เปิดที่มาข้อกฎหมาย ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ เกิดขึ้นเพราะอะไร ?

สื่อ สื่อมวลชน สื่อสารมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ

เปิดที่มาข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ ห้ามนักการเมืองถือหุ้นในกิจการสื่อ เพราะอะไร ทำไมต้องห้าม ? และในยุคสื่อมีมากกว่าทีวี-หนังสือพิมพ์-วิทยุ กฎหมายนี้ยังเวิร์กหรือไม่ ?

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กรณีการถือหุ้นสื่อของนักการเมือง ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อมีกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พบถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่ากรณีดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

หากเราจำกันได้ กรณีนักการเมืองถือหุ้นในกิจการสื่อ กลับมาเป็นสิ่งที่หลอกหลอนในช่วงการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังเมื่อการเลือกตั้ง ปี 2562 มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกตัดสิทะิ์การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากกรณีพบการถือหุ้นในกิจการสื่อ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนที่มาข้อห้ามถือหุ้นกิจการสื่อในรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ และเกิดขึ้นเพราะอะไร ?

จุดเริ่มต้น “ห้ามนักการเมืองเข้าถือหุ้นสื่อ”

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงก่อนการรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น เข้าถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ซึ่งเป็นผู้ร่วมสัญญาการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF) กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวี ต่อจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

จนทำให้เกิดการต่อต้านกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้ามา และกังวลว่าจะเกิดการแทรกแซงการบริหารงาน จนในที่สุดพนักงานบางส่วนของสถานีฯ ทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายข่าว ตัดสินใจลาออกบางส่วน และมีบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขึ้น

ต่อมามีความพยายามในการเข้าซื้อกิจการสื่ออีกหลายแห่ง ทำให้เกิดความกังวลและหวาดกลัวในกลุ่มสื่อมวลชนและผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนว่า เสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อ และความอิสระต่อการตรวจสอบอำนาจรัฐจะหายไป

กระทั่งหลังเกิดการรัฐประหาร 2549 มีการกำหนดไว้ในมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจาขเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”

มาตราดังกล่าวที่ยกมานั้น มีจุดเริ่มต้นจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ให้ยังคงมีความอิสระ สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบและวิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างตรงไปตรงมา และป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่มีสื่ออยู่ในมือ สามารถบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร สร้างความได้เปรียบให้แก่ตนเองได้

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดชัด ต้องห้ามเป็น ส.ส.

วันเวลาล่วงเลยไป จนกระทั่งมีการทำรัฐประหารขึ้นอีกครั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566 และได้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยฉบับดังกล่าวยังมีข้อห้ามเรื่องการถือหุ้นในกิจการสื่อของนักการเมืองเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า

แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการระบุไว้ในมาตรา 98(3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” และหากสมาชิก ส.ส. มีการถือหุ้นในสื่อ จะถือว่าขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ซึ่งจะกระทบเฉพาะบุคคลนั้น ๆ เท่านั้น ไม่ทำให้พรรคต้องถูกยุบ

ย้อนกรณีใหญ่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีเคสใหญ่ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 หลังการเลือกตั้งได้เพียง 2 วัน “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้เป็น ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่

กระทั่ง 16 พฤษภาคม 2562 กกต. มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ “ธนาธร” ให้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า “ธนาธร” เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด

อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ นายธนาธร สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. เนื่องจากพยานหลักฐาน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ “ธนาธร” ถือหุ้น เป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัท พบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณาถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนและยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชี

ในช่วงเดียวกันกับที่เกิดกรณีการถือหุ้นสือของนายธนาธร ทั้งพรรคฝ่ายค้านอย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขธิการพรรคอนาคตใหม่ และพรรคฝ่ายรัฐบาลอย่าง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่ในฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นเรื่องตรวจสอบ ส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ผลสรุปคือ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พ้นจากการเป็น ส.ส. เพียงคนเดียว จากรายชื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้กว่า 60 คน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ไม่มีความผิดทั้งหมด

ส.ส.ถือหุ้นโทรคมนาคม จบที่คืนสิทธิ์การลงสมัคร ส.ส.

การเลือกตั้ง 2566 ยังมีเคสที่ถูกตัดสิทธิ์การลงสมัคร ส.ส. โดยนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนครนายก หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ ถูก กกต.นครนายก ตัดสิทธิ์การสมัครเป็น ส.ส. เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 เนื่องจากพบว่ามีการถือหุ้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งนายชาญชัย เปิดเผยว่า ตนเป็นเพียงนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งตนเองนั้นไม่สามารถเข้าไปดูในรายละเอียดของบริษัท AIS

ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้คืนสิทธิ์การเป็น ส.ส. แก่นายชาญชัย โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า นายชาญชัย ถือหุ้นใน AIS เพียง 200 หุ้น จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด 2,873,425,791 หุ้น และ มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท AIS ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงิน 579,971,000,000 บาท ในขณะที่หุ้นของนายชาญชัย มีมูลค่าตามราคาตลาดในวันเดียวกันเพียง 39,000 บาท ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท AIS ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ตน และพรรคการเมืองที่ตนสังกัด หรือ เป็นโทษต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของตน หรือ พรรคการเมืองของตนได้

กรณี “พิธา” ถือหุ้น ITV

สำหรับกรณีของนายพิธา ซึ่งพบมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ไอทีวี (ITV) จำนวน 42,000 หุ้น และเป็นที่พูดถึงในช่วงหลายวันที่ผ่านมานั้น ไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง

นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS สรุปสาระสำคัญของการดำเนินกิจการ บมจ.ไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565 ระบุว่า บริษัทนั้น หยุดดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์แล้ว ตั้งแต่ 24.00 น. ของวันที่ 7 มีนาคม 2550 เนื่องจากการยกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะที่สถานะความเป็นนิติบุคคลของ บมจ.ไอทีวี ที่ยังคงอยู่นั้น เพราะยังมีเรื่องฟ้องร้องกับ สปน. เรียกค่าเสียหาย 2,980 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้วิเคราะห์ถึงกรณีของนายพิธาว่า นายพิธา อาจจะรอดจากข้อกล่าวหานี้ โดยอิงกับกรณีของนายชาญชัย ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีคำวินิจฉัยว่า การถือหุ้นของนายชาญชัยนั้น เป็นสัดส่วนที่น้อย ไม่มีอำนาจต่อการสั่งการในบริษัทฯ

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) วิเคราะห์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับนายพิธา ซึ่งระบุว่าหุ้นดังกล่าวเป็นมรดกที่ได้จากพ่อนั้น ถือเป็นเจ้าของหุ้นในส่วนของพิธาจึงสมบูรณ์แล้ว รวมถึง บมจ.ไอทีวี แจ้งว่ายังประกอบกิจการอยู่และมีรายงานแสดงผลของกิจการไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้น ITV ที่เป็นสื่อมวลชน เช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร

เปิด 46 บริษัทจดทะเบียน ห้ามนักการเมืองถือหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยรายชื่อ 46 บริษัทจดทะเบียน ที่รายงานว่ามีสัมปทานจากรัฐหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับ รัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ณ วันที่ 12 พ.ค. 2566 ทั้งกลุ่มธุรกิจสื่อ ธุรกิจด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และบริษัทอื่น ๆ ดังนี้

ธุรกิจสื่อ-บันเทิง 10 บริษัท

ลำดับที่ ชื่อย่อหุ้น บริษัท
1 BEC บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)
2 GRAMMY บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
3 JKN บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
4 KGEN บริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน)
5 MCOT บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
6 MONO บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน)
7 NATION บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
8 ONEE บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
9 RS บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
10 WORK บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)

 

ธุรกิจสื่อสาร 5 บริษัท

ลำดับที่ ชื่อย่อหุ้น บริษัท
1 ADVANC บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
2 INTUCH บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
3 JAS บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
4 THCOM บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
5 TRUE บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มาจากการควบรวมของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)

ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค 9 บริษัท

ลำดับที่ ชื่อย่อหุ้น บริษัท
1 BAFS บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2 EASTW บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
3 PTT บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
4 PTTEP บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
5 PTTGC บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
6 SOLAR บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน)
7 SR บริษัท สยามราช จำกัด (มหาชน)
8 TGE บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
9 TTW บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน)

 

ธุรกิจด้านการขนส่ง 7 บริษัท

ลำดับที่ ชื่อย่อหุ้น บริษัท
1 BA บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2 BEM บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3 BTS บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
4 BTSGIF กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท
5 DMT บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
6 KWC บริษัท กรุงเทพโสภณ จำกัด (มหาชน)
7 SJWD บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)

 

ธุรกิจกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 4 บริษัท

ลำดับที่ ชื่อย่อหุ้น บริษัท
1 SCC บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
2 SCCC บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
3 TGCI บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน)
4 TPIPL บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)

 

ธุรกิจอื่น ๆ (กลุ่มน้ำมันปาล์ม-กำจัดขยะ-อุตสาหกรรม)

ลำดับที่ ชื่อย่อหุ้น บริษัท
1 AKP บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน)
2 BTW บริษัท บีที เวลธ์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน)
3 BWG บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)
4 CMAN บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน)
5 HYDRO บริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน)
6 LST บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
7 NFC บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน)
8 NYT บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน)
9 TFI บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน)
10 UPOIC บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)
11 UVAN บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)

 

นักวิชาการตั้งคำถาม ใช้กฎหมายเพื่ออะไรกันแน่ ?

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน-นักแปลชื่อดัง ระบุว่า “มาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นมาตราเจ้าปัญหา

เจตนารมณ์ของมาตรานี้้ (ซึ่งต้องบอกว่า ล้าสมัยและไร้ความหมายไปแล้วในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้) ก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้ “สื่อในมือตัวเอง” สร้างอิทธิพล โปรโมทตัวเองหรือชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็น “มาตราเจ้าปัญหา” ใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่ายดาย ก็คือ มาตรานี้ดันใช้ทั้งคำว่า “เจ้าของ” และคำว่า “ผู้ถือหุ้น” ทั้งที่ในความเป็นจริง ลำพังการเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ถือหุ้น 0.001% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท เป็นต้น) ไม่ได้ทำให้ใครมีสิทธิสั่งการบริษัทสื่อนั้นๆ ให้ทำตามความประสงค์ได้”

ขณะที่ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความไว้บนเว็บไซต์ The101.World ระบุว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่เพียงพอในการควบคุม เพราะนักการเมือง พรรคการเมือง สามารถยักย้ายการจัดการกิจการสื่อสารมวลชนได้ผ่านตัวแทน ญาติ หรือแม้แต่ผ่านอุดมการณ์ร่วมกัน โดยไม่ต้องใช้เจ้าตัวเข้าไปถือครองกิจการเอง

แต่เมื่อใช้ ก็ยึดตามลายลักษณ์อักษร พยายามโยงลากไปให้ผิดจนได้ ซึ่งเป็นกรณีที่สักแต่ต้องใช้กฎหมายให้จนได้ โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ เป็นอาการนิตินิยมล้นเกิน (hyper-legalism) ที่ยึดรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ละเลยเนื้อหาไม่ใส่เลยด้วยซ้ำ

ดร.เข็มทอง ยังให้ความเห็นว่า เมื่อกฎหมายใช้ไม่ได้จริง ใช้ได้แต่เป็นเครื่องมือห้ำหั่นทางการเมือง กฎหมายห้ามถือหุ้นสื่อนี้ควรเลิกเสียที และหน่วยงานของรัฐควรมุ่งเน้นไปที่

  1. การเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างพรรคหรือนักการเมืองกับสื่อแต่ละเจ้าให้รู้ทั่วกันโดยเปิดเผย
  2. เปิดพื้นที่ให้สื่อแต่ละเจ้านำเสนอข่าวอย่างเสรีโดยรัฐเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาที่สื่อการเมืองแต่ละค่ายนำเสนอว่าถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นการเผยแพร่ข่าวเท็จ ข่าวปลอม (fake news, misinformation, disinformation) อย่างเป็นมืออาชีพและตรงไปตรงมา

ซึ่งเป็นภารกิจที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการไล่จับการถือหุ้นสื่อ แต่เป็นภารกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง สำหรับประเทศที่ล้มเหลวด้านเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนตลอดมา

สิ่งที่ต้องติดตามไม่น้อยกว่าคำตัดสินที่จะเกิดขึ้นกับกรณีของ นายพิธา คือการจัดการและวางบรรทัดฐานของกฎหมายหรือขัอบัญญัติดังกล่าวว่า คำว่า “สื่อ” ในวันที่ไม่ได้มีแค่สื่อกระแสหลักแล้ว จะแก้อย่างไรให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับสื่อในปัจจุบัน รวมถึง แก้กฎหมายอย่างไร ให้ไม่ถูกใช้หรือถูกมองว่าใช้เพื่อการกลั่นแกล้งทางการเมืองอีก

ข้อมูลจาก iLaw, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, FINANSIA DW24