ม็อบแฮมทาโร่ : นักศึกษา-นักเรียนจุดเปลี่ยน-จุดจบ จากไล่ทักษิณถึงไม่เอาประยุทธ์

แฟลชม็อบนักศึกษาภาค 2 กลับมาปะทุอีกครั้งหลังจากโควิด – 19 คลี่คลาย

ผ่านข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หนึ่ง ยุบสภา สอง แก้รัฐธรรมนูญ สาม หยุดคุกคามประชาชน

เป็นเชื้อไฟที่ต่อเนื่องมาจากแฟลชม็อบรอบแรกที่มีชนวนเหตุสำคัญจากการ “ยุบพรรคอนาคตใหม่” เหมือนครั้งแรก

แต่มาจากเอฟเฟกต์ข้างเคียงช่วงที่รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปราบเชื้อไวรัสโควิด – 19 เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม – social distancing

ส่งผลมาถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งใช้เหตุผลเรื่อง social distancing มาเป็นเครื่องมือจัดการควบคุมการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา อย่างน้อย 2 เหตุการณ์ ก่อนหน้านี้

เคสที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2563 แกนนำ สนท. นัดเคลื่อนไหว “อารยะขัดขืน” หน้า สน.ปทุมวัน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ภายหลังจัดกิจกรรม “ทวงความยุติธรรมให้กับผู้ถูกอุ้มหาย” โดยในกิจกรรม “อารยะขัดขืน” แกนนำ สนท.นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ได้ “ฉีกหมายเรียก” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อหน้าสื่อมวลชน

เป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกบุคคลนิรนามจับตัวไปที่ประเทศกัมพูชา เมื่อ 5 มิถุนายน สนท.จึงนัดรวมตัวที่หน้าหอศิลป์ กทม.ก่อนถูกหมายเรียก

ขณะที่อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 อันเป็นวันครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในวันดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมมากมาย

และในเย็นวันนั้น สนท. นำโดย ‘เพนกวิน’ กับกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth ได้ทำกิจกรรมรำลึก 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน และอ่านประกาศคณะราษฎร พร้อมย้ำถ้อยคำในประกาศคณะราษฎร ที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร”

สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกเป็นใบที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย”

ประจวบเหมาะกับประเด็น ที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง “วรยุทธ อยู่วิทยา” หรือบอส ทายาทกระทิงแดง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ถอนหมายจับ กรณีขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิต

ที่แม้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง เป็นเรื่องของระบบกระบวนการยุติธรรม แต่ก็สามารถลุกลาม ขยายวงเป็นการเขย่ารัฐบาลไปในคราวเดียวกัน หนำซ้ำรัฐบาลยังเจอภาวะการเมืองที่ยังไม่นิ่ง – เศรษฐกิจติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน – นักศึกษา ที่เคลื่อนไหวมากที่สุดนับแต่เหตุการณ์พฤษภาปี 2535 จะกลายเป็นปัจจัยทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถึงทางตันหรือไม่

Twitter ช่องทางขับเคลื่อนแฟลชม็อบ

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิต นักศึกษา เยาวชนรุ่นใหม่ ในยุคดิจิทัล 2020 ต่างไปจากม็อบการเมืองในช่วงทศวรรษหลัง ทั้งม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และม็อบ กปปส.

เพราะแฟลชม็อบของ นิสิต นักศึกษา ไม่จำเป็นต้องใช้สื่อทีวี สื่อดาวเทียม มาเป็นเครื่องมือ “เรียกมวลชน” แต่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เป็นการนัดหมายรวมพล เครื่องมือหลักที่ใช้คือ twitter และเครื่องมือหลักที่ใช้ถ่ายทอดสดคือ facebook live ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เป็นอาวุธถ่ายทอดสด เห็นเหตุการณ์กันแบบเรียลไทม์

แต่สิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของม็อบเยาวชน ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคง งงเป็นไก่ตาแตก ด้วยการหยิบฉวยตัวการ์ตูน “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” มาเป็นแคมเปญเคลื่อนไหวต้านรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” จนสำนักข่าวเอาสีสันไปรายงานเป็นข่าว และเพจดังหลายเพจก็มาเฉลยว่าทำไมต้องเป็นเพลงการ์ตูน “แฮมทาโร่”

เนื้อเพลง “แฮมทาโร”” ประจำม็อบวัยรุ่น ถูกดัดแปลง แต่งไว้สำหรับการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ในแคมเปญ “วิ่งกันนะแฮมทาโร่”

แต่เพลงนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกๆ ในการชุมนุมที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม โดยเนื้อเพลงตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า

เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่

ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่

ของอร่อยที่สุดก็คือ…ภาษีประชาชน (ยุบสภา!!!)

ได้เวลาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่

นวัตกรรมเพลงในม็อบ

ขณะที่นวัตกรรมเพลงประจำม็อบ มีตั้งแต่ยุคขับไล่ “ทักษิณ ชินวัตร” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยช่วงแรก เพลงหนึ่งที่ฮิตติดหูคนชุมนุม คือเพลงไอ้หน้าเหลี่ยม ที่ระบุท่อนฮุกตอนหนึ่งว่า

“สี่เหลี่ยมก็มีสี่ด้าน ไอ้คนหน้าด้าน คือไอ้หน้าเหลี่ยม ไอ้ลิ่วล้อสิงคโปร์โตก มันจะตกนรก กะลาหัวไม่เจียม”

ทั้งนี้ การชุมนุมเริ่มตั้งแต่ปี 2549 อันมาจากกระแสไม่พอใจจากการที่ “ครอบครัวชินวัตร” ขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็ก จนเกิดกระแสแนวคิดขอนายกฯ พระราชทาน โดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7

กลุ่มพันธมิตรฯ พัฒนาจากการเคลื่อนไหวของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า่ ก่อนจะเกิดเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 10 กุมพาพันธ์ 2549

ปักหลักล้อมทำเนียบรัฐบาล จน “ทักษิณ” ตัดสินใจยุบสภา ให้มีเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ก่อนจะดาวกระจายไปสถานที่สำคัญๆ อย่าง หน้าห้างสรรพสินค้าพารากอน พักค้างแรมกันใจกลางเขตเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก และดาวกระจายไปสถานที่สำคัญอีกหลายครั้ง

กลายเป็น “หัวเชื้อ” สำคัญที่ทำให้ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ผบ.ทบ.นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

 ASTV หัวจักรล้มเครือข่ายทักษิณ

ซึ่งการเคลื่อนไหของกลุ่มพันธมิตรฯ ชวงแรก ใช้สื่อดาวเทียม ช่อง ASTV และถ่ายทอดผ่านเว็บไซต์เป็นหลัก ในการดึงมวลชน ถือว่าเป็นปฐมบทการใช้สื่อในการขับเคลื่อนมวลชนให้กลุ่ม นปช.และ กลุม กปปส.ในเวลาต่อมา

ครั้นมาถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รอบสอง ที่ไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เริ่มจากการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพรรคพลังประชาชัน ซึ่งเป็นพรรคภาคต่อของไทยรักไทย ในเดือนพฤษภาคม 2551

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมยืดเยื้อ 193 วัน ไฮไลท์คือการยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์บัญชาการม็อบ

เริ่มจากประเด็นค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องด้วยปมขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จนทำให้ “นพดล ปัทมะ” รมว.ต่างประเทศต้องลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่านายสมัคร จะพ้นตำแหน่งนายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” แต่ก็ไม่ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม

เมื่อมาถึงรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กลุ่มพันธมิตรฯ รุกคืบอีกครั้ง จากยึดทำเนียบฯ ไปเป็นยึดสนามบินทั้งดอนเมือง และสุวรรณภูมิ และสถานที่ราชการต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของยุค “ม็อบดาวกระจาย” เครื่องมือสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ คือทีวีดาวเทียม เหมือนภาคแรก

กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน เพราะกรรมการบริหารพรรค (ยงยุทธ ติยะไพรัช) โดนใบแดง เหตุทุจริตเลือกตั้ง ทำให้ม็อบพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล ในปลายปี 2551

อีกหนึ่งเครื่องมือที่กลุ่มพันธมิตรใช้ขับไล่ 3 รัฐบาลเครือข่ายทักษิณ การใช้ “มือตบ” เป็นอุปกรณ์ประกอบการปราศรัยนำมาสู่การเรียกว่า “ม็อบมือตบ”

 “ตีนตบ” เสื้อแดง รุกพื้นที่ ปชป.

มาถึงม็อบเสื้อแดง หรือ นปช. ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ 2 ครั้ง เพื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งแกนนำ นปช.ยกเหตุผลเรื่องการ “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” มาเป็น ธีมในการล้มรัฐบาล ซึ่ง นปช.อ้างว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

และหยิบเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุง กับ คนชนบท มาเป็นเงื่อนไขชุมนุมและเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ก็มีการแต่งเพลงประกอบการชุมนุม เช่น เพลง “รักคนเสื้อแดง”

พร้อมกับนำสัญลักษณ์ “ตีนตบ” มาทำสงครามเชิงสัญลักษณ์ตอบโต้กับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มี “มือตบ” และถูกเรียกว่า “ม็อบตีนตบ”

การชุมนุมของ นปช.ทั้งปี 2552 และปี 2553 นำมาสู่บทสรุปเดียวกันคือ “การกระชับพื้นที่” หรือ “ขอคืนพื้นที่” สลายการชุมนุม ทำให้มีคนเสียชีวิต และบาดเจ็บ ทุกฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุม ทหาร และตำรวจที่ถูกส่งมาควบคุมสถานการณ์

เครื่องมือที่ใช้ควบคุมม็อบ ไม่ต่างจากกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” ไปปิดล้อมสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ทั้งยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ใช้ทีวีดาวเทียมของ นปช.เป็นการระดมพล ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัด มีการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนของกลุ่ม นปช.หลายแห่ง

หลังการชุมนุมสิ้นสุดลง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดเพื่อปฏิรูปประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำ โดยมี “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกฯ และ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน พร้อมกับตั้ง “คณิต ณ นคร” ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการค้นหาความจริงจากการสลายการชุมนุม ภายใต้ชื่อว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ซึ่ง “อภิสิทธิ์” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯ ผู้จัดการรัฐบาล นั่งรถไปถึงบ้านของ “คณิต” เพื่อขอให้มารับตำแหน่งประธาน

ม็อบนกหวีด กปปส.เป่าไล่ “ยิ่งลักษณ์”

และ “มรดก” การเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ นปช. ก็ถูกถ่ายทอดมาถึงยุค กปปส. ม็อบลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยในปี 2554 โดยมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี “สุเทพ” เป็นเลขาธิการพรรค ก็ผุดความคิด รบ – รุก ในและนอกสภาฯ มีการตั้งสถานีทีวีดาวเทียมขึ้นมาชื่อว่า blue sky ถ่ายทอดผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นช่องให้แกนนำสำคัญของพรรคจัดรายการวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล เฉกเช่น ทีวีของกลุ่ม นปช.

เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องจนแต้มให้กับ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอนตี 4 ครึ่ง ท่ามกลางกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับ “ทักษิณ”

วันต่อมา สุเทพ และแกนนำ กปปส. ก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ขับเคลื่อนม็อบข้างถนนเต็มตัว กลยุทธ์ดาวกระจาย แบบเดียวกับกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. มีการประกาศชัตดาวน์ กทม. 7 จุด โยงสัญญาณของทีวี blue sky เชื่อมโยงการถ่ายทอดสดทั้ง 7 จุด เพื่อตรึงมวลมหาประชาชนไว้ที่ขอบเวที

และยังใช้ “ธงชาติ” และ “นกหวีด” เป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมประท้วง โดยเรียกขานว่า “ม็อบนกหวีด” และใช้เพลงประกอบการประท้วง เช่น “สู้ไม่ถอย” ที่มีเนื้อร้องว่า

“สู้เข้าไป อย่าได้ถอย มวลชนคอย เอาใจช่วยอยู่ รวมพลัง ทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้ เพื่อความยุติธรรม”

แต่การชุมนุมทั้งของ พันธมิตรฯ นปช.มาถึง กปปส. ไม่มีม็อบใดที่มีเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ทรงพลานุภาพ เท่าแฟลชม็อบในปัจจุบัน

เพียงแต่การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาถูกขนานนามว่าเป็น “พลังบริสุทธิ์” ยังเป็นแค่แฟลชม็อบ หวังเปลี่ยนสังคม การเมืองให้ดีขึ้น

มากกว่าจะเป็น “ม็อบการเมือง” มุ่งเน้นทำสงครามแตกหัก เพื่อชิงอำนาจมาไว้กับกลุ่มตนเองเพียงอย่างเดียว