ชัชชาติ ชง 21 ข้อเสนอ ให้ “พิธา” จัดการ ถ้าได้เป็นนายกฯ

พิธา นำทีมก้าวไกล เข้าพบ ชัชชาติ หารือปัญหา กทม. พร้อมตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านจัดการ 

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึง ว่าที่ ส.ส.กรุงเทพฯ และ สมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) พรรคก้าวไกล เข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพฯ ที่ห้องรัตนโกสินทร์ เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ นายชัชชาติชง 21 ข้อเสนอ Empower Bangkok เช่น เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ส่วนนายพิธาได้ชื่นชมการทำงานของ กทม. ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน

หลายข้อเสนอของผู้บริหารกรุงเทพฯ ตรงกับ 300 นโยบายของพรรคก้าวไกลและตรงกับร่างกฎหมายจำนวน 45 ฉบับที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นทันทีเมื่อเปิดสภา

จากนั้น นายชัชชาติแถลงว่า การหารือวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องใดไปข้างหน้า การร่วมมือกันตั้งแต่ต้นเพื่อสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ จึงขอขอบคุณนายพิธาที่ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ วันนี้เป็นก้าวแรกของการเดินทางไกล ทั้ง กทม. และพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายเดียวกันคือผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ด้านนายพิธากล่าวว่า ปัญหาของกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องเก่าและความท้าทายใหม่ จะแก้ไขได้อย่างฉับไวมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ระดับรัฐบาล รัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. ที่ผ่านมาการทำงานมี 3 อุปสรรคสำคัญ คือข้อจำกัดด้านกฎหมาย ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และการประสานงานระหว่างรัฐสภากับสภา กทม. หากแก้ไขทั้งหมดนี้ได้ จะทำให้ กทม. ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน

สำหรับการหารือมี 3 ประเด็นหลัก ประเด็นที่หนึ่ง คือข้อเสนอ 21 ข้อของ กทม. ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานกับรัฐสภาในการแก้ไขกฎหมาย พรรคก้าวไกลพร้อมให้ความร่วมมือ เช่น การแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากรถยนต์ ถ้ารถน้อยกว่า 4 ล้อ กทม. มีอำนาจในการตรวจ แต่ถ้ามากกว่า 4 ล้อ จะเป็นอำนาจของกระทรวงอื่น

ประเด็นที่สอง คือร่างกฎหมาย 45 ฉบับที่พรรคก้าวไกลจะเสนอต่อสภา ที่เกี่ยวข้องกับ กทม. คือการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าเขต และประเด็นที่สาม คือการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างพรรคก้าวไกลและ กทม. (Bangkok Transition Team)

ชัชชาติ ชง 21 ข้อเสนอ ให้ “พิธา”

โดยพรรคก้าวไกลมีพิจารณ์เป็นประธาน ส่วน กทม. มีต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน หลังจากนี้คณะทำงานจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้ากันต่อไป เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน กทม. ทุกคน

ทั้งนี้ กทม.มีข้อเสนอ 21 ข้อดังนี้ 1.การใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชน 2.ร่วมผลักดันโครงการตามวาระแห่งชาติเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 3.ทบทวน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4.ร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาจราจร 5.ศึกษาแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำทะเลขึ้นสูง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน 6.หาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนกับความเป็นจริง

7.นำสายสื่อสารลงดิน โดย กสทช. กทม. กฟน. และผู้ประกอบการ 8.หาข้อสรุปร่วมกันสำหรับโครงการรถไฟฟ้า 9.สนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ค่าโดยสารร่วม รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ให้เป็นระบบเดียว 10.ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง 11.พัฒนา Open Bangkok โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐ 12.ส่งเสริมการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเมือง

13.ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ 14.แก้ พ.ร.บ.กทม. ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น 15.เร่งรัดโครงการค้างอยู่ที่ต้องอาศัยเงินจากรัฐบาล 16.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว 17.ส่งเสริมกลไกระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโรงพยาบาล Bangkok Health Zones 18.ยกระดับระบบการป้องกัน บรรเทาสาธารณภัยและการบริหารเรื่องฉุกเฉินตั้งแต่การเผชิญเหตุไปจนถึงการชดเชยค่าเสียหาย

19.ทบทวนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการจัดการบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุขและสาธารณภัย 20.ทบทวนแนวทางการจัดทำความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของ เมืองให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น 21.ยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

นายพิธากล่าวว่า ได้คุยกับนายชัชชาติเรียบร้อยแล้วในเรื่องแก้ปัญหาเร่งด่วน อย่างที่ 1 คือฤดูฝนจะเข้ามา คงเป็นเรื่องของการบริหารน้ำท่วม เขื่อน การจัดการน้ำทะเลหนุน และ 2 คือเรื่องคมนาคม ปัญหารถติด ที่เราจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งนายศุภเชษฐ์มีไอเดียในการใช้เทคโนโลยี ที่ได้ดำเนินการนำร่องไปแล้วที่เขตทวีวัฒนา โดย ส.ก.ของพรรคก้าวไกล เพื่อที่จะให้มีเส้นเลือดฝอยส่งไปสู่เส้นเลือดใหญ่ และการเดินทางไร้รอยต่อก็จะลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลมากขึ้น


3 คือปัญหา PM 2.5 แม้จะยังไม่มาเร็ว ๆ นี้ แต่การทำงานเป็นเชิงมหภาค หลายเรื่องอาจจะเกิดใน กทม. เช่นการก่อสร้างคมนาคม บางเรื่องอาจจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน บางเรื่องเป็นระดับประเทศ บางเรื่องเป็นระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นอย่าง กทม. 3 ชั้นนี้จึงต้องมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด การทำงานของกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และการประสานงานภายในพื้นที่ระหว่างกระทรวงคมนาคมและ กทม. นี่คือแนวทางในการทำงาน