อัพเดตแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ติดขัดอะไร เช็กทุกเงื่อนไข ใช้อะไรได้-ไม่ได้

เงินดิจิทัล

อัพเดตโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตัดขัดอะไร กู้เงิน 5 แสนล้าน ทำไมช้า แจกเดือนพฤษภาคม 67 ไม่ทัน หลังผ่านด่าน 99 นักเศรษฐศาสตร์มาแล้ว ต้องเจอด่านอะไรอีกบ้าง

โครงการแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท ให้ประชาชน 50 ล้านคน เจอจุดสะดุดที่สำคัญ 4 ครั้งใหญ่ ๆ หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

ครั้งแรก 7 ตุลาคม 2566 เมื่อนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ รวมอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 99 คน ออกแถลงการณ์ คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย

ครั้งที่สอง 30 ตุลาคม 2566 เมื่อที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ออกมาระบุ เรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ คือ 1.กู้เงิน แต่ก็มีจุดอ่อนก็คือ ตอนนี้ยังไม่รู้วงเงินที่แน่นอน 2.ใช้เงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง แต่การเติมเงินดิจิทัลจะต้องมีเงินบาทแบ็กอัพ ขณะที่กฎหมายธนาคารออมสินไม่ได้เขียนให้อำนาจไว้ชัดเจน ทำให้การขับเคลื่อนโครงการต้องตั้งหลักใหม่อีกรอบ

ครั้งที่สาม ปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อมีข้อถกเถียงว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อมาแจกในโครงการนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ ทำให้ฝ่ายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ต้องผ่าทางตัน ด้วยการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำว่า ทำได้ หรือไม่ได้ ได้คำตอบแล้วช่วงต้นเดือนมกราคม 2567

Advertisment

ครั้งที่สี่ 16 มกราคม 2567 มีคำแนะนำแทรกซ้อนมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ให้รัฐบาลพิจารณานโยบายแจกเงินดิจิทัลแล้ว ว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย เสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และเสี่ยงด้านกฎหมาย

โดยความเห็นจากทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้การประชุมบอร์ดิจิทัลวอลเลต ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี จัดประชุมในวันที่ 16 มกราคม 2567 ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และในช่วงบ่ายได้มีกำหนดการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะมีการประชุมบอร์ดในวันที่ 23 มกราคม 2567

เหตุผลหนึ่งที่ต้องเลื่อน มาจากคำสัมภาษณ์ของนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุว่า ใครเสนออะไรมาก็ควรจะฟังประกอบการพิจารณา จะได้รอบคอบ และเห็นว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ต้องมีหน่วยงาน อย่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหลัก

การเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงมีความคืบหน้าล่าสุด ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมบอร์ด และแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

Advertisment

อัพเดต ใครได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้อย่างไร

  • คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท รวม 50 ล้านคน
  • โอนเงินดิจิทัลครั้งแรก เริ่ม พ.ค.ปี 2567/หมดเขต เม.ย.ปี 2570
  • เงินดิจิทัล มีค่าเท่ากับเงินบาท ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี และไม่สามารถนำไปเทรดในกระดานต่าง ๆ ได้
  • เงินดิจิทัล สามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้อะไรไม่ได้บ้าง

  • ไม่สามารถนำเงินดิจิทัลใช้จ่ายกับการบริการ
  • ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์
  • ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม กระท่อม
  • ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี
  • เงินดิจิทัลใช้หนี้ไม่ได้
  • ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอม
  • ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
  • ไม่สามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ
  • แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่าง ๆ

เงื่อนไขร้านค้า วิธีการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล ไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ
  • ใช้ระบบแอปเป๋าตังของกรุงไทยเป็นหลัก
  • จากใช้ได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามทะเบียนบ้าน เปลี่ยนเป็น ใช้ได้ภายในอำเภอ
  • ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก โดยออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน
  • ผู้ที่จะขึ้นเงินสดได้ต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง