
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่แลนด์บริดจ์ ตรวจความพร้อมท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐาน เจรจาฝ่ายต้าน-หนุน พบปะผู้แทนชาวประมงถกแก้ไขปัญหา IUU
วันที่ 22 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และคณะรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) 1/2567 จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2567
ในวันนี้ (22 ม.ค.) เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการเดินทางไปยังพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง เป็นการลงพื้นที่เช็กจุดที่จะสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ครั้งแรก หลังจากนายกรัฐมนตรีเดินสายโรดโชว์ในหลายประเทศ
โดยมีรายงานว่านายกรัฐมนตรีจะได้พบกับกลุ่มที่คัดค้านและกลุ่มที่สนับสนุนโครงการด้วย
สำหรับการลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ วาระที่นายกรัฐมนตรีจะติดตาม 4 ประเด็น ได้แก่
1.การผลักดันให้แลนด์บริดจ์เป็นประตูการค้า (Gateway) โดยเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของไทย และเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศในกลุ่ม GMS รวมถึงจีนตอนใต้
2.การถ่ายลำเรือสินค้า (Transshipment) โดยพัฒนาให้แลนด์บริดจ์เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในมหาสมุทรอินเดีย (BIMSTEC) และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน
3.การพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) โดยมีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริมแลนด์บริดจ์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้
4.การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานทางกฎหมาย และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เป็นต้น
สำหรับในพื้นที่ จ.ระนอง มีประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้าน หากก่อสร้างท่าเรือแล้วจะไม่มีที่ทำมาหากิน
นอกจากนี้ ประชาชนที่อยู่ในแนวเส้นทางที่จะขยายถนนเป็นมอเตอร์เวย์ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาและจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ขณะที่บางคนเห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะบ้านเมืองจะได้เจริญ ลูกหลานจะได้มีงานทำ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายพรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนองระบุว่า ทุกโครงการย่อมมีผลกระทบ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ว่าโครงการเกิดขึ้นที่ไหน โครงการอะไรก็แล้วแต่ย่อมมีคนเห็นด้วยและคนคัดค้าน ซึ่งการคัดค้านไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ แต่เราต้องคัดค้านด้วยเหตุด้วยผลถึงผลได้ผลเสีย ทุกคนอยากให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า
“เชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีประโยชน์ต่อจังหวัดระนอง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน ฉะนั้น เมื่อโครงการแล้วเสร็จต้องตั้งกองทุนเพื่อชดเชยรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ไม่น้อยกว่าเดิม ต้องเทรนคนเหล่านี้เพื่อรองรับงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกว่า 2 แสนตำแหน่ง ให้ลูกหลานเขาได้ทำงาน และเพิ่มพื้นที่ในการจับปลาให้เขาด้วย”
ฉะนั้น โดยรวมโครงการแลนด์บริดจ์มีประโยชน์ต่อจังหวัดระนอง แต่สิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงคือ รัฐบาลจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร การคัดค้านในอีกมุมก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งต้องตอบด้วยเหตุด้วยผลว่าควรจะแก้ไขให้เขาได้อย่างไร
สำหรับความเป็นมาของโครงการแลนด์บริดจ์ สืบเนื่องมาจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ได้เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการลงทุน (Business Development Model) โครงการแลนด์บริดจ์ โดยผลการศึกษาที่ออกมาระบุถึงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งที่ตั้งโครงการ 4 ข้อ ดังนี้
1.ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ด้วยความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยสามารถเป็นประตูในการขนส่ง และแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก
2.ลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งของเส้นทางเดินเรือโลก
3.ลดปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกาของสายการเดินเรือโลก ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาจะหนักหนามากขึ้น
4.มีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุน ให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้
โครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
- เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) และทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge)
- การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า โดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
ส่วนรูปแบบการพัฒนาโครงการ เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า
สำหรับกำหนดการอื่น ๆ ของนายกรัฐมนตรีตลอดทั้งวันนี้ นอกจากเดินทางไปดูที่ตั้งโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่ง จ.ระนอง นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสักการะศาลหลักเมืองระนองและอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ณ ศาลหลักเมืองระนอง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
จากนั้นเดินทางไปติดตามประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง และพบปะผู้แทนชาวประมงในการแก้ไขปัญหา IUU ณ ท่าเรือระนอง-เกาะสอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
โดยในช่วงเย็นนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ณ บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
- คอลัมน์ สามัญสำนึก : ทุ่มสุดตัว Road Show แลนด์บริดจ์
- “ทนายกฤษณะ” แนะรัฐบาลให้ความสำคัญ 4 เรื่องกรณีแลนด์บริดจ์”
- “หาญณรงค์” ค้านสุดตัวแลนด์บริดจ์-ฉะรัฐบาลตอบคำถามไม่ชัดเจนสักเรื่อง
- ครม.สัญจร ปักธงแลนด์บริดจ์ “เศรษฐา” ดีลนักลงทุนจีน-ซาอุฯ-ดูไบ
- โครงการแลนด์บริดจ์คือจุดขายไม่ต่างจาก EEC ส.อ.ท. เผย “ดูไบ-ซาอุฯ” สนทำโรงกลั่น
- เศรษฐา ล็อกเป้า “DP World” ดันโครงการแลนด์บริดจ์ ฮับโลจิสติกส์-น้ำมัน เชื่อม 2 ฝั่งทะเล
- สุริยะ ไขปมร้อน โปรเจ็กต์แลนด์บริดจ์