วาระอันตราย ก่อนจะถึง 19 กันยา ม็อบนักศึกษายกระดับปิดสวิตช์รัฐบาล “ประยุทธ์”

วาระอันตราย ก่อนจะถึง 19 กันยา ม็อบนักศึกษายกระดับปิดสวิตช์รัฐบาล “ประยุทธ์”

19 กันยายน การชุมนุมของกลุ่ม “ขบวนการนักเรียน นักศึกษา” จากหลายกลุ่มก้อน ทั้ง กลุ่มประชาชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มนักเรียนเลว และอีกหลายสารพัดกลุ่ม

ถูกพยากรณ์โดยฝ่ายความมั่นคง นักการเมือง นักกิจกรรมทางการเมือง ทุกขั้ว ทุกข้างว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปี ตั้งแต่มีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มากกว่าการชุมนุมครั้งล่าสุดที่ถนนราชดำเนิน เมื่อค่ำคืนวันที่ 16 สิงหาคม

เป็นเชื้อไฟที่ต่อเนื่องมาจากแฟลชม็อบรอบแรกที่มีชนวนเหตุสำคัญจากการ “ยุบพรรคอนาคตใหม่” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – ปิยบุตร แสงกนกกุล และพวก

แต่แท้จริงแล้วเริ่มเห็นแววการปะทุตั้งแต่ “พรรคอนาคตใหม่” ยังไม่ถูกยุบ เพราะจุดเริ่มต้น – ต้นตอมาจากการนัดรวมพลแฟลชม็อบ ของพรรคอนาคตใหม่ บริเวณหอศิลป์ กทม. วันที่ 14 ธันวาคม 2562 ที่กำลังเผชิญมรสุมยุบพรรค

Mladen ANTONOV / AFP

“ธนาธร” กล่าวในวันนั้นว่า “ถือเป็นการซ้อมใหญ่ เราต้องการส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ เป็นการแสดงตนแสดงพลังว่า เราจะไม่ทน ไม่ถอยให้กับระบอบเผด็จการอีกแล้ว ที่ผ่านมาเขาทำให้เรากลัว ใครลุกขึ้นสู้ก็ถูกจับยัดคดีใส่ ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ นี่คือการเมืองของเขา แต่เขาไม่มีทางชนะความหวังของพี่น้องประชาชนได้ อย่างตอนนี้ ถ้าไม่ให้ลงถนน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เพราะประชาชนที่มาร่วมแสดงตนมีเยอะมาก และเดือนหน้าเราจะได้ลงถนนกันแน่ ๆ ให้ซ้อมวิ่งกันไว้ได้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าเพิ่งกลัว ของจริงอยู่เดือนหน้า (คาดหมายว่าการยุบพรรคจะเกิดขึ้นในเดือน มกราคม 2563)”

ด้าน “ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ – ความขัดแย้งในการเมืองไทย วิเคราะห์สถานการณ์ ก่อนการตัดสิน “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ หากถูกยุบพรรคจะเกิดอะไรขึ้นว่า
“ความอึดอัดของคนจะมีมาก เพราะในแง่ timing ไม่ค่อยดี เพราะเป็นช่วงรัฐบาลกำลังขาลง ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสนิยมรัฐบาลกำลังตก ปัญหารุมเร้า”

“กรณีการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ คนจะไม่อ่านคำตัดสินในแง่ข้อกฎหมาย แต่คนจะอ่านในฐานะความหมายทางการเมืองมากกว่า”

และเป็น “ผลลบ” กับ “รัฐบาลประยุทธ์” มากกว่าผลบวก “เพราะถ้าหากยุบ อนาคตใหม่จะเป็นการปลดปล่อยพลังทางการเมืองออกไปสู่อะไรก็ไม่รู้ เพราะการที่เก็บเขาไว้ในสภา ซึ่งการเมืองในสภาเป็นการประนีประนอมรอมชอม ต่อให้อนาคตใหม่. radical ขนาดไหน เมื่อเข้าสู่สภาแล้วก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ประนีประนอมระดับหนึ่งเสมอ”

“แต่ถ้าผลัก อนาคตใหม่ออกไป ถูกยุบพรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาจะไปไหน โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่เล่นการเมืองในสภาไม่ได้อีกแล้ว ก็ผลักไปอยู่การเมืองนอกสภาโดยปริยาย ซึ่งการเมืองนอกสภาเป็นการเมืองที่คุมไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่เปิด”

“และการปราศรัยนอกสภาไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่มีประธานสภามาโต้ว่าห้ามพูดต่อ ไม่มีหมดเวลาการประชุม เป็นเรื่องของมวลชน”

แล้วก็เป็นอย่างที่ “ประจักษ์” วิเคราะห์ เพราะหลังจาก พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แฟลชม็อบก็จุดติดไปทุกมหาวิทยาลัย

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวเชื่อมโยงการยุบพรรคอนาคตใหม่กับแฟลชม็อบนักศึกษา หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า

“บอกแล้วว่าหากยุบอนาคตใหม่จะเป็นอย่างไร เพราะอย่างน้อยที่สุดพรรคอนาคตใหม่คือรูระบาย ความอัดอั้น ความไม่พอใจต่างๆ และยังเป็นความหวัง เมื่อดึงมันออก เขาก็ไม่มีทางระบายออก ดังนั้น จึงไม่รู้จะจบอย่างไร เพราะนี่คือสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมันเดินแล้ว”

แม้แฟลชม็อบนักศึกษาตามรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ จะถูก วิชาบังคับ “โควิด-19” ให้หยุดการชุมนุมโดยปริยาย ทว่าการชุมนุมของขบวนการนักศึกษา ก็ come back

เพียงแต่ การชุมนุมครั้งใหม่ไม่ใช่จำกัดขอบเขตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หากกลายมาเป็นชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เต็มเป็นรูปแบบ

ไล่ไทม์ไลน์การชุมนุม

ช่วงเดือน มิถุนายน 2563 เริ่มมีเหตุการณ์จับกุมแกนนำนักศึกษา สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นัดเคลื่อนไหว “อารยะขัดขืน” หน้า สน.ปทุมวัน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ภายหลังจัดกิจกรรม “ทวงความยุติธรรมให้กับผู้ถูกอุ้มหาย” นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ได้ “ฉีกหมายเรียก” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อหน้าสื่อมวลชน

จากการที่ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกบุคคลนิรนามจับตัวไปที่ประเทศกัมพูชา เมื่อ 5 มิถุนายน สนท.จึงนัดรวมตัวที่หน้าหอศิลป์ กทม.ก่อนถูกหมายเรียก

24 มิถุนายน 2563 อันเป็นวันครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในวันดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงวีรกรรมของคณะราษฎรหลายกิจกรรม

และในเย็นวันนั้น สนท. นำโดย ‘เพนกวิน’ กับกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth ได้ทำกิจกรรมรำลึก 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน และอ่านประกาศคณะราษฎร พร้อมย้ำถ้อยคำในประกาศคณะราษฎร ที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร”

สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกเป็นใบที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เสี่ยงต่อการติดโควิด – 19

 

แต่ในเวลาไล่เลี่ยกัน กลับเกิดกรณีพบทหารอียิปต์ ที่ตรวจพบว่าเป็น โควิด -19 เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของ จ.ระยอง รวมถึงกรณีเด็กหญิงวัย 9 ปี บุตรสาวอุปทูตซูดาน ติดโควิด-19 พักอยู่คอนโดใจกลาง กทม. จนกระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องแถลงขอโทษ พร้อมกับเดินทางลงพื้นที่ไปขอโทษประชาชนในจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม

16 กรกฎาคม เยาวชนระยอง 2 คนคือ นายภานุพงศ์ จาดนอก และนายณัฐชนน พยัฆพันธ์ สองแกนนำเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ชูป้าย “การ์ดอย่าตกพ่…งง” และ “อยู่ต่อก็ฉิบหาย ออกไปไอ้สั…” ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จ.ระยอง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำการล็อกคอ เข้าห้องขัง พร้อมแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา

เอฟเฟกต์ดังกล่าว ส่งสะเทือนไปทั่วสังคมโซเชียลมีเดีย แฟลชม็อบนักศึกษาก็นัดรวมตัวผ่านทวิตเตอร์ และลงถนนครั้งแรกในวันที่ 18 กรกฎาคม ในนามกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ชุมนุม และ ภานุพงศ์ หรือ “ไมค์ ระยอง” ก็ปรากฏตัวร่วมบนเวที

“เยาวชนปลดแอก” ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อเรียกร้องครั้งแรกบนเวทีในวันนั้น 1.ยุบสภา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ3.หยุดคุกคามประชาชน

หลังจากนั้นแฟลชม็อบของนิสิต นักศึกษา ขยายตัวไปทั่วทุกภาค ในหลายจังหวัด พ่วงแฮชแท็ก #..(ชื่อกลุ่ม-สถาบัน) จะไม่ทน ใจกลางข้อเรียกร้องคือ 1.ยุบสภา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ3.หยุดคุกคามประชาชน

ม็อบหนึ่งที่ถูกไฮไลท์จากสื่อไทย – เทศ คือ ม็อบแฮมทาโร่ เป็นนวัตกรรมใหม่ของม็อบเยาวชน ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคง งงเป็นไก่ตาแตก ด้วยการหยิบฉวยตัวการ์ตูน “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” มาเป็นแคมเปญเคลื่อนไหวต้านรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” จนสำนักข่าวเอาสีสันไปรายงานเป็นข่าว และเพจดังหลายเพจก็มาเฉลยว่าทำไมต้องเป็นเพลงการ์ตูน “แฮมทาโร่” อันเป็นการชุมนุมวันที่ 26 กรกฎาคม

จุดเปลี่ยนสำคัญ

แล้วก็ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ในการชุมนุมวันที่ 3 สิงหาคม โดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด จัดกิจกรรมชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ บุคคลที่ขึ้นพูดบนเวทีวันนั้นคือ “อานนท์ นำพา” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัย

ทั้งนี้ เนื้อหาบางตอนบนเวที กล่าวถึงสถาบัน ‘เบื้องสูง’ เป็นเหตุให้ “ทนายอานนท์” ถูกออกหมายจับในเวลาต่อมาด้วยข้อหาความผิดหลายคดี เช่น ข้อกล่าวหา ม.116 ยุยงปลุกปั่น, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ, และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

Lillian SUWANRUMPHA / AFP

จากนั้นทำให้ประเด็นสถาบันเบื้องสูง ถูกยกขึ้นเป็นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ บนเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งจัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำให้ม็อบนักศึกษาถูกกระแสตีกลับจากสังคมพอสมควร พร้อมกับการเกิดขึ้นของฝ่ายต่อต้าน อย่างกลุ่ม “อาชีวะช่วยชาติ” และกลุ่ม “ไทยภักดี” นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
(ในเหตุการณ์ชุมนุม 10 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งมีคำสั่งรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยว่าการชุมนุมดังกล่าวเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ผู้ร้องคือ นายณฐพร โตประยูร) แต่ก็ไม่ทำให้การชุมนุมในภาพใหญ่เสียขบวน – เสียขวัญ

เพราะในวันที่ 16 สิงหาคม เยาวชนปลดแอก ยกระดับเป็น “ประชาชนปลดแอก” นัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผลักวาระ 3 ข้อ 1.แก้รัฐธรรมนูญ 2.ยุบสภา 3.หยุดคุกคามประชาชน 2 จุดยืน ไม่เอารัฐประหาร – รัฐบาลแห่งชาติ กับอีก 1 ความฝันอีก ที่ต้องการให้มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

REUTERS/Athit Perawongmetha

“ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี” หรือ “ฟอร์ด” เลขาธิการคณะประชาขนปลดแอก กล่าวว่า ข้อเสนอของเราไม่ได้ล้มเจ้า และเราไม่ใช่พวกล้มเจ้า เราต้องการให้รัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม จากนั้น รัฐบาลต้องยุบสภา ภายใต้ “กติกาที่เป็นธรรม” เพื่อเป็นการเปิดให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อย่างแท้จริง

คลื่นขบวนการนักศึกษา ส่งผลให้รัฐบาล “ยอมถอย” เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวาระแรก 23-24 กันยายนนี้

การเมืองลงลึกถึงรั้วมัธยม

อย่างไรก็ตาม 17 สิงหาคม ไม่ถึง 24 ชั่วโมงของ หลังการชุมนุม “ขบวนการปลดแอก” ที่ถนนราชดำเนิน ก็เกิดภาพที่ทำให้ตกตะลึงกันทั้งโซเชียลมีเดีย ทะลุมาถึงโลกออฟไลน์ ในชีวิตจริง

เมื่อนักเรียนมัธยมหลายโรงเรียนพร้อมใจ ชู 3 นิ้ว ขณะยืนร้องเพลงชาติหน้าเสาธง และผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ ในเวลา 08.00 น.ทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากครู – อาจารย์ หรือ คนที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ มีทั้งเห็นด้วย – ไม่เห็นด้วย กับการกระทำของนักเรียน

กระแสในวันนั้นทำให้ “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ออกหนังสือให้โรงเรียนเปิดพื้นที่ให้ “นักเรียน” ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเสรีได้

ตามมาด้วย “ครูตั้น” ต้องเปิดเวทีดีเบตกับกลุ่ม “นักเรียนเลว” 2 ครั้ง 2 ครา เพื่อรับฟังความคับแค้นของกลุ่มนักเรียน ทั้งประเด็นหลักสูตรไม่ทันสมัย ไม่ทันโลก เผด็จการในรั้วโรงเรียน ทรงผมนักเรียนหญิง ฯลฯ
กล่าวได้ว่าการเมืองได้ลงลึกถึงระดับมัธยม

“นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “คนเดือนตุลา” เปรียบเทียบการกระแสธารประชาธิปไตยในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในยุคปัจจุบันเหมือนยุคเขา ยุคคนเดือนตุลา ที่การต่อต้านเผด็จการลงลึกไปถึงรั้วโรงเรียนมัธยม

ไม่ใช่แค่ตื่นตัวแค่ในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น และเชื่อว่าการชุมนุมของนักศึกษา จะมาบรรจบกับความเดือดร้อนของประชาชน กลายเป็นจุดแตกหักให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องโบกมือลาในช่วงธันวาคมนี้