มีเดีย-บริษัทลูก หรือนอมินีไอทีวี

บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด มีสถานะเป็น “บริษัทลูก” หรือ “บริษัทย่อย” ของบริษัทไอทีวี ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ชั้น 27 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. สถานที่เดียวกันกับบริษัทไอทีวี

ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน 77299 การให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น วัตถุประสงค์ ให้เช่าอุปกรณ์การผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์

ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ประเภทธุรกิจ 73101 กิจกรรมของบริษัทโฆษณา วัตถุประสงค์ กิจกรรมของบริษัทโฆษณา

กรรมการผู้มีอำนาจลงนามคนเดียวกับรายชื่อกรรมการบริษัทไอทีวี ได้แก่ นายคิมห์ สิริทวีชัย นายจิตชาย มุสิกบุตร นายเมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส

บริษัท อาร์ตแวร์ ฯ รายงานงบกำไรขาดทุน

  • ปี 65 รายได้ 840 บาท ขาดทุน 55,420 บาท
  • ปี 64 รายได้ 701 บาท ขาดทุน 49,379 บาท
  • ปี 63 รายได้ 1,036 บาท ขาดทุน 56,024 บาท
  • ปี 62 รายได้ 2,457 บาท ขาดทุน 44,538 บาท
  • ปี 61 รายได้ 2,720 บาท ขาดทุน 45,645 บาท

รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2562 รายงาน “งบแสดงฐานะการเงินเฉพาะของบริษัท” ต่อผู้ถือหุ้นว่าบริษัทไอทีวีมีเงินลงทุนใน บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด ประมาณ 644,000 บาทเศษ และจากการรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2560 ประมาณ 800,000 กว่าบาท

เทียบคดีถือหุ้นสื่อรอด-ร่วง

อดีตมี “คดีหุ้นสื่อ” ที่ “ถึงที่สุด” 2 คดี แต่ผลคำตัดสินมีทั้ง “รอด” และ “ร่วง”

คดีที่รอด กรณีศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 นครนายกเพิ่มชื่อนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 2 นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ผู้ร้อง) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ภายหลังจากวินิจฉัยว่า นายชาญชัยมีหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง 200 หุ้น จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด 2,973,925,791 หุ้น และมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทแอดวานซ์ฯ ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงิน 579,971,000,000 บาท ในขณะที่หุ้นของผู้ร้องมีมูลค่าตามราคาตลาดในวันเดียวกันเป็นเงินเพียง 39,000 บาท

“การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ฯ จำนวนเพียง 200 หุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัทแอดวานซ์ฯ ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้ เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นในจำนวนมากพอที่จะสามารถกระทำเช่นนั้นได้”

ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายในคดีนี้ ผู้ร้อง (นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์) ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 2 นครนายก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผู้คัดค้าน (ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 นครนายก) ไม่ประกาศรายชื่อ “ผู้ร้อง” เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ โดยอ้างว่า ผู้ร้อง “ขาดคุณสมบัติ” หรือ “มีลักษณะต้องห้าม” มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากเป็น “ผู้ถือหุ้น” ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนใด ๆ โดยอ้อม

เพราะมีบริษัทย่อยทางอ้อมเป็นบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด (มหาชน) ลักษณะธุรกิจเป็นผู้บริการด้านการนำเสนอสื่อโฆษณาแบบออนไลน์และบริการรับบริหารและจัดทำระบบคอลเซ็นเตอร์กับบริษัทเยลโล่ เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ลักษณะธุรกิจเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ … และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)

ศาลฎีกา ตีความข้อกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด (มหาชน) บริษัทเยลโลเพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด (บริษัทย่อยทางอ้อม) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “อยู่” ในความหมายของคำว่า “สื่อมวลชนใด ๆ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)

“…แต่การจำกัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเหตุเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ จึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และไม่เป็นการเพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ …”

คดีที่ “ร่วง” ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง (กกต.) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ถูกร้อง (นายธนาธร) ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ไทม์ไลน์ข้อพิพาท สปน. VS ไอทีวี

มหากาพย์ข้อพิพาทระหว่างสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกับบริษัทไอทีวีกลายเป็นหลุมดำที่ทำให้บริษัทไอทีวีไม่สามารถกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้

วันที่ 30 มกราคม 2547 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างไอทีวีกับ สปน.เกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการ ดังนี้

  • ให้สปน.ชดเชยความเสียหายโดยชำระเงินให้แก่ไอทีวีจำนวน 20 ล้านบาท
  • ให้ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการโดยให้เปรียบเทียบระหว่างจำนวนเงินที่

คำนวณได้ตามอัตราร้อยละ 6.5 (เดิมอัตราร้อยละ 44) ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและภาษีใด ๆ กับเงินประกันผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีละ 230 ล้านบาท (ปรับลดจากที่กำหนดไว้ในสัญญา ปีที่ 8 จำนวน 800 ล้านบาท ปีที่ 9 จำนวน 900 ล้านบาท และตั้งแต่ปีที่ 10-30 ปีละ 1,000 ล้านบาท) จำนวนใดมากกว่าให้ชำระตามจำนวนที่มากกว่านั้นโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป

  • ให้ สปน.คืนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำบางส่วนจากจำนวน 800 ล้านบาท ที่ไอทีวีได้ชำระ โดยมีเงื่อนไขในระหว่างพิจารณาข้อพิพาทนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 โดยคืนให้แก่ไอทีวีจำนวน 570 ล้านบาท
  • ให้ไอทีวีสามารถออกอากาศช่วงเวลา PrimeTime (ช่วงเวลาระหว่าง 19.00 น.ถึง 21.30 น.) ได้โดยไม่ถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ โดยไอทีวีจะต้องเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด ภายใต้ข้อบังคับของกฎระเบียบที่ทางราชการออกใช้บังคับแก่สถานีวิทยุโทรทัศน์โดยทั่ว ๆ ไป

วันที่ 27 เมษายน 2547 สปน.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการทั้งฉบับ

วันที่ 7 มิถุนายน 2549 ไอทีวียื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 13 ธันวาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 30 มกราคม 2547 ทั้งฉบับ ดังนี้

  • ปรับผังรายการให้รายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์จะต้องออกอากาศรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด และระยะเวลาระหว่างเวลา 19.00-21.30 น. จะต้องใช้สำหรับรายการประเภทนี้เท่านั้น
  • ชำระค่าอนุญาตให้ดำเนินการให้ สปน. ในอัตราร้อยละ 44 ของรายได้ โดยมีอัตราขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาทต่อปี
  • ปรับผังรายการ
  • ชำระเงินส่วนต่างของค่าอนุญาตให้ดำเนินการขั้นต่ำตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการ สำหรับปีที่ 9 (งวดที่ 7) จำนวน 670 ล้านบาท ปีที่ 10 (งวดที่ 8) จำนวน 770 ล้านบาท และปีที่ 11 (งวดที่ 9) จำนวน 770 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยคำนวณเป็นรายวันตามจำนวนวันที่ชำระล่าช้า
  • ชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของค่าอนุญาตที่ สปน.จะได้รับในปีนั้น ๆ โดยคิดเป็นรายวันจากกรณีที่ไอทีวีปรับผังรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2549 จำนวนเงิน 97,760 ล้านบาท

วันที่ 4 มกราคม 2550 ไอทีวียื่นข้อพิพาทเรื่องค่าปรับจากการปรับผังรายการและดอกเบี้ยในค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่างต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยเสนอแนวทางประนีประนอมการจ่ายเงิน 2,210 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขให้สปน. เข้าร่วมดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อชี้ขาดกรณีค่าปรับและดอกเบี้ยค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่าง สปน.ปฏิเสธเงื่อนไข

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ไอทีวีได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 สปน.มีหนังสือปฏิเสธข้อเสนอของไอทีวี

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ไอทีวียื่นคำร้องศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน

  • ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการของ สปน. ในกรณีที่ไอทีวียังมิได้ชำระค่าปรับจากการปรับผังรายการและดอกเบี้ยในค่าส่วนต่างจำนวนประมาณหนึ่งแสนล้านบาท จนกว่าคณะอนุญาโตตุลาการจะได้มีคำชี้ขาดและข้อพิพาทดังกล่าวถึงที่สุดตามกฎหมาย
  • ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดระยะเวลา เพื่อให้บริษัทชำระค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่าง จำนวน 2,210 ล้านบาท ให้แก่ สปน.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งในเรื่อง

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินของไอทีวี

วันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ไอทีวียื่นคำฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 910/2550

วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง (คดีหมายเลขดำที่ 910/2550) ไว้พิจารณา เนื่องจากเกินกว่าอายุความ (10 ปี )

วันที่ 22 มิถุนายน 2550 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 640/2550 ที่ สปน.ฟ้องคดี เรียกร้องให้บริษัทชำระค่าอนุญาต

วันที่ 11 กรกฎาคม 2550 ไอทีวียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 910/2550 เพราะเหตุขาดอายุความ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ตัดสินให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 640/2550 ต่อศาลปกครองสูงสุด และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวให้หยุดกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อรอคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 29 ตุลาคม 2550 ไอทีวียื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา เพื่อไม่ให้ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยมีผลใช้บังคับ

วันที่ 30 ตุลาคม 2550 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉินของไอทีวี

วันที่ 19 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไป

วันที่ 29 เมษายน 2559 สปน.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ศาลปกครองกลางพิพากษายกคำร้องของ สปน.

วันที่ 15 มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด

ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการจัดทำคำแก้อุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด

ผู้ถือหุ้นถามการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ว่า คดีความทั้งหมดจะจบสิ้นลงเมื่อใด และมีแนวทางจัดการกับบริษัทต่อจากนี้อย่างไร ได้รับคำตอบว่า

“ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และจากการคาดการณ์ของบริษัทตามกรอบเวลาของศาลปครองสุงสุด พบว่าศาลปกครองมักจะใช้เวลาพิจารณาคดีประมาณ 2 ปีครึ่ง ซึ่งตามข้อเท็จจริง สปน.ยื่นอุทธรณ์ในปี 2564 บริษัทจึงคาดว่าน่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดภายในปี 2566 ทั้งนี้ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง จะถือว่าคดีถึงที่สุด”