
คอลัมน์ : Politics policy people forum
นโยบายเรือธง-แจกเงินดิจิทัล1 หมื่นบาท ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กำลังเผชิญคลื่นลมรุนแรง
โดยเฉพาะการฝ่าด่านคำว่า “เศรษฐกิจวิกฤต” หรือไม่ เพราะกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดเงื่อนไขการออกกฎหมายกู้เงินว่า จะต้อง จำเป็น-เร่งด่วน และ วิกฤต
ทว่า คำว่า “วิกฤต” ในมุมฝ่ายรัฐบาลกำลังถูกตั้งคำถาม และอาจนำไปสู่ทางตัน แหล่งข่าวรัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า โอกาสที่กฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาทำโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตจะไม่ถึงสภา แบบ “แท้งตั้งแต่ยังไม่ปฏิสนธิ”
มีความเป็นไปได้ เพราะคำนิยามว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” ขึ้นอยู่กับใครจะมองขึ้นอยู่กับ Definition ของแต่ละฝ่ายว่าจะตีความคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร เพราะขณะนี้มีมองต่างกันหลายมุม
อย่างไรก็ตาม ในคราวการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่สภาผู้แทนราษฎร มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ 2567 ช่วงหนึ่งมีการ “ซักถาม” ถึงคำนิยาม “วิกฤตเศรษฐกิจ”
ผู้แทนกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะต้อง “กู้เงิน” มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต ให้นิยามคําว่าวิกฤตเศรษฐกิจว่า
“จะต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอะไร เพราะวิกฤตเศรษฐกิจมีหลายกรณี เช่น วิกฤตด้านทุนสํารอง เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น แต่ถ้าในมุมมองของกระทรวงการคลัง ปัจจัยที่จะแสดงให้เห็นถึงวิกฤตทางการคลัง คือ จํานวนเงินคงคลังที่เหลืออยู่ ความสามารถในการหารายได้เพียงพอกับรายจ่ายที่รัฐบาลต้องใช้หรือไม่”
ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงนิยาม “วิกฤตเศรษฐกิจ” ว่า การพิจารณาถึงความเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาบนพื้นฐาน จากการประมวลข้อมูลของธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ที่ระบุว่าเศรษฐกิจที่จะอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลก สามารถสรุปได้ 5 ประเภท ได้แก่
1.วิกฤตภาคการเงินและสถาบันการเงิน ที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นจํานวนสูงมาก กระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อธนาคารพาณิชย์ การปิดตัวลงของธนาคาร
2.วิกฤตดุลการชําระเงิน มีเงินทุนไหลออกรุนแรง ค่าเงินมีความผันผวนรุนแรง สินทรัพย์ในประเทศถูกถอนออกจากการลงทุน
3.วิกฤตการคลัง
4.วิกฤตเงินเฟ้อ ซึ่งมีภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นรวดเร็วเป็นเวลานาน และทําให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งถ้าดูตัวเลขของประเทศไทยก็ยังอยู่ในกรอบของคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน
และ 5.วิกฤตที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งพอจะเป็นตัวอย่างของวิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การตราพระราชกําหนดเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด และปัญหาอุทกภัย ซึ่งเวลานั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยติดลบอย่างรุนแรงและเป็นเวลานาน
ส่วนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แก่รัฐบาล มองนิยาม “วิกฤตเศรษฐกิจ” ว่า
“จะต้องพิจารณาหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการถดถอยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น รวมทั้งต้องพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด และต้องหารือกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจทุกหน่วยงาน เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งของประเทศและของโลก รวมทั้งจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”
ถึงนาทีนี้รัฐบาลไม่มีทาง “ล้ม” โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท