เศรษฐา ล็อกเป้า “DP World” ดันโครงการแลนด์บริดจ์ ฮับโลจิสติกส์-น้ำมัน เชื่อม 2 ฝั่งทะเล

เศรษฐา แลนด์บริดจ์ Dubai Port World

Dubai Port World ที่มี Sultan Ahmed bin Sulayem เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าชั้นนำของโลก จะพบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ที่ดาวอส โดยฝ่ายไทยตั้งเป้าที่จะชักชวนให้กลุ่ม DP World เข้ามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ โดยการพบกันครั้งนี้มีความสำคัญมาก นับจากอดีตที่กลุ่ม DP World ได้เข้ามาศึกษาการขนส่งเชื่อม 2 ฝั่งทะเลในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2551

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีหมายกำหนดการที่จะพบกับประธานกลุ่มบริษัท Dubai Port World หรือ DP World บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การบริหารจัดการท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี

โดยการพบกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม DP World ครั้งนี้ มีความหมายต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่า 1 ล้านล้านบาทของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

จากหมายกำหนดการล่าสุด ฝ่าย Dubai Port World จะนำทีมโดย Sultan Ahmed bin Sulayem, Group Chairman and CEO รวมไปถึง Yuvraj Narayan, Group Deputy CEO & CFO และบุคคลอื่น ๆ โดยการพบกันครั้งนี้จัดเป็นกิจกรรม Road Show : Thailand Landbridge Connecting ASEAN with the World ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์จะใช้รูปแบบการพัฒนาด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการนี้ทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่งทะเล (One Port Two Sides) ประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันที่ แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ร่องน้ำลึก 21 เมตร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs เชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่ แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ร่องน้ำลึก 17 เมตร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs มีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ 2 ฝั่งระยะทาง 90 กม.

ประกอบด้วยมอเตอร์เวย์ ขนาด 6 ช่องจราจรระยะทาง 21 กม. ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร รองรับตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack) ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร เพื่อเชื่อมต่อระบบโครงข่ายทางรางของประเทศ และยังมีพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติอยู่ในแผนด้วย

หลังการ Road Show ได้ระยะหนึ่ง มีนักลงทุนที่เป็น “เป้าหมาย” หลักในการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ PPP โครงการนี้หลายกลุ่ม โดยกลุ่ม DP World ถือเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความพร้อมจากความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า โดยให้บริการขนส่งคู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ มีเรือนำเข้าประมาณ 70,000 ลำต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกและยังมีการให้บริการในท่าเรือทั่วโลกมากกว่า 82 แห่งใน 40 ประเทศ

มีการคาดหมายกันว่า หาก DP World เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทย จะส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็น ฮับโลจิสติกส์ และฮับน้ำมันได้

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการร่วมมือกับ DP World ประกอบไปด้วย 1) การศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2551 เพื่อพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง 2) การลงนามใน MOU ระหว่าง สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กับ DP World FZE และ Ports Customs and Free Zone Corporation เพื่อส่งเสริมสินค้าไทยโดยใช้ ดูไบ เป็นฐานในการกระจายสินค้าไปยังตะวันออกกลาง-แอฟริกา-ละตินอเมริกา

3) การลงนามใน MOU ระหว่าง สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยกับ DP World ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดย Sultan Ahmed bin Sulayem เป็นผูัลงนามที่ ดูไบ เพื่อประโยชน์ในการขนส่งสินค้ารวมทั้งสินค้าประเภทผลไม้และบริการอื่น ๆ จากประเทศไทยไปยังท่าเรือต่าง ๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าโครงการแลนด์บริดจ์ที่ตั้ง อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ไว้สูงถึงร้อยละ 17.43 ตามผลการศึกษาของฝ่ายไทยนั้น ความสำเร็จของโครงการจะอยู่ที่ระยะเวลาการเดินทาง-ต้นทุนการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกตู้ขึ้นลงทั้ง 2 ฝั่ง-จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ และสายการเดินเรือ ที่จะเข้ามาใช้บริการท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่งที่คาดการณ์กันว่าสามารถร่นระยะเวลาการเดินทางจากปกติที่จะต้องผ่านช่องแคบมะละกาลงได้ 2-4 วันนั้น

ดังนั้น ผู้ร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ “จำเป็น” ที่จะต้องมีศักยภาพในการหาตู้คอนเทนเนอร์และสายการเดินเรือที่จะเข้ามาใช้บริการ นั้นหมายถึง หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง การเดินเรือและการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางนี้จะต้องไปแย่งส่วนแบ่งจากท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าเรือหลักและโลจิสติกส์ในปัจจุบัน