ก้าวไกล & พิธา หนทางอีกยาวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำอย่างถล่มทลาย

ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน สามารถนำ ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ได้มากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 152 คน และอันดับ 2 จำนวน 141 คน ตามลำดับ

ชนะทิ้งห่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และอีกหลาย ๆ พรรค ชนิดไม่เห็นฝุ่น

นี่คือปรากฏการณ์ทำให้คนไทยมีความหวังมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุดเป็นการสิ้นยุคของทหารที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร

อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า นาทีนี้แล้วกระแสความนิยมของ “ก้าวไกล&พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มาแรงเหลือใจ

เมื่อวาน (22 พ.ค.) พรรคก้าวไกลเพิ่งลงนาม ทำเอ็มโอยูกับพรรคการเมืองอีก 7 พรรค (เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เพื่อไทรวมพลัง เป็นธรรม และสังคมใหม่)

มุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่า การจับขั้วทางการเมืองจัดตั้งรัฐบาล เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ ด้วยคะแนนเสียง 313 เสียง

เท่าที่ผมได้คุยกับนักธุรกิจผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านเหตุบ้านการณ์เมืองมาหลายครั้งหลายครา หลายคนมองว่า การจับขั้วตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นยังเป็นอะไรที่ไม่ลงตัว และที่สำคัญ การลงนามใน MOU ก็ไม่มีผลทางกฎหมายอะไร

หลายคนยังหวั่นลึก ๆ ในใจว่า “ก้าวไกล&พิธา” อาจจะก้าวไกลไปไม่ถึงฝั่งฝันก็เป็นได้ เพราะคะแนนเสียงที่มีอยู่ในมือเวลานี้ บวกกับเสียงจาก ส.ว.สนับสนุนในระดับหนึ่งก็ยังห่างจาก 376 เสียง ที่กฎหมายระบุว่า ต้องมีเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา หรือ 750 คะแนน

นอกจากนี้ การจับขั้วตั้งรัฐบาล ยังทำให้เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย และเลยไปไกลถึงการแบ่งกระทรวงว่าพรรคนั้นได้โควตารัฐมนตรีกี่คน ใครจะได้นั่งเก้าอี้อะไรบ้าง

ในแง่ความเป็นจริงอาจจะเร็วไปที่จะก้าวไปไกลถึงจุดนั้น

หากย้อนกลับไปพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเห็นว่า ไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง อาจจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน

เริ่มจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็จะพบว่า ตอนนี้ กกต.ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ เกี่ยวกับการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

และภายใน 15 วันหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องเปิดประชุมสภา ถือเป็นการเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เพื่อเลือกประธานสภา และรองประธาน โดยขั้นตอนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม

จากนั้นถึงจะเป็นขั้นตอนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทั้ง 2 สภา ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่คะแนนเสียงจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา หรือ 376 คะแนน จาก 750 คะแนน

หาก พิธา ฝ่าด่าน ส.ว.ไปได้ และมีคะแนนได้รับการรับรองมากพอ ประธานสภาจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

เร็วที่สุด คงประมาณช่วงต้นเดือนสิงหาฯ ประเทศไทยอาจจะได้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่

นี่คือ กรณีที่ กกต.ประกาศผลรับรอง และไม่มีการสอยเกิดขึ้น

อย่าลืมว่า พิธา ยังมีเรื่องที่ถูกร้องอยู่ 2 เรื่อง คือ การแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการ ป.ป.ช. และอีกเรื่องหนึ่งคือ การถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ที่เป็นเรื่องต้องห้าม

หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะ dead lock สุญญากาศทางการเมือง ขั้วการจัดตั้งรัฐบาลอาจเปลี่ยนไป

บรรดาแม่ยก แฟนคลับ “ก้าวไกล&พิธา” อาจจะต้องทำใจ เตรียมใจไว้บ้าง

ไม่มีใครอยากเห็นการเมืองบนท้องถนนอีก

หากเป็นเช่นนั้นคงมีแต่เสียกับเสีย